พระหลวงพ่อโต บางกระทิง สุดยอดพระคงกระพันชาตรีมหาอุด
พระเครื่อง ที่มีองค์พระขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนมากมักจะเรียกกันว่า พระหลวงพ่อโต และที่รู้จักกันดี ก็คือ พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระเนื้อดินเผา มีทั้งชนิดเนื้อละเอียดและเนื้อค่อนข้างหยาบ รวมทั้งมีพระเนื้อชินปะปนอย
นอกจากกรุวัดบางกระทิงแล้ว พระหลวงพ่อโตยังพบตามกรุวัดต่างๆ ทั้งใน จ.พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งบางวัดในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพระที่นำมาฝากกรุในภายหลัง
พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง เป็นพระที่มีจำนวนสร้างมาก คาดว่าน่าจะเท่ากับ พระธรรมขันธ์ คือ ๘๔,๐๐๐ องค์ หรือมากกว่านั้น ทำให้พบเห็นโดยทั่วไป ในส่วนพระเนื้อดิน นับเป็นเนื้อดินที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองอยุธยาโดยเฉพาะ ราคาเช่าหาไม่แพงนัก แต่ที่สวยคมชัดมากๆ อาจจะมีราคาที่สูงกว่าพระทั่วๆ ไป
พุทธศิลป์ เป็นฝีมือของช่างสมัยอยุธยา อายุกว่า ๔๐๐ ปี
ชาวอยุธยารุ่นเก่าๆ เล่าว่า สมัยก่อนบริเวณวัดบางกระทิง มักพบพระหลวงพ่อโตตกหล่นอยู่ตามพื้นดินตามลานวัดโดยทั่วไป คนสมัยก่อนไม่นิยมนำพระเข้าบ้าน เมื่อนำพระมาใช้ติดตัวยามไปไหนมาไหน หรือนำออกสู้รบในสงครามเสร็จแล้ว ก็มักจะนำพระกลับมาเก็บไว้ที่วัดเหมือนเดิม
สำหรับการแตกกรุของ พระหลวงพ่อโต นั้น ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ที่ทางวัดเปิดกรุอย่างเป็นการ คือในปี ๒๔๘๑ ขณะรื้อโบสถ์เก่าเพื่อสร้างใหม่ จึงได้พบพระหลวงพ่อโต บรรจุอยู่ใต้ฐานพระประธาน ทางวัดจึงได้นำพระส่วนหนึ่งออกมาแจกสมนาคุณแก่ชาวบ้าน ที่ร่วมทำบุญสร้างโบสถ์หลังใหม่ ส่วนพระที่เหลือได้นำบรรจุที่ฐานพระประธานในโบสถ์หลังใหม่
ในการพบกรุพระหลวงพ่อโต ครั้งนั้นได้พบ แม่พิมพ์ ของพระหลวงพ่อโตด้วย ต่อมาได้มีคนร้ายแอบขุดพระหลวงพ่อโต ที่ใต้ฐานพระประธานได้ไปจำนวนหนึ่ง พร้อมกับเอาแม่พิมพ์เก่าไปด้วย ทางวัดจึงได้เปิดกรุพระอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้คนร้ายแอบลักขุดขโมยพระได้อีก
การขุดกรุครั้งนี้ ได้พบ พระหลวงพ่อโต อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่ขุดได้ในครั้งก่อน ทางวัดได้ให้กรมศิลปากร ตรวจสอบ ปรากฏว่า พระหลวงพ่อโต ในส่วนนี้เป็นการสร้างขึ้นภายหลัง ในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเนื้อหามวลสารแตกต่างกัน และอายุความเก่าไม่ถึงสมัยอยุธยา ไม่เหมือนกับพระหลวงพ่อโตที่ขุดพบก่อนหน้านี้
พระหลวงพ่อโต มีสัณฐานเป็นรูปสามเหลี่ยม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีทั้งปางสมาธิ และ ปางมารวิชัย องค์พระคมชัดนูนเด่น พระพักตร์ใหญ่ และมักปรากฏรายละเอียดต่างๆ บนพระพักตร์อย่างครบถ้วน รวมทั้งเส้นสังฆาฏิ ด้านหลังองค์พระ ส่วนใหญ่มีรอยปาด ที่เรียกกันว่า "รอยกาบหมาก"
พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง มีของปลอมมานานแล้ว ทั้งที่ถอดพิมพ์ หรือสร้างแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งส่วนหนึ่งที่คนร้ายได้ขโมยแม่พิมพ์เก่าไป ได้เอาไปกดพิมพ์พระกันใหม่ ก็เป็นอีกฝีมือหนึ่งที่คนร้ายได้ทำ พระปลอม วางขายกันมาโดยตลอด
การพิจารณาจากพิมพ์ทรงองค์พระ จึงอาจจะมีปัญหา เพราะ พระปลอม ส่วนหนึ่งมักจะมีจุดตำหนิเหมือนกับ พระแท้ มาก สิ่งที่ต้องยึดเป็นหลักในการพิจารณา คือ เนื้อพระ ที่ไม่สามารถทำได้เหมือน โดยเฉพาะ ความเก่า ที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ ซึ่งย่อมแตกต่างกับ ความเก่าที่แปลกปลอม อันเกิดมาจากการเร่งทำปฏิกิริยาด้วยน้ำยาทางเคมี หรือการเผาไปที่เป็นไปอย่างเร่งรีบ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาท หรือถามผู้รู้ไว้ก่อน ก็ย่อมจะปลอดภัยจาก พระปลอม ได้ในระดับหนึ่ง
พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง เป็นพระที่ชายชาตรีสมัยก่อน หรือนักเลงโบราณ นิยมกันแขวนโชว์นอกเสื้อมานานแล้ว ด้วยความเชื่อมั่นในพุทธคุณ ที่เลื่องลือกันมานานแล้วว่า เป็นพระคงกระพันชาตรี มหาอุด ปืนผาหน้าไม้ทำอะไรไม่ได้เลย ขณะเดียวกัน คนสมัยใหม่ต่างยืนยันว่า ทางด้านเมตตามหานิยมก็เป็นเลิศ
ที่สำคัญ คือ พระหลวงพ่อโต ที่เป็นของเก่า สร้างในสมัยอยุธยา เป็นพระเนื้อดินเผาที่ยึดเป็น เนื้อครู สำหรับการศึกษาพระเนื้อดินสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี
"บุญนำพา"