
แห่ชมพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ
อุตรดิตถ์สร้างพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ ชาวบ้านเชื่อขอพรให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าที่วัดน้ำริดเหนือ ตำบลน้ำริด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ มี พระพุทธรูปลักษณะพิสดารไม่เหมือนกับพระพุทธรูป ตามวัดต่างๆ สร้างความประหลาดใจต่อผู้พบเห็นและในแต่ละวันมีชาวบ้านทั้งในและต่างพื้นที่ เดินทางมากราบไหว้อย่างต่อเนื่อง จึงเข้าไปตรวจสอบพบประชาชน พุทธศาสนิกชนชาย-หญิงจำนวนหนึ่งสวมเสื้อสีขาวจัดเตรียมอาหารคาว หวาน เพื่อถวายภัตตาหารพระสงฆ์ 5 รูปภายในหอสวดมนต์ ของวัดดังกล่าว ภายในหอสวดมนต์ มีพระพุทธรูปลักษณะแปลกตา เป็นพระประธาน ไม่เหมือนวัดหรือสำนักสงฆ์อื่นๆ คือ พระพุทธรูปสูงประมาณ 2 เมตร อยู่ในท่านั่งเข่าขวาตั้งชัน ไว้ผมมวย มีใบหน้าเต็มไปด้วยความโอบอ้อมอารี ที่หน้าตักมีรูปปั้นคล้ายพระสงฆ์นอนอาพาธอยู่ โดยแขนขวาประคองพระสงฆ์ ส่วนมือซ้ายประสานมือของพระสงฆ์รูปดังกล่าว พระพักตร์เพ่งมองยังพระสงฆ์ด้วยความเมตตา
พระอธิการจรัญ สันตมโน เจ้าอาวาสวัดน้ำริดเหนือ กล่าวว่า พระพุทธรูปที่มีลักษณะแปลกตานี้เรียกว่า “พระพุทธรูปปางพยาบาล” เป็นพระพุทธรูป 1 ใน 80 ปางตามพุทธประวัติ แต่วัดส่วนใหญ่ไม่สร้างขึ้น ญาติโยมที่พบเห็นจึงคิดว่าเป็นความแปลกประหลาด สืบเนื่องมาจากเมื่อ 46 ปีที่ผ่านมา นายประสิทธิ์ เอี่ยมงิ้วงาม ปัจจุบันคือมัคนายกของวัด ช่วงบวชเรียน ได้ล้มป่วยขณะเดินทางอบรมธรรม ที่สำนักสงฆ์จิตตภาวัน ปัจจุบันเป็นจิตตภาวันมหาวิทยาลัย จังหวัดชลบุรีและที่สำนักสงฆ์จิตตภาวัน มีพระพุทธรูปปางพยาบาล จึงได้ตั้งจิตอธิฐานขอให้ตัวเองหายจากอาการป่วย และคำขอก็เป็นจริง ปี 2514 นายประสิทธิ์ ซึ่งมีความรู้และชำนาญด้านงานช่าง การปั้นต่างๆ จึงได้ลงมือสร้างพระพุทธรูปปางพยาบาล ขึ้นอีก 1 องค์ ด้วยความตั้งใจจะนำไปมอบให้กับโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้
“ใช้เวลาเพียง 4 วันสร้างเสร็จ จากนั้นได้ระดมกำลังคนเพื่อยกพระพุทธรูปปางพยาบาลไปที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ แต่ไม่สามารถยกขึ้นได้ ตลอด 43 ปีพระพุทธรูปปางพยาบาลจึงประดิษฐานที่หอสวดมนต์ของวัดน้ำริดเหนือ โดยโยมประสิทธิ์ หลังหายป่วย ได้สึก แต่ก็ยังขออยู่ที่วัด เพื่อดูแลพัฒนาวัดน้ำริดเหนือมาจนถึงปัจจุบันอายุ 68 ปียังสุขภาพแข็งแรง"เจ้าอาวาสวัดน้ำริดเหนือกล่าว
พระอธิการจรัญ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วก่อนจะบวชเรียน สมัยยังวัยรุ่นถูกรถชนทำให้ขาข้างขวาหัก 4ท่อน ตั้งแต่ช่วงหน้าแข้งจนถึงสะโพก เดินไม่ได้ โยมพ่อโยมแม่ พารักษาตัวถึงกรุงเทพฯ ต่างสิ้นหวัง สุดท้ายมาบวชเรียนวัดน้ำริดเหนือ ตนพบกับพระพุทธรูปปางพยาบาล จึงขอพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากหายจะรับใช้และพัฒนาวัดแห่งนี้ ปัจจุบันตนเดินได้เหมือนคนปกติ ไม่ต้องไปหาหมออีกเลย จากนั้นขอบวชเรียนอยู่ที่วัด แม้จะเป็นเจ้าอาวาสวัดแล้ว ก็ไม่ลืมกิจของสงฆ์ และพัฒนาวัด ให้ญาติโยมเข้าวัดแล้วเกิดความสุขกายสบายใจ บริเวณสะอาด ร่มเย็น ต้อนรับคนทุกเชื่อชาติศาสนา นอกจากที่หอสวดมนต์จะมีพระพุทธรูปปางพยาบาลแล้ว บริเวณวัดโยมประสิทธิ์ ยังปั้นพระพิฆเนตร พระสังขจาย และพระพุทธรูปปางอื่นๆ ให้ได้สักการบูชาอีกด้วย
“ทุกวันนี้มีชาวบ้านจากต่างถิ่นทราบข่าว จึงเดินทางมากราบไหว้ขอพรให้หายจากโรคร้ายอยู่ตลอด เมื่อหายแล้วจะนำพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดหรือผ้าไตรจีวรมาถวายเป็นพุทธบูชา เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่อยากให้หลงงมงาย จะทำอะไรก็แล้วแต่ หากมีจิตใจแน่วแน่และกำลังใจดี จิตใจและกำลังใจที่เข้มแข็งนั้น จะเป็นส่วนช่วยทำให้อาการเจ็บไข้ได้ป่วยหายไวขึ้น”เจ้าอาวาสกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังถวายภัตตาหาร นายประสิทธิ์ เอี่ยมงิ้วงาม อายุ 68 ปี มัคทายกวัด ได้ให้คำแนะนำและจัดให้ประชาชนเข้ากราบไหว้พระพุทธรูปดังกล่าว ซึ่งต้องสวมเสื้อสีขาว ส่วนใหญ่นำพระพุทธรูปประจำวันและจีวร มากราบไหว้พระประธานปางพยาบาลหรือพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ โดยตั้งจิตอธิฐานและขอพรให้หายจากโรคร้าย อาทิ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตและโรคทั่วไปที่ชาวบ้านเป็น เมื่อหายแล้วก็จะนำเอาพระประจำวันเกิด ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้ว 5 นิ้ว 3 นิ้ว หรือผ้าไตรจีวรพระ หรือทั้ง 2 อย่างมาถวายให้กับพระประธานปางพยาบาลที่บริเวณหน้าโต๊ะหมู่บูชาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องด้วยมีชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดใกล้เคียงที่เคยป่วยเป็นโรคร้าย เมื่อได้กราบไหว้และขอพรแล้วหาย หลายคนต่างเชื่อว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปางพยาบาลช่วยรักษาให้โรคร้ายหายขาดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงพยาบาลสงฆ์ กทม.ก็มีการแสกนด์พระพุทธรูปปางพยาบาลติดที่ไว้ที่หน้าลิฟต์เพื่อเป็นการเตือนสติว่าพระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาพระภิกษุที่อาพาธ และวัดหลายแห่งก็มีการสร้างพระพุทธรูปบางนี้ ซึ่งพระไตรปิฎกฉบับประชาชนได้ระบุไว้ว่า
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธด้วยโรคท้องเสีย เธอนอนจนปัสสาวะ อุจจาระของตนอยู่. ขณะนั้นพระผู้มีพระภาค มีท่านพระอานนท์ตามเสด็จ เที่ยวตรวจเสนาสนะไปยังที่อยู่ของภิกษุนั้น ทอดพระเนตรเห็นเธอนอนจมปัสสาวะ อุจจาระของตนอยู่ จึงเสด็จเข้าไปหา ตรัสถามว่า "ดูก่อนภิกษุ เธออาพาธด้วยโรคอะไร?"
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า "โรคท้องเสีย พระเจ้าข้า"
"ภิกษุผู้พยาบาลเธอไม่มีหรือ?"
"ไม่มี, พระเจ้าข้า"
"เพราะเหตุไรเล่า ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลเธอ?"
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทำประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย. เพราะเหตุนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลข้าพระองค์."
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกพระอานนท์มาสั่งว่า "ดูก่อนอานนท์ เธอจงไปนำน้ำมา เรา๑จะอาบน้ำให้ภิกษุนี้."
พระอานนท์รับพระพุทธดำรัสแล้ว จึงไปนำน้ำมา.
พระผู้มีพระภาคทรงรดน้ำ พระอานนท์ทำความสะอาด. พระผู้มีพระภาคทรงจับทางศีรษะ พระอานนท์ยกทางเท้าให้ภิกษุนั้นนอนบนเตียง.
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงเรียกประชุมภิษุทั้งหลาย เพราะเหตุการณ์นั้น ตรัสถามว่า "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย มีภิกษุไข้อยู่ในวิหารโน้นมิใช่หรือ? "
"มี พระเจ้าข้า"
"เธออาพาธด้วยโรคอะไร ?"
ด้วยโรคท้องเสีย พระเจ้าข้า."
"มีใครพยาบาลภิกษุนั้นหรือเปล่า ?"
"ไม่มี พระเจ้าข้า"
"ทำไมเล่า ภิกษุทั้งหลายจึงไม่พยาบาลภิกษุนั้น."
"ภิกษุทั้งหลายไม่พยาบาลเธอ เพราะเธอไม่ทำประโยชน์แก่ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าข้า"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาผู้จะพึงพยาบาลพวกเธอก็ไม่มี. ถ้าเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพยาบาลเรา ก็พึงพยาบาลภิกษุไข้เถิด. ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย. ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย. ถ้ามีสัทธิวิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย. ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย. ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย. ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลเธอตลอดชีวิตจนกว่าจะหาย. ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ผู้ร่วมอุปชฌายะ หรือผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์พึงพยาบาลเธอ. ถ้าไม่พยาบาลต้องอาบัติทุกกฏ2."
วินัยปิฎก 5/226
ทั้งนี้ดร.อำนาจ บัวศิริ รองเลขาธิการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เคยกล่าวไว้ว่า จากการที่วัดขนอนเหนือ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้มีการปั้นพระพุทธรูปปาง พยาบาลภิกษุอาพาธ จนเป็นที่ฮือฮาของนักท่องเที่ยวนั้น พุทธศาสนิกชนชาวไทย นิยมที่จะสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามพุทธประวัติ ซึ่งพระพุทธจริยาปางพยาบาลภิกษุอาพาธ ก็น่าจะสร้างมาจากพุทธประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งสมัยพุทธกาลที่พระองค์เสด็จเยี่ยมพระภิกษุที่อาพาธเสมอ ทั้งนี้ ปางพระพุทธรูปดังกล่าวอาจจะไม่ค่อยมีใครสร้างขึ้น จึงทำให้รู้สึกแปลกตา ทั้งที่จริงแล้ว สร้างมาจากพุทธประวัติทั้งสิ้น ส่วนรูปแบบการสร้างปางพระพุทธรูปนั้น จะแตกต่างกันออกไปตามจินตนาการของผู้สร้างและกำลังศรัทธาของประชาชน เช่น พระพุทธรูปยืนบางองค์ก็สูงชะลูดไม่ได้สัดส่วน เป็นต้น ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร เพราะสร้างจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
“หากมองแล้วว่า พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ ไม่มีลักษณะที่น่าเกลียด และเป็นที่ศรัทธาของประชาชนก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้ามีพุทธลักษณะที่ไม่เหมาะสมออกไปในแนวอุบาทว์ ก็จะต้องให้ทางเจ้าคณะจังหวัดเข้าไปดูแลอย่างไรตาม มหาเถรสมาคม ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดสร้างพระพุทธรูปไว้ว่า การจะสร้างพระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะแปลกๆ ต้องขออนุญาตจากมหาเถรสมาคม หรือเจ้าคณะจังหวัดผู้ปกครองถึงความเหมาะสมก่อน หากวัดไหนสร้างพระพุทธรูปปางพิสดาร โดยไม่ขออนุญาต ก็จะต้องให้ทางเจ้าคณะผู้ปกครองดำเนินการตักเตือน”ดร.อำนาจ กล่าว
นายแก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ จะต้องเป็นปางที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติโดยตรง คือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามพุทธประวัติ เช่น ปางไสยาสน์ ปางมารวิชัย ปางลีลา เป็นต้น ซึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ให้การยอมรับปางพระพุทธรูปทั้งหมด 70 กว่าปางเท่านั้น แต่สำหรับในฝ่ายมหายาน อาจจะมีการสร้างปางพระพุทธรูปที่แตกต่างออกไปบ้างตามคติความเชื่อของแต่ละนิกาย แต่มีบางกรณีที่มีศิลปินบางคน อาจทำการสร้างพระพุทธรูปปางที่แตกต่างออกไปจากแบบที่เป็นทางการ เพื่อความสวยงามทางศิลปะ ตรงนี้ก็สามารถทำได้ แต่ต้องให้มีความเหมาะสมต่อสมณสารูปแห่งพระพุทธรูป คือ มีความสำรวมและงดงามตามหลักทางพระพุทธศาสนา