บวชภิกษุณีครั้งแรกที่เกาะยอ
บวชภิกษุณีครั้งแรกที่เกาะยอ : วิปัสสนาบนหน้าข่าว พระวรธรรม เรื่อง / สุรีย์พร ยุติธรรม ภาพ
เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ มีงานอุปสมบทภิกษุณีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เกาะยอ จ.สงขลา พร้อมด้วยการบรรพชาสามเณรีอีก ๔๗ รูป ตามโครงการบรรพชาสามเณรีของ 'ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม'
หากนับตามประวัติศาสตร์แล้วนี่ไม่ใช่การบวชภิกษุณีที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย หากแต่ครั้งแรกนั้นเคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี ๒๔๗๐ โดยลูกสาวสองคนของ นายนรินทร์ ภาษิต คือ จงดี วัย ๑๓ ปี และ สาระ วัย ๑๘ ปี ได้บวชเป็นสามเณรี หลังจากนั้นสองปีสามเณรีสาระอายุครบ ๒๐ ปี ได้บวชเป็นภิกษุณีในกาลต่อมา นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ๘๖ ปีมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการบวชภิกษุณีที่เกาะยอ ก็มิใช่การบวชภิกษุณีครั้งที่ ๒ ในดินแดนสยามประเทศแห่งนี้ หากแต่ช่วงเวลาที่ผ่านมามีการอุปสมบทภิกษุณีเกิดขึ้นหลายวาระด้วยกัน เพียงแต่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ให้เป็นข่าวเท่านั้นเอง
งานอุปสมบทครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการบวชภิกษุณีอย่างเป็นทางการ มีการเชิญหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ทั้งภาครัฐระดับท้องถิ่นได้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอบต.) โดยมี ศุภณัฐ สิรันทวิเนติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสมาร่วมเปิดงานในฐานะตัวแทน ศอบต. รวมทั้งภาครัฐจากศูนย์กลางมีการส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งก็มีคำขอบคุณจากสำนักนายกรัฐมนตรีตอบกลับมา อีกทั้งมีการทำหนังสือขอพระราชทานพระกรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักพระราชวังก็มีจดหมายตอบกลับมาเช่นกัน นี่จึงไม่ใช่การบวชแบบเงียบๆ แต่เป็นบวชที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการทีเดียว
การอุปสมบทภิกษุณีครั้งนี้เกิดขึ้น ณ เขตพัทธสีมา ของ 'ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม' อันเป็นสำนักภิกษุณีตั้งอยู่ที่เกาะยอ จ.สงขลา มีคณะสงฆ์สองฝ่ายทั้งอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุและอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณีมาร่วมประกอบพิธีการบวชอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย
อุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุคือ พระมหาสังฆนายกมหินทวังสะ สังฆราชแห่งนิกายอมรปุระจากประเทศศรีลังกา พระกรรมวาจาจารย์ หรือพระคู่สวดได้แก่ ท่านคาลุปาหนะ ปิยรตนะ และ ท่านธลังกาเล สุธรรมะ ทั้งสองท่านมาจากศรีลังกา ในขณะที่ปวัตตินี หรืออุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณี คือ ท่านสุมิตราเถรี จากศรีลังกา ภิกษุณีกรรมวาจาจารย์ได้แก่ ท่านสุมนปาลี จากศรีลังกา ท่านสันตินี จากอินโดนีเซีย และ ท่านวิธิตาธรรม มาจากเวียดนาม มีพระภิกษุร่วมนั่งหัตถบาส ๑๓ รูป พระภิกษุณี ๑๕ รูป
การบวชเป็นพระภิกษุต้องบวชเป็นสามเณรก่อนฉันใด สุภาพสตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณีก็ต้องผ่านการบวชเป็นสามเณรีก่อนฉันนั้น สามเณรีคือหญิงผู้ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ถือศีล ๑๐ ข้อเช่นเดียวกับสามเณร เมื่อบวชเป็นสามเณรีแล้วก่อนจะบวชเป็นภิกษุณีต้องถือปฏิบัติเป็นสิกขมานาเป็นเวลา ๒ ปี สิกขมานาคือสามเณรีผู้ถือศีล ๑๐ แต่ปฏิบัติศีล ๖ ข้อแรกอย่างเคร่งครัด เมื่อปฏิบัติเป็นสิกขมานาครบ ๒ ปีแล้วและมีอายุครบ ๒๐ ปีขึ้นไปจึงจะอุปสมบทเป็นภิกษุณี
สำหรับพิธีอุปสมบทภิกษุณีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยคณะภิกษุณีสงฆ์เข้านั่งครบองค์ประชุมในเขตพัทธสีมา มีอุปัชฌาย์ฝ่ายหญิงคือปวัตตินีนั่งเป็นประธาน มีพระกรรมวาจาริณี ๓ รูปและพระภิกษุณีร่วมนั่งหัตถบาส ๑๕ รูป จากนั้นสิกขมานา ๘ รูป เข้าสู่เขตพัทธสีมา ทำความเคารพปวัตตินีแล้วเริ่มกระบวนการสอบถามอันตรายิกธรรม ๒๔ ข้อโดยมีพระกรรมวาจาริณีเป็นผู้สอบถาม
“อันตรายิกธรรม” คือคุณสมบัติของผู้ที่จะบวชภิกษุณีมี ๒๔ ข้อ (พระภิกษุมี ๑๓ ข้อ) การสอบถามอันตรายิกธรรมของภิกษุณีเป็นที่มาที่ทำให้เกิดการอุปสมบทในสงฆ์สองฝ่ายขึ้น กล่าวคือ ในยุคแรกของการบวชภิกษุณีนั้นพระพุทธเจ้ามอบภาระการบวชภิกษุณีให้คณะภิกษุสงฆ์เป็นฝ่ายจัดการทั้งหมด แม้การสอบถามอันตรายิกธรรมก็ดำเนินการโดยภิกษุ เมื่อภิกษุเป็นฝ่ายสอบถามอันตรายิกธรรมกับนางสิกขมานาจึงเกิดความขลุกขลัก เพราะคำถามประกอบไปด้วยเรื่องอวัยวะเพศและรอบเดือนของสตรี เช่นถามว่า ท่านมีรอบเดือนหรือไม่ ท่านมีอวัยวะเพศสมบูรณ์แบบผู้หญิงหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้นางสิกขมานารู้สึกเขินอายที่จะตอบเพราะผู้ถามเป็นบุรุษเพศ
ในที่สุดพระพุทธเจ้าจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการให้คณะภิกษุณีสงฆ์เข้ามามีส่วนในการสอบถามอันตรายิกธรรมด้วยการจัดให้มีปวัตตินีเป็นอุปัชฌาย์ฝ่ายหญิง และมีกรรมวาจาริณีฝ่ายหญิงเพื่อสอบถามอันตรายิกธรรมกับนางสิกขมานาโดยตรง เมื่อผู้หญิงถามผู้หญิงด้วยกันเองก็เกิดความสะดวกใจไม่ต้องเขินอาย สาเหตุที่การบวชภิกษุณีต้องบวชกับสงฆ์สองฝ่ายจึงมีด้วยประการฉะนี้
สำหรับการบวชภิกษุณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อกรรมวาจาริณีสอบถามอันตรายิกธรรมจำนวน ๒๔ ข้อกับนางสิกขมานาเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ปิดท้ายด้วยการสวดญัตติจตุตถกรรมโดยมีคณะภิกษุณีสงฆ์จำนวน ๑๕ รูปเป็นสักขีพยาน
“ญัตติจตุตถกรรม” คือการสวดคู่โดยพระภิกษุหรือภิกษุณีที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หรือพระกรรมวาจาริณี (หรือที่เรียกว่าพระคู่สวด) เพื่อสวดขอมติยินยอมให้ผู้ขอบวชที่อยู่เบื้องหน้าสงฆ์ได้มีสถานะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีตามคำขอบวช หลังจากที่กรรมวาจาริณีสวดญัตติจตุตถกรรมจบ ถือว่าสิกขมานาทั้ง ๘ รูปสำเร็จเป็นพระภิกษุณีเป็นลำดับแรกแต่ยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากต้องได้รับการสวดญัตติจตุตถกรรมจากฝ่ายภิกษุเป็นลำดับถัดมา
ดังนั้นจากนี้ไปจึงเป็นวาระของคณะพระภิกษุสงฆ์เข้าสู่เขตพัทธสีมา โดยคณะภิกษุนั่งฝั่งตรงข้ามกับคณะภิกษุณี มีพระอุปัชฌาย์นั่งเป็นประธานตรงกลางพร้อมด้วยพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อนั้นภิกษุณีทั้ง ๘ รูปผู้ผ่านการบวชจากคณะภิกษุณีสงฆ์เข้าทำความเคารพพระอุปัชฌาย์ผู้เป็นประธาน จากนั้นพระกรรมวาจาจารย์ฝ่ายภิกษุทำการสวด “ญัตติจตุตถกรรม” ให้ภิกษุณีทั้ง ๘ เป็นลำดับ มีคณะภิกษุและภิกษุณีร่วมนั่งเป็นสักขีพยานในเขตสงฆ์
เมื่อพระกรรมวาจาจารย์ฝ่ายภิกษุสวด “ญัตติจตุตถกรรม” จบ ถือว่าภิกษุณีทั้ง ๘ รูปสำเร็จการอุปสมบทเป็นภิกษุณีอย่างสมบูรณ์ด้วยสงฆ์สองฝ่ายถูกต้องตามพระธรรมวินัย จากนั้นปิดท้ายด้วยพระอุปัชฌาย์สวดอนุศาสน์ ๑๑ ข้อให้กับนางภิกษุณีทั้ง ๘ ได้รับฟัง อนุศาสน์ ๑๑ ข้อประกอบด้วย นิสสัย ๓ คือ บิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า (ภิกษุณีไม่ต้องอยู่โคนไม้เป็นวัตรจึงเหลือเพียงนิสสัย ๓) พร้อมด้วยอกรณียกิจ ๘ ซึ่งมาจากสิกขาบทปาราชิก ๘ ข้อของภิกษุณี
ตามธรรมเนียมเมื่อเสร็จพิธี ทั้งภิกษุและภิกษุณีผู้บวชใหม่ต้องฟังอนุศาสน์จากพระอุปัชฌาย์ทันทีเพื่อภิกษุหรือภิกษุณีผู้บวชใหม่ได้ทราบว่าตนเองทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้บ้างจะได้ไม่ละเมิดสิกขาบทด้วยความไม่รู้ ทั้งหมดนี้เป็นพิธีกรรมการบวชภิกษุณีเกิดขึ้นที่เกาะยอ จ.สงขลา เป็นวาระที่ชาวพุทธพึงอนุโมทนาที่เมืองไทยมีพุทธบริษัทครบ ๔ แล้ว
สาธุ