
เมื่อปราชญ์จะเอื้อนเอ่ยวาจา
เมื่อปราชญ์จะเอื้อนเอ่ยวาจา : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา
พระราชดำรัส ของในหลวงของเรา
๑.เรื่องด่วน .. พูดให้ช้า ๆ
๒.เรื่องใหญ่ … พูดให้ชัด ๆ
๓.เรื่องเล็ก … พูดให้มีอารมณ์ขัน
๔.เรื่องไม่มั่นใจ …ทบทวนให้ดีค่อยพูด
๕.เรื่องยังไม่เกิด … อย่าพูดส่งเดช
๖.เรื่องที่ทำไม่ได้ … อย่าพูดอย่างมักง่าย
๗.เรื่องให้ร้าย … อย่าได้พูด
๘.เรื่องลำบากใจ … มุ่งที่เรื่อง ไม่มุ่งคน
๙.เรื่องสนุก … ต้องดูกาลเทศะ
๑๐.เรื่องเศร้า … อย่าได้ เจอใครก็พูด
๑๑.เรื่องคนอื่น … พูดอย่างระมัดระวัง
๑๒.เรื่องตนเอง … ตั้งใจฟังใจเราพูดอย่างไร
๑๓.เรื่องปัจจุบัน … ทำแล้วค่อยพูด
๑๔ .เรื่องอนาคต …ไว้พูดในอนาคต
อ่านครบ ๑๔ หัวข้อ ศิลปะการพูดเหล่านี้แล้ว ก็ต้องขอแสดงความยินดีแก่พี่น้องไทยทุกท่านด้วย ที่เราอยู่ใต้ร่มพระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตริย์ที่มีจิตใจเป็นโพธิสัตว์ มีบารมีธรรมสูงส่งเช่นนี้ ผมขอโอกาสอัญมาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นการเตือนสติ คนไทยเรา ที่มักจะเอาแต่พูดมากกว่าฟัง (การส่ง line หรือ chat กันผ่าน smart phone ผมก็ถือว่านั่นคือการพูดอย่างหนึ่งนะ), พูดเรื่องไร้สาระมากกว่ามีสาระ, พูดในเชิงลบ มากกว่าเชิงบวก และพวกเรา ก็มักไม่ตั้งใจฟังกันด้วยหัวใจจริงๆ สักเท่าไหร่
ไม่รู้ปรากฏการณ์เช่นนี้ มันเริ่มต้นมาจากที่ตรงไหน ทั้งๆ ที่ ธรรมชาติสร้างเรามามี ๒ หู ๑ ปาก (จำนวนหู มีมากกว่าปากถึง ๒ เท่า) และ หน้าที่ของ “หู” ก็มีเพียงหน้าที่เดียวคือ “ฟัง” ด้วย ในขณะที่หน้าที่ของ “ปาก” มีมากกว่าหนึ่ง (คือ นอกจาก “พูด” แล้วยังมี มีกิน มีดื่ม ฯลฯ ด้วย) ...แต่ก็ยังไม่วาย เรากลับไม่เลือกที่จะใช้การฟังของหู อย่างมีประสิทธิภาพแต่อย่างใด
ลองสังเกตผู้เป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิตดูสิ ... อาทิ ท่านพุทธทาสภิกขุ หากไม่จำเป็น ท่านจะเม้มปากสนิทอยู่เสมอ ไม่เอ่ยเอื้อนวาจาเลย ใครไปชวนท่านพูดคุย เรื่องวิวทิวทัศน์ สภาพลมฟ้าอากาศ ท่านอาจารย์ก็ยังคงรักษาความเงียบของท่านอยู่อย่างนั้น กระทั่ง ชวนท่านคุยเรื่องธรรมะเท่านั้น ที่ท่านจะยอมเอ่ยปาก
“ออกจากปากนักปราชญ์ไป ไม่เคยพ้นเรื่องอนิจจัง”
หลวงพ่อชา สุภัทโท เคยสอนเช่นนั้น เพราะท่านยกความไม่แน่ (อนิจจัง) ขึ้นสูง กระทั่งว่าใครเห็น “ความไม่แน่” อยู่เรื่อยๆ คือเห็น “พระพุทธเจ้า” ทีเดียว
“ไม่พูดเรื่องธรรม ก็ไม่รู้จะเอ่ยปากพูดทำไม?”
พระเซนท่านหนึ่งกล่าวไว้
แม้แต่หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ผู้มีจิตเป็นโพธิสัตว์ สมัยอยุธยา ท่านก็ให้คาถาเรื่องการรู้จักสงวนคำ สงวนวาจาไว้ว่า
พูดมาก เสียมาก
พูดน้อย เสียน้อย
ไม่พูด ไม่เสีย
นิ่งเสีย โพธิสัตว์ฯ
ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนคนโบราณ ที่ว่า ... พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง
ดูเผินๆ แล้ว เมื่อนักปราชญ์จำเป็นต้องพูดน้อยเสมอ ก็หาไม่, แต่ท่านเหล่านั้น สอนให้เราสำเหนียกเสียมากกว่า ถึงการมีศิลปะการพูด ... รู้ว่าเมื่อไหร่ควรพูด เมื่อไหร่ควรไม่พูด รู้ว่า เรื่องราวแต่ละเรื่อง ควรพูดแบบไหน อย่างไร แม้จะเห็นต่าง แต่ชาวพุทธเราก็สำนึกในคำสอนของพระพุทธเจ้าเสมอว่า ต้องพูดออกไปแล้วสร้างสรรค์ เป็นไปในทางเสริมสร้างกำลังใจในทางดี ไม่เป็นไปเพื่อการแตกสามัคคี
ครั้งหนึ่งระหว่างผู้เขียน รอการห่อปกพลาสติกหนังสือที่ซื้อ เจ้าหน้าที่น้องผู้หญิง ๒-๓ คน ยืนคุยกันไปในขณะห่อด้วย เสียงจึงได้เข้ามากระทบหู เด็กคนหนึ่งตั้งประเด็นขึ้นมากลางวงอย่างน่าตกใจว่า ...
เธอรู้ไหม ... มีแฟนเป็นคนที่มีเมียแล้ว ดีกว่าชายโสดนะ
ทำไมล่ะ? (เพื่อนๆ ถามด้วยความอยากรู้)
ก็มีศัตรูแค่คนเดียวไง (คือตัวภรรยา) แต่ถ้าเป็นชายโสด … เป็นแสน!
โธ่ ... ช่างคิดได้ เยาวชน สตรีไทยวันนี้! … นี้เป็นตัวอย่างของการพูดอย่างไร้สาระ หาประโยชน์มิได้ นอกจากเอาฮา เอามันไปวันๆ ซึ่งมิใช่ลีลาวาทกรรมของปราชญ์ ยิ่งถ้าเป็นพุทธปราชญ์ หรือพุทธบริษัทที่เข้มข้นด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเสวนากันเรื่องอะไรก็ตาม เขาจะสนใจอยู่แต่เพียง ๒ ประเด็นเท่านั้น คือ ทุกข์ และการดับทุกข์
ใกล้วันแห่งความรัก วันวาเลนไทน์แล้ว เรามาฝึกฝนวาจาแห่งรักกัน... ก็ขอโอกาสให้ผู้อ่านทุกท่าน น้อมระลึกทบทวน วจีกรรมของตัวเองที่ผ่านมา แล้วน้อมเอาพระราชดำรัสองค์ในหลวง ไปใช้เป็นยุทธศาสตร์ การพูดการจา จะได้เป็นโครงที่ช่วยประคอง สติ สัมปชัญญะ อีกแรงหนึ่ง กระทั่งควบคุมได้ครบทั้งไตรทวาร มโน-วจี-กายกรรม นำมาซึ่งความสุขกลับคืนสู่สังคมไทย ...
ไม่ต้องรอให้ใครมาคืนความสุขให้แก่เรา เพราะไม่เคยมีใครขโมยความสุขไปจากเราได้ ทั้งเราเองก็มีปัญญา รู้จักสร้างความสุขขึ้นเองได้จากจิตใจ มากเพียงพอที่จะแบ่งปันสู่สังคม ด้วยซ้ำ พร้อมร่วมดวงจิต ส่งความสุข ถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์ในหลวงของเราสืบไป
อย่าทิ้งพุทโธ อย่าโง่ดักดาน
อย่าหลงสงสาร อย่าติดกามราคะ
ควบคุมวจีกรรม มโนกรรมและกายะ
จิตจะสูงอย่างพระ วาทกรรมเลิศล้ำ ดั่งปราชญ์เอยฯ