
คนที่หน้าเหมือนกันจะเป็นเนื้อคู่กันจริงหรือไม่
คนที่หน้าเหมือนกันจะเป็นเนื้อคู่กันจริงหรือไม่ : ปุจฉา-วิสัชนากับพระไพศาล วิสาโล
ปุจฉา : ที่เขาว่ากันว่า หรือเชื่อว่าคนที่หน้าเหมือนกัน จะเป็นเนื้อคู่กันนี่จริงหรือไม่คะ
วิสัชนา :ในทัศนะของพุทธศาสนา ความเป็นเนื้อคู่กันนั้นเป็นผลจากการที่มีธรรมะเสมอกันแต่ปางก่อน เช่น มีศีล ศรัทธา จาคะ และปัญญา เสมอกันหรือสอดคล้องกัน มาถึงชาตินี้ก็ยังมีคุณสมบัติดังกล่าวสอดคล้องกัน นั่นหมายความว่า ถึงแม้จะมีหน้าตาเหมือนกัน แต่นิสัยใจคอแตกต่างกันมาก ก็ย่อมไม่ใช่เนื้อคู่กัน พูดอีกอย่าง จะเป็นเนื้อคู่กันหรือไม่ ให้ดูที่นิสัยใจคอหรือธรรมที่บำเพ็ญ ไม่ใช่ที่หน้าตา
หลักสำคัญของ "การบวชชีพราหมณ์" คืออะไร และจะทำที่บ้านได้ไหม
ปุจฉา : พระอาจารย์ ขออนุญาตสอบถามเรื่องการบวชชีพราหมณ์ค่ะ หนูอยากรู้ว่าหัวใจของการบวชชีพราหมณ์คืออะไร แล้วมีวิธีการไหนที่สามารถปฏิบัติที่บ้านได้เทียบเท่ากับการบวชชีพราหมณ์
เหตุที่ถามเพราะว่าเมื่อคุณพ่อเสีย หนูได้ไปนั่งสมาธิให้ท่าน แต่แล้วมีวิญญาณเด็กมานั่งร้องให้แล้วบอกว่าเขาตายเพราะเงินของหนู ถามไปถามมาเงินนี้คือเงินที่เพื่อนมาขอยืมหนู อ้างว่าจะจ่ายค่าเทอมแต่ความจริงเพื่อนเอาไปทำแท้งค่ะ ซึ่งถามไปทางเพื่อนก็ยอมรับ แต่เพื่อนเป็นคนไม่ค่อยสนใจเข้าวัดทำบุญ หนูจึงถามเด็กไปว่าจะให้ทำยังไง เขาก็ร้องให้ขอให้หนูบวชให้เขา หนูก็รับปากไป
แต่พอมาเล่าให้ที่บ้านฟัง สามีก็เหมือนจะไม่เห็นด้วย เพราะเราเองก็มีลูกมีครอบครัวต้องดูแล ก็เลยลืมๆ เรื่องนี้ไปได้ แต่สวดมนต์ก็พยายามอุทิศให้เขา แต่เมื่อวันก่อนก็มีร่างทรงทักมาอีกถามว่าเคยแท้งไหม หนูเลยนึกได้เรื่องบวชชี แต่หนูก็ไปไม่ได้ ยิ่งตอนนี้ก็มีลูกอ่อนอีกคน การจะไปไหนมาไหนยากพอควร เป็นเช่นนี้หนูควรจะทำอย่างไร เพื่อให้เขาได้รับบุญเทียบเท่ากับการบวชชีพราหมณ์คะ
วิสัชนา : การบวชชีพราหมณ์นั้น เป็นการฝึกหัดขัดเกลาตนให้คลายความติดยึดในกามสุข ( เรียกอีกอย่างว่า เนกขัมมะ หรือการออกจากกาม) โดยถือศีล ๘ จะทำที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น ปกตินิยมอยู่วัด เพราะเอื้อต่อการปฏิบัติ ทำให้สามารถรักษาศีล ๘ ได้อย่างครบถ้วน อีกทั้งมีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระด้วย แต่บางคนบวชชีพราหมณ์ หรือบวชชีโกนหัวแล้ว อยู่บ้านก็มี สมัยก่อนมีคนจำนวนมากเมื่อแก่เฒ่าแล้วก็บวชชีอยู่ที่บ้าน ตั้งใจสวดมนต์ รักษาศีลอย่างเคร่งครัด
หากคุณจะบวชอยู่ที่บ้านก็ทำได้ ขอเพียงแต่ให้แน่ใจว่า จะสามารถรักษาศีล ๘ ได้สะดวก โดยเฉพาะข้อ ๓ (การไม่มีเพศสัมพันธ์) ข้อ ๖ (ไม่กินอาหารยามวิกาล) และข้อ ๗ (ไม่ประดับตกแต่งร่างกาย ร้องเพลง ละเล่น หรือดูมหรสพ)
สายด่วนให้คำปรึกษาทางจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย 'เตรียมตัวก่อนสู่วาระสุดท้ายของชีวิต จะทำอย่างไรดี' ปรึกษาได้ที่ โทร.๐๘-๖๐๐๒-๒๓๐๒