พระเครื่อง

งานเกษตรแฟร์วัดขุนอินทฯงานวัดในแบบ'พระครูวิเศษชัยวัฒน์'

งานเกษตรแฟร์วัดขุนอินทฯงานวัดในแบบ'พระครูวิเศษชัยวัฒน์'

13 มี.ค. 2558

งานเกษตรแฟร์วัดขุนอินทฯงานวัดในแบบ'พระครูวิเศษชัยวัฒน์' : ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

งานเกษตรแฟร์วัดขุนอินทฯงานวัดในแบบ\'พระครูวิเศษชัยวัฒน์\'

              ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน งานวัดเสมือนหนึ่งเป็นศูนย์รวมของที่เที่ยว ที่กิน และมหกรรมความบันเทิง ที่จะถูกขนมารวมกันไว้ภายในงาน เกมยอดนิยมที่พบเห็นในทุกงานวัด ก็คือ เกมปาเป้า โยนห่วง ปากระป๋อง คล้องขวด และก็ปืนลม ด้วยเหตุนี้เทศกาลงานวัดจึงเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่หลายคนเฝ้ารอคอย ในอดีตหากอยากจะดู "หนัง ลิเก และวงดนตรี" ต้องรอให้ถึงเทศกาลงานวัดเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นงานปิดทองประจำปี กฐิน ผ้าป่า งานลอยกระทง และงานปิดทองฝังลูกนิมิต ทั้งนี้ หากวัดใดจะหานักร้องหญิงชายที่อยู่ในความนิยมไปจัดแสดง ต้องจองคิวจ่ายเงินล่วงหน้าข้ามปีเลยทีเดียว

              แต่มีงานวัดอยู่แห่งหนึ่งที่ ไม่มี "หนัง ลิเก และวงดนตรี" รวมทั้งไม่มี "เกมปาเป้า โยนห่วง ปากระป๋อง คล้องขวด และ ปืนลม" แต่ก็สามารถเรียกศรัทธาพุทธศาสนิกชนเข้าวัดได้นับหมื่นเช่นกัน วัดดังกล่าวคือ วัดขุนอินทประมูล ต.บางพลับ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง วัดซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐาน ของ "พระพุทธไสยาสน์" ขึ้นชื่อว่า "เป็นพระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก"

              "อาตมาก็เริ่มจัดงานเกษตรแฟร์ในวัด เมื่อ ๓ ปี หลังจากสร้างจัดงานฝังลูกนิมิต โดยมีหลักง่ายๆ คือ ใน ๑ ปี เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ปลูกผัก เลี้ยงปลา ฯลฯ ได้มาเจอกับผู้ซื้อโดยตรงสักครั้งหนึ่ง"

              ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นจุดเริ่มต้น และจุดประสงค์การจัดงานงาน "เกษตรและของดีเมืองอ่างทอง" ของพระครูวิเศษชัยวัฒน์ หรือหลวงพี่เสวย เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล และรักษาการเจ้าอาวาสวัดขุนอินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง

              "งานเกษตรและของดีเมืองอ่างทอง" หรือ "งานเกษตรแฟร์ วัดขุนอินทประมูล" ปี ๒๕๕๘ นี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ พร้อมกับ "เทศกาลไหว้พระนอน วัดขุนอินทประมูล" โดยจะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกๆ ปี ซึ่งปีนี้จัดไปแล้วระหว่างวันที่ ๑๔-๒๒ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

              ทั้งนี้พระครูวิเศษฯ เปิดพื้นที่วัดให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดนิทรรศการการลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตรของการแสดงดนตรีพื้นบ้าน การนำผลิตผลการเกษตรมาจำหน่าย การแสดงละครชาตรี เรื่อง พระอภัยมณี การประกวดกลองยาว จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนโอท็อป วิสาหกิจชุมชนตลาดย้อนยุค สาธิตและฝึกอาชีพ รวมทั้งการจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร ฯลฯ

              ส่วนกิจกรรมทางพุทธศาสนานั้นนอกจากห่มผ้าพระนอนวัดขุนอินทประมูลแล้ว พระครูวิเศษฯ ได้เนรมิตลานโล่งด้านหน้าพระนอนวัดขุนอินทประมูลให้เป็นแปลงทานตะวัน และอุโมงค์ผัก ทั้งนี้ได้วางแผนล่วงหน้ากว่า ๓ เดือน โดยระหว่างงานได้จัดให้มีการสวดมนต์เย็นอุโมงค์ผัก

              ปีแรกของการจัดงานเกษตรแฟร์วัดขุนอินทประมูล พระครูวิเศษฯ บอกว่า มีเกษตรกร และร้านจำหน่ายอุปการเกษตรมาร่วมงานประมาณ ๕๐-๖๐ ร้าน ปีที่ ๒ เพิ่มเป็นกว่า ๑๐๐ ร้าน ส่วนครั้งที่ผ่านมามีมากกว่า ๓๐๐ ร้าน โดยผู้มาเปิดร้านช่วยจ่ายค่าเต็นท์และค่าไฟ มีการประมาณว่าตลอดการจัดงานมีเงินสะพัดเกือบ ๑๐๐ ล้านบาท

              "การจัดงานวัดให้เป็นวิกเหมือนในอดีตนั้น ไม่ได้เกิดประโยชน์โดยตรงกับส่วนรวมที่แท้จริง จริงอยู่ว่าวัดอาจจะได้เงินเข้าวัด แต่เกษตรกรที่อยู่ใกล้พื้นที่ตั้งวัดไม่ได้อะไร เมื่อเปลี่ยนรูปแบบได้กันทุกภาคส่วน วัดยังได้เหมือนเดิม ส่วนที่ได้เพิ่มเติมมาคือ เกษตรกรได้ขายผลผลิต คนมาวัดได้ซื้อสินค้ามีคุณภาพและราคาถูก" พระครูวิเศษฯ กล่าว

              เมื่อถามว่า "จัดงานเกษตรแฟร์ในวัดเกี่ยวอะไรกับพระด้วย" พระครูวิเศษฯ ตอบสวนมาไว้อย่างน่าคิดว่า "พระก็เป็นลูกหลานของญาติโยมนั้นแหละ ถ้าพระไม่ให้โยมก่อนแล้วโยมเข้าวัดทำบุญหรือ อาตมาถนัดเรื่องการเกษตรก็ส่งเสริมให้คนทำการเกษตร เมื่อเขามีกินเขาก็ต้องนึกถึงพระซึ่งเป็นผู้ให้ จะว่าไปแล้วปัจจัยที่สร้างวัด โบสถ์ วิหาร ศาลา ฯลฯ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงทุกวันนี้ทุกบาททุกสตางค์ ล้วนเป็นปัจจัยที่พุทธศาสนิกชนมีต่อพุทธศาสนาทั้งสิ้น ลำพังแรงของพระสร้างไรได้เลย"


แนวคิดในแนว"พระครูวิเศษฯ"

              "โบสถ์ไฮเทค" วัดขุนอินทประมูล เป็นฝีมือดำเนินการจัดสร้างโดยพระครูวิเศษฯ เป็นพระอุโบสถแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีทั้งลิฟต์และบันไดเลื่อน ไว้คอยบริการผู้ที่มีจิตศรัทธา โดยใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น ๑๒๐ ล้านบาท มีทั้งหมด ๓ ชั้น ด้านล่างเป็นห้องโถงสำหรับจัดเลี้ยงอาหาร ตั้งโต๊ะจีนพร้อมกันได้ถึง ๑๒๐ โต๊ะ

              ความไฮเทคของโบสถ์วัดขุนอินทประมูลอีกอย่างหนึ่ง คือ ระบบเสียงในโบสถ์ที่คุณภาพของเสียงนั้นไม่ต่างจากห้องบันทึกเสียงของเอกชน หรือโรงหนังอันทันมัย แต่ยังคงสภาพเป็นโบสถ์ไว้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการติดตั้งหรือออกแบบโบสถ์ให้ต่างจากโบสถ์ทั่วๆ ไป อาจจะมีคนจำนวนไม่น้อยอาจจะอดสงสัยว่า พระครูวิเศษฯ จ้างช่างติดตั้งฝีมือดีที่ไหนมา แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นฝีมือพระครูวิเศษฯ ล้วนๆ ตั้งแต่การออกแบบ เลือกซื้ออุปกรณ์ รวมไปถึงการติดตั้ง โดยท่านได้ใช้ความรู้เมื่อครั้งที่เป็นฆราวาสมาใช้ โดยก่อนบวชเมื่อ ๓๐ ปี ก่อนท่านเป็นหนึ่งในช่างเครื่องเสียงชื่อดัง ชนิดที่เรียกว่าหลงใหลเครื่องเสียงในราคาหลักล้านบาทเคยซื้อมาฟังแล้ว หากใครได้ขึ้นไปบนอุโบสถลองขอฟังได้

              "ปัจจัยที่ญาติโยมนำมาทำบุญนั้น พระต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งใดทำไม่ได้ก็ต้องจ้างญาติโยมทำ เมื่อญาติโยมมีเงินก็กลับมาทำบุญที่วัด ขณะเดียวกันสิ่งใดที่พระ เณรทำได้ก็ต้องทำเอง อาตมาเชื่อว่ามีพระหลายรูปก่อนบวชผ่านงานทางโลกมาแล้วทั้งสิ้น อย่างกับอาตมาผ่านทั้งงานก่อสร้าง งานเครื่องเสียง เมื่อมาบวชเป็นพระก็เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทันที" พระครูวิเศษฯ พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด


บุญเททองหล่อเศียรสมเด็จฯ โต


              "สร้างสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี องค์ใหญ่หน้าตักกว้าง ๓.๙๙ เมตร ประดิษฐานหน้าพระอุโบสถ สร้างสถานปฏิบัติธรรม และที่พักปฏิบัติธรรม" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างพุทธมณฑลจังหวัดอ่างทอง ที่พระครูวิเศษฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

              ระหว่างงานเกษตรแฟร์วัดขุนอินทประมูล พระครูวิเศษฯ ได้จัดให้มีพิธีเททองหล่อเศียรและพิธีปลุกเสกชนวนมวลสารเหรียญสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) รุ่นมนุษย์สมบัติ วาระที่ ๒ เหรียญรุ่นนี้ออกแบบและผลิตโดย แพรนด้า จิวเวลรี่ มี อ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เป็นประธานดำเนินงาน มีทั้งเนื้อทองคำ ทองคำลงยาจีวร เนื้อนวะองค์ทองคำ เนื้อเงินองค์ทองคำ นวโลหะผสมทองคำ เงินซาติน อัลปาก้า ทองระฆัง และ บรอนซ์ โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีบรรดาพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมพิธีกันอย่างคับคั่ง <

              อย่างไรก็ตามในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๒.๔๕ น.ซึ่งอยู่ในช่วงปีใหม่ไทย ตรงกับวันมหามงคลฤกษ์ครบรอบวันเกิดของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ปีที่ ๒๒๗ ในวันนั้นจะทำพิธีมหาพุทธาภิเษกเหรียญสมเด็จฯ โต รุ่นมนุษย์สมบัติเป็นวาระที่ ๓ และเบิกพระเนตรสมเด็จฯ โต องค์ใหญ่

              ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญไดที่ วัดขุนอินทประมูล โทร.๐๙-๒๕๕๗-๗๕๐๘, ๐๙-๒๕๕๗-๗๕๐๙, ๐๙-๒๕๕๗-๗๕๑๐ และ ๐๙-๒๕๕๗-๗๕๑๑ หรือที่ www.artmulet.com