'เรามีดินเป็นที่พึ่ง'พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ
'เรามีดินเป็นที่พึ่ง'พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ เรื่องและภาพ
เมื่อธรรมะจัดสรร จึงทำให้พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ แห่งวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม จ.เชียงใหม่ มาบุกเบิกโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัยมาบเอื้อง สังกัด สพป.๑ ชลบุรี กระทรวงศึกษาธิการ จนสำเร็จ โดยการนิมนต์ถึง ๕ ครั้งของดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
ก่อนที่พระอาจารย์สังคมจะมาช่วยพลิกฟื้นให้วัด บ้าน และโรงเรียนกลับมาเป็นเสาหลักของสังคมอีกแห่งหนึ่งที่มาบเอื้อง ท่านเป็นผู้นำชาวบ้านบนดอยทางเหนือให้กลับมาทำเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนประสบความสำเร็จมาแล้ว ทำให้ชาวบ้านสามารถปลดหนี้สินจากการทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมได้ ขณะเดียวกันท่านก็ริเริ่มการศึกษาแบบโฮมสคูลในวัด เรียนฟรี โดยที่พ่อแม่จะต้องมาภาวนาและถือศีล ๘ ในวันพระด้วย
ท่านกล่าวว่า เพราะการพัฒนาต้องยั่งยืนและครบวงจร เป็นระบบ ไม่ใช่ตามอย่างตะวันตก
"ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์อยู่ตรงไหน จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ชุมชนได้อย่างไร เมื่อก่อนก็อ่านแต่ทฤษฎีฝรั่ง แต่มันไม่ใช่ เราก็เชื่อว่า ทฤษฎีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี่แหละใช่ คือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เราก็ศึกษาอย่างเต็มที่ แล้วพบว่า แนวทางของประเทศไทย คนไทยมีพื้นฐานเกษตรกรรม การพัฒนาต้องไม่ใช่เทคโนโลยี ในหลวงทรงกล่าวว่า ค่อยเป็นค่อยไป ให้คนพออยู่พอกิน พอใช้ ให้ได้ แล้วจะได้รับความร่มเย็น นี่คือที่มาที่ทำให้เราต้องหันมาพึ่งตนเองให้ได้
"จากที่เราเห็นการศึกษาแบบแยกส่วน ของระบบการศึกษาแบบตะวันตก พระเจ้าอยู่หัวได้สอน ได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราตามก้นระบบการศึกษาของฝรั่งไป มันจะไม่มีศีลธรรม เราเลยตัดสินใจมาทำเรื่องเศรษกิจพอเพียง และถ้าจะให้มั่นคงในเรื่องของการพัฒนา ก็ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กันด้วยทั้ง บ้าน วัด โรงเรียน คำว่าบวรจึงเกิดขึ้น นี่เป็นพระราชดำรัส"
ดังนั้น ถ้าจะให้ชุมชนมั่นคงและยั่งยืน พระอาจารย์สังคมอธิบายว่า ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน ข้าราชการก็ต้องมาช่วยกัน รู้รักสามัคคี ดังที่ในหลวงตรัสไว้
"แต่ละคำที่เป็นพระราชดำรัส ทำให้เข้าไปที่ใจ ในทฤษฎีตะวันตกมันไม่มี มันไม่ลึกซึ้งอย่างนี้ ต้องเข้าใจ เข้าถึง จึงพัฒนา พัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน ในหลวงตรัสไว้ว่า มันต้องระเบิดออกจากข้างใน"
พระอาจารย์สังคมศึกษาทฤษฎีในหลวงอย่างลึกซึ้ง จนพบว่า ระเบิดจากข้างใน คือจะต้องเกิดจากความศรัทธาว่าดี และเชื่อว่า นี่คือทางรอด
"เราก็ปิ๊งไปเดียเลย จับมือกันกับเพื่อนเจ้าอาวาส เราจะอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ถ้าชาวบ้านเขายากจนอย่างนี้ ยิ่งเห็นพวกเศรษฐีร่ำรวย โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่บางบริษัทที่เห็นแก่ตัว ส่งเสริมปลูกข้าวโพด ส่งเสริมให้คนบนดอยตัดไม้ แล้วก็ปลูกข้าวโพดโดยไม่ผิดกฎหมาย ไปสัญญากับชาวบ้านว่า ข้าวโพดกิโลกรัมละเท่านั้นเท่านี้ พอปลูกออกมาเยอะๆ แล้วก็บอกเขาว่า ราคานี้ไม่ได้ เกินกำลังซื้อ แล้วก็ลดราคาเขา ให้เขาขนมาให้ และให้รัฐบาลไปสนับสนุนตัวมันเองรวยเอาๆ นี่คือความฉ้อฉล เมื่อเราเห็นก็ยิ่งสลดสังเวชใจ ดังนั้น เราจึงต้องสอนชาวบ้านให้พึ่งตนเองให้ได้"
จากนั้น พระอาจารย์สังคมก็เริ่มต้นจากชาวบ้านที่ยากจน ครอบครัวไหนบ้าง ก็พาไปอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ที่สันติอโศก
"เพื่อให้เขาเรียนรู้วิธีการทำสบู่ ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ซักผ้า น้ำยาไล่แมลง การทำเกษตรผสมผสาน อย่าไปฆ่าหญ้า แต่ใช้วิธีคลุมดิน ห่มดิน หมักสะเดาเป็นยา ทุกอย่างเลย ที่ทำเองได้ ไม่ต้องซื้อ ชาวบ้านเริ่มดีขึ้น เริ่มหันมาศรัทธาในวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกกิน ปลูกอยู่ ปลูกใช้ ยุทธวิธี เราก็ต้องทำเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีแล้วทำไปพร้อมๆ กับฟื้นเกษตรกรให้มีความรู้แบบองค์รวม เหมือนกับคำขวัญของวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม ที่ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อจันทร์ กุสโล ท่านเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ซึ่งท่านเป็นผู้อุปถัมภ์เรา ท่านให้คำขวัญว่า เศรษฐกิจ จิตใจ ต้องแก้ไขพร้อมกัน
"เพราะถ้าจิตใจไม่มีคุณธรรม ไม่มีความรู้คู่คุณธรรม ก็พอเพียงไม่ได้ จิตใจก็ต้องเลิกลดละอบายมุข ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน หันมาปฏิบัติธรรมด้วย นี่คือจิตใจ ส่วนเศรษฐกิจก็หาเมล็ดพันธุ์เอง ไม่ต้องซื้อ พี่น้องชาวดอยตรงไหนมีเมล็ดพันธุ์ของแท้ไปหามา คุณโจน จันได มีเมล็ดพันธุ์ไปขอมา อีสานที่ไหนมี ไปหามาแล้วผลิตเมล็ดพันธุ์ของเราเอง เพื่อทำการเกษตรแบบยั่งยืน จนชาวบ้านปลดหนี้สินได้หมด มีความสุข"
เมื่อมาถึงศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องเมื่อสองปีก่อน พระอาจารย์สังคมเล่าว่า กว่าจะตั้งโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัยมาบเอื้องได้สำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
"ลำบากพอสมควร กว่าจะตั้งโรงเรียนขึ้นมาได้ เด็กนักเรียนรุ่นแรก ๘ คน ออกไปกลางครัน ๔ คน แต่เราก็เชื่อมั่น เราเริ่มออกบิณฑบาต ในใจของเราคิดอย่างเดียว หมุนด้วยปัญญาอย่างเดียวว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ชุมชนรอบวัด เข้าวัด ทำอย่างไรให้คนรอบศูนย์ เขาเกิดศรัทธาในศูนย์ ทำอย่างไรจึงจะเกิดความเชื่อมสัมพันธ์ เป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้องเขาได้ บิณฑบาตทุกเช้าก็ทักทายปราศรัย บางทีเขาก็ว่า พระรูปนี้ไม่สำรวม เจอโยมที่ไหนก็พูดก็คุย แต่เราก็ยอมให้เขาว่าเราไม่สำรวม เราก็ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จา จนชาวบ้านเริ่มไว้วางใจเรา เดี๋ยวนี้บิณฑบาตต้องแยกเป็นสองสายแล้ว เป็นสายใหม่กับสายเก่า เขาเริ่มอยากให้เราไปบิณฑบาตทุกวัน"
นี่คือจุดเริ่มต้นของบวร บ้าน วัด โรงเรียน ตามรอยพระยุคลบาทที่กำลังเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัยมาบเอื้อง จ.ชลบุรี
เราจะนำ'บ้าน วัด โรงเรียน'กลับคืนมา
พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ เป็นลูกศิษย์พระปัญญาพิศาลเถร (ทูล ขิปฺปปญฺโญ) ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่ขาวก็เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อ ๑๕ ปีก่อนท่านได้พบกับหลวงพ่อทูล ไปเยี่ยมลูกศิษย์อยู่ที่อเมริกา และไปเทศน์
"ขณะนั้นเราบวชอยู่ที่วัดพุทธรัตนาราม เมืองเคลเลอร์ รัฐเทกซัส ได้ฟังเทศน์ของหลวงพ่อแล้วรู้สึกประทับใจ หลวงพ่อขึ้นต้นบรรยายด้วย ปัญญา ศีล สมาธิ เราก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังอย่างนี้ เลยคิดว่า พระองค์นี้แปลก ท่านก็ชวนกลับมาเมืองไทย ไปอยู่ที่วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี บอกว่า ลองไม่มีเมียสักชาติดูสิ ว่ามันจะตายเหมือนที่หลวงพ่อบอกไหม เลยตัดสินใจบินตามหลวงพ่อทูลกลับมา แล้วเปลี่ยนอุปัชฌาย์ บวชใหม่ที่วัดป่าบ้านค้อ เมื่อปี ๒๕๔๓ แล้วอยู่ภาวนาที่นั่นอยู่กับหลวงพ่อทูล จนกระทั่งเข้าพรรษา มีการสร้างเจดีย์ที่วัด ตอนนั้นยังบวชใหม่ๆ เราก็บอกหลวงพ่อว่าลูกเพิ่งบวชใหม่ ขอไปภาวนา ท่านจึงให้ไปภาวนาที่วัดป่าตาดน้ำพุ กับพระครูปิยสีลาจารย์ (ไชยา อภิชโย) ซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อทูล เลยได้ไปอยู่ป่า ๓ ปี ขณะภาวนาที่นั่นผอมมากๆ เลยตอนนั้น มันมีความอิ่มเอิบในใจมาก"
พระอาจารย์สังคม เล่าถึงปฐมเหตุของการบวชเรียน อันมีนัยสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนวิธีคิดในชีวิตที่นำมาสู่การเป็นพระนักพัฒนาผู้นำชุมชนในปัจจุบัน
ท่านเล่าประวัติก่อนที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา และอุปสมบทที่นั่นต่อมาว่า หลังจากจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก็ไปเรียนต่อเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ที่ดัลลัส เทกซัส พอเรียนจบก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการถ่ายภาพ เพราะเคยเป็นช่างภาพตั้งแต่อยู่ประเทศไทยส่งให้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ
"แต่ด้วยใจเราเป็นลูกชาวนา เห็นเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ เราก็อยากเรียนเกษตรแล้วกลับไปเป็นชาวนาที่มีความรู้ก็ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระหว่างการเรียนก็ทำงานอาชีพช่างภาพ เลยมีความรู้เรื่องการเกษตร แต่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการถ่ายภาพ พอจบแม่โจ้ก็คิดว่า ทำไมเราไม่เอาดีทางถ่ายรูป เลยไปเรียนทางด้านถ่ายภาพที่อเมริกา
"ยิ่งไปเรียนในอเมริกา ยิ่งเห็นว่า อเมริกาเอารัดเอาเปรียบคนอื่น เอารัดเอาเปรียบประเทศเล็ก ประเทศน้อย เพราะเขาเข้าใจว่า การศึกษาคืออำนาจ ถ้าคุณล้างสมองเขาได้ ให้เขาเห็นเงินเป็นใหญ่ เขาครอบเราได้เลย เช่นเดียวกับอาหาร ถ้าคุณครอบครองเรื่องอาหารได้ คุณมีอำนาจ ตะวันตกก็เลยพัฒนาการศึกษาให้เป็นแบบหมาหางด้วน ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวไว้ เมื่อไทยตามรอยเขาปัญหาจึงเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้"
นั่นจึงเป็นที่มาของพระนักพัฒนาจิตใจที่ไปพร้อมกับเศรษฐกิจ โดยการนำปัญญาในพระพุทธศาสนามารับใช้สังคมควบคู่ไปกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงในการนำเอาบวร "บ้าน วัด โรงเรียน" กลับคืนมานำพลังปัญญาคืนสู่สังคมไทย