พระเครื่อง

วิจัยพบพุทธิปัญญาภูมิคุ้มกันวัยรุ่นยุคบริโภคนิยม

วิจัยพบพุทธิปัญญาภูมิคุ้มกันวัยรุ่นยุคบริโภคนิยม

02 เม.ย. 2558

วิจัยพบพุทธิปัญญาภูมิคุ้มกันวัยรุ่นยุคบริโภคนิยม : ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์รายงาน

              จากสภาพปัญหาเยาวชนในปัจจุบันจะพบว่าเยาวชนเติบโตอยู่ในยุคกระแสบริโภคนิยม กำลังเผชิญกับกระแสค่านิยมเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกอย่างรุนแรง ค่านิยมการบริโภคดังกล่าวดึงดูดให้เด็กใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ส่งผลต่อค่านิยมและพฤติกรรมของเยาวชนไทยในด้านต่างๆ อาทิเช่น ด้านการบริโภคอาหาร ด้านการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน เป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่า โซเซียล มีเดีย ( Social Media) พบว่ากลุ่มเยาวชนวัยรุ่นส่วนใหญ่ ใช้โซเซียล มีเดีย (Social Media) เพื่อความบันเทิงมากกว่าแสวงหาความรู้ ซึ่งความเจริญทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วนี้ได้นำค่านิยมแบบวัตถุนิยมเข้ามา ทำให้เกิดความหลงใหลมัวเมามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เยาวชนวัยรุ่นขาดการคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลในการใช้ชีวิต

              จากปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยจึงดำเนินการวิจัยเรื่อง "กระบวนการปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสำหรับวัยรุ่น" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) โดยสนใจศึกษาว่า กระบวนการใดจะฝึกให้เยาวชนรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล โดยนำหลักพุทธธรรมมาปลูกฝังค่านิยมที่ดี เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ให้เยาวชนใช้ชีวิตอยู่ในกระแสสังคมบริโภคนิยมได้อย่างมีสติ ดังนั้นในการวิจัยครั้งนี้ได้สร้างกระบวนการปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญา ในรูปแบบค่ายคุณธรรม 1 คืน 3 วัน และการทำโครงงาน 1 เดือน ตามกระบวนฝึกอบรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมา โดยออกแบบเป็นชุดฝึกอบรมเพื่อฝึกกระบวนการคิดตามหลักพุทธธรรมบูรณาการกับการฝึกการบริโภคด้วยปัญญา ประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือ กิจกรรมส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาและกิจกรรมฝึกการบริโภคด้วยปัญญา

              ผลการวิจัยพบว่า. กระบวนปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญา มี 5 ขั้นตอน คือ 1) การสร้างศรัทธา 2) การสร้างกระบวนการคิด ประกอบด้วย (1) ขั้นนำหรือกำหนดสถานการณ์ (2) ขั้นตั้งคำถามฝึกวิธีคิด (3) ขึ้นการฝึกคิดเป็นรายกลุ่ม (4) ขั้นวิเคราะห์และอภิปรายกลุ่ม (5) ขั้นสรุปและประยุกต์ใช้ 3) ขั้นวัดและประเมินผล 4) ขั้นวางแผนปฏิบัติ 5) ขั้นปฏิบัติโครงงาน จากผลการอบรมค่าย 2 คืน 3 วัน พบว่า นักศึกษามีเหตุผลในการคิดต่อการบริโภค และค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสูงขึ้นกว่าก่อนการฝึกอบรม มีการพัฒนาพฤติกรรมตามหลักภาวนา 4 (กายภาวนา ศีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา) อยู่ในระดับดี

              และผลจากการทำโครงงาน 1 เดือน พบว่า นักศึกษามีค่านิยมและมีพฤติกรรมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญาสูงกว่าก่อนการฝึกอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในด้านการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากที่สุด จากผลการวิจัยสามารถนำเสนอรูปแบบการปลูกฝังค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญา กำหนดสร้างเป็นโมเดลในการปลูกฝังค่านิยมให้กับเยาวชน คือ “การเรียนรู้สู่การปฏิบัติ” LFTAEC (Model) ประกอบด้วย 1) L : Learning หมายถึง การศึกษาเรียนรู้แนวคิด ทฤษฎี 2) F: Factor of Success หมายถึง ปัจจัยแห่งความสำเร็จ 3) T: Training การฝึกอบรมตามกระบวนการปลูกฝังค่านิยม 4) A: Action หมายถึง การปฏิบัติโครงงาน 5) E: Evaluation หมายถึง การประเมินผล 6) C : Characterization หมายถึง คุณลักษณะของค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญา

              ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า รูปแบบของกระบวนการปลูกฝังค่านิยมที่มีประสิทธิภาพสามารถพัฒนาวัยรุ่นให้เกิดคุณลักษณะค่านิยมที่ดีตามหลักพุทธธรรมได้ จากผลการวิจัยที่พบประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผลในการคิดกับค่านิยมการบริโภคด้วยพุทธิปัญญา เนื่องจากรูปแบบฝึกอบรม มีการตั้งคำถามฝึกวิธีคิด ให้นักศึกษาเลือกการตัดสินใจจากกรณีตัวอย่าง ด้วยการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน การฝึกให้เยาวชนเลือกทำโครงงานคุณธรรมตามความชอบ ความถนัด ความสนใจของตัวเองสอดคล้องกับพัฒนาการตามวัย การฝึกให้คิดและการออกแบบกิจกรรมเพื่อจะเปลี่ยนแปลงค่านิยมของตนเอง ร่วมกับเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม และการฝึกนำค่านิยมไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน ทำให้เยาวชนเกิดกระบวนความคิดเกี่ยวกับความตั้งใจเปลี่ยนแปลงค่านิยมและพฤติกรรมของตนเองที่ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้เยาวชนมีระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบในการเรียนมากขึ้น มีการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษามากขึ้น นักศึกษาช่วยเหลืองานบ้านมากขึ้น

              แสดงให้เห็นว่า ค่านิยมเกิดจากการเรียนรู้ โดยเริ่มที่สถาบันครอบครัว สถาบันศึกษา และสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่สนับสนุนร่วมกันส่งเสริมปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมที่ดี มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมค่านิยมที่ดีให้กับเยาวชนได้ ข้อค้นพบที่น่าสนใจของการวิจัยครั้งนี้ กล่าวคือ เยาวชนมีการการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาตามหลักพุทธธรรมที่สูงขึ้น เนื่องจาก การจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ (ปรโตโฆสะ) มีครูผู้สอนเป็นกัลยาณมิตรที่รัก คอยชี้แนะ สนับสนุน การนำหลักพุทธธรรมมาบูรณาการกับการฝึกอบรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ที่กล่าวว่า ระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ จะต้องมีองค์ประกอบพร้อมทั้งศีล สมาธิ และปัญญา โดยหลักการศึกษาหรือการฝึกฝนอบรม ที่กำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา เป็นกระบวนการสร้างปัญญา นำไปสู่อิสรภาพของชีวิต เป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ด้วยดีร่วมกันในสังคมได้

              ทั้งนี้ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการคัดเลือกในการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ 1  MCU Congress 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา