ตั้งพระเป็นผู้ประนีประนอมประจำศาล
ตั้งพระเป็นผู้ประนีประนอมประจำศาล ช่วยไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาโทสันติศึกษา มจร รายงาน
ใกล้คลอดแล้ว "วิศวกรสันติภาพ" ภายใต้การผลิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันพระปกเกล้าและสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนปิรามิดหรือสามก้อนเส้าหรือสามเหลี่ยมสร้างสันติภาพที่แข็งแรง ที่เปิดหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตสาขาสันติศึกษา โดยมีพระมหาหรรษา ธัมมหาโส เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร
หลักสูตรดังกล่าวได้เปิดการเปิดการเรียนการสอนเป็นรุ่นที่ ๒ แล้วและกำลังเปิดรับสมัครรุ่นที่ ๓ อยู่ขณะนี้ โดยมีเนื้อหาการเรียนการสอนเกี่ยวกับทฤษฎีแนวความคิดสันติภาพ สันติวิธีในการบริหารจัดการความขัดแยัง และประนีประนอมระงับข้อพิพาษเป็นต้น โดยนำหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาเข้ามาบูรณาการซึ่งเรียกว่าเป็นการสร้างสันติภาพภายในใจ
ขณะนี้การเรียนการสอนของรุ่นที่ ๑ ที่มีนิสิตทั้งพระภิกษุและฆราวาสจำนวน ๒๗ รูป/คนนั้น ได้จบหลักสูตรเป็นที่เรียบร้อยแล้วทั้งการเรียนการสอนในชั้นเรียนทุกวันเสาร์ การดูงานและการออกภาคสนามฝึกปฏิบัติเป็นผู้ประนีประนอมระงับข้อพิพาษประจำศาล รวมถึงการทำวิทยานิพนธ์และสารนิพนธ์โดยผ่านการนำเสนอทุกกระบวนการแล้วเหลือเพียงอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยและเข้ารับประสาทปริญญาในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘นี้
สำหรับการฝึกปฏิบัติเป็นผู้ประนีประนอมระงับข้อพิพาษประจำศาลนั้น เมื่อเสร็จสิ้นตามระยะเวลาแล้วทางศาลจะมีการพิจารณาออกใบประกาศแต่งตั้งเป็นผู้ประนีประนอมระงับข้อพิพาษประจำศาลทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีพระนิสิตรวมอยู่ด้วยจึงนับได้ว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่งของพระไทยในการบริการสังคม
ทั้งนี้พระมหาหรรษา กล่าวว่า ศาลต่างๆ ที่พระนิสิตและนิสิตไปฝึกงานประนีประนอมตามหลักสูตรสันติศึกษานั้นเป็นการปฏิบัติงานโดยการฝึกปฏิบัติจริงตามหลักสูตรซึ่งทำให้คู่กรณีสามารถค้นพบทางออกเขิงสมานฉันท์ ด้วยพลังจากพระสงฆ์ที่มีความสุขุมเยือกเย็น มีความเมตตา มีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อได้เรียนรู้เครื่องมือในการประนีประนอมแล้ว ก็จะทำให้เกิดทักษะในการประนีประนอมได้ดีมากยิ่งขึ้น
"พระสงฆ์เป็นผู้ประนีประนอมจะเกิดความเชื่อมั่นแก่คู่ขัดแย้ง เพราะท่านมิได้มีได้มีเสียจากการทำหน้าที่ อีกทั้งถือเป็นบทบาทสำคัญที่พระสงฆ์จะสามารถดำเนินการสร้างสันติภาพตามแนวที่พระพุทธเจ้าได้เคยแสดงบทบาทนี้มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คุณสมบัติเหล่านี่คือจุดเด่นทำให้หัวหน้าศาลตระหนักรู้คุณค่าดังกล่าวของพระและนิสิตในหลักสูตรสันติศึกษา จึงได้ตั้งเป็นผู้ประนอมประจำศาล เพื่อช่วยเหลือศาลประนีประนอมในกรณีต่างๆ" ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวและว่า
และเมื่อวันที่ ๙ เมษายนที่ผ่านมา พระมหาหรรษาได้นำคณะนิสิตส่วนหนึ่งเข้าพบกับนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อสนทนาธรรมเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการจัดหลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษา ภายใต้การลงนามความร่วมมือระหว่างมหาจุฬาฯ สำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า ในช่วงตลอดระยะเวลา ๑ ปีกว่าที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้มอบวิทยานิพนธ์และสารนิพนธ์ จำนวน ๒๗ เล่ม ของนิสิตที่ผ่านการสอบจบและเตรียมเข้ารับปริญญาบัตร เพื่อเก็บในห้องสมุดของสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับการค้นคว้าต่อไป และได้อนุโมทนาขอบคุณนายปรัชญา อยู่ประเสริฐ ซึ่งทำงานอยู่ในสำนักระงับข้อพิพาทฯ และมาทำหน้าที่เชื่อมประสาน และบรรยายถวายความรู้แก่นิสิตตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนนำไปสู่การร่วมมือที่ประสบความสำเร็จด้วยดีเสมอมา
หลังจากนั้นได้พบปะและสนทนาธรรมด้วยสาราณียธรรมกับนายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา ในฐานะที่เป็นผู้ลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาหลักสูตรสันติศึกษาในปี ๒๕๕๖ เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งได้ให้การสนับสนุนหลักสูตรมาโดยตลอดสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้น และให้ความสำคัญต่อการจัดการข้อพิพาททางเลือกโดยการการประนีประนอมผ่านการทำงานของสำนักระงับข้อพิพาท ซึ่งมีนายอดุลย์ ขันทอง ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา สนับสนุนกิจกรรมของสำนักระงับฯ และเป็นอาจารย์สอนในหลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษาตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา อีกทั้งจัดพื้นที่ให้นิสิตได้ไปฝึกปฏิบัติงานในศาลต่างๆ เพื่อให้เกิดทักษะในการทำงานด้านการประนีประนอมข้อพิพาท ในนามของผู้อำนวยการโครงการฯ ภายใต้การบัญชาการของอธิการบดี ขออนุโมทนาขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังได้พบปะสนทนาธรรมและอนุโมทนาขอบคุณสถาบันพระปกเกล้า โดยมีนายวิทวัสชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้ให้การต้อนรับในนามของ รศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ภายใต้การประสานงานของพลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
"ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภายหลังที่ ศ.กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาจุฬาฯ และสำนักงานศาลยุตธรรม เพื่อพัฒนาหลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษาร่วมกันแล้ว สถาบันพระปกเกล้าได้ให้คณาจารย์มาร่วมพัฒนาวิศวกรสันติภาพด้วยดีเสมอมาตลอดเวลาลา ๒ ปี ไม่ว่าจะเป็น ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รศ.วุฒิสาร ตันไชย พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ และดร.ถวิลวดี บุรีกุล มาบัดนี้หลักสูตรปริญญาโท สันติศึกษาจึงได้เดินทางมามอบวิทยานิพนธ์และสารนิพนธ์จำนวน ๒๗ เล่มของนิสิตที่ผ่านการสอบจบแล้วให้แก่สถาบันพระปกเกล้า เพื่อใช้เป็นเครื่องมือศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ด้านสันติวิธีแก่สังคมต่อไป" พระมหาหรรษา กล่าว
นับได้ว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนอกจากจะมีหน้าที่ในการประสิทธิประสาทความรู้ด้านพระพุทธศาสนาและบูรณาการเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่แล้ว ยังมีหน้าที่ในการให้บริการสังคม ซึ่ง "วิศวกรสันติภาพ" ก็จะเป็นอีกบทบาทหนึ่งในการสร้างสันติภาพตั้งแต่ระดับเล็กๆคือตัววิศวกรสันติภาพเองแล้วขยายวงกว้างไปเรื่อยๆจนกระทั้งการสร้างสันติภาพโลก หากสนใจศึกษาหลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษาสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ www.ps.mcu.ac.th หรือหมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๑ ๔๕๗ ๖๒๒๖