พระเครื่อง

อะลามเทียะกี้(ธงตะขาบ)เครื่องรางจากสงกรานต์'มอญ-รามัญ'

13 เม.ย. 2558

อะลามเทียะกี้(ธงตะขาบ)เครื่องรางจากสงกรานต์'มอญ-รามัญ' : พระองค์ครู เรื่อง/รูป โดยไตรเทพ ไกรงู

             "สงกรานต์" ในความเข้าใจของหลายๆ คนอาจจะคิดกันว่า เป็นเอกลักษณ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อหันไปดูประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลาว กัมพูชา พม่า จีนสิบสองปันนา รวมถึงชาวรามัญ หรือชาวมอญ ก็มีประเพณีสงกรานต์เช่นกัน โดยยังคงมีการสืบสานประเพณีสงกรานต์แบบฉบับมอญในอดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

             เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวมอญในเทศกาลสงกรานต์ คือ การจัดขบวนแห่หงส์และแห่ธงตะขาบไปถวายวัด เพื่อผลัดเปลี่ยนประดับเสาหงส์อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของวัดมอญ ในวันปีใหม่ เป็นประเพณีที่ชาวมอญจัดขึ้นในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์

             ชาวมอญจะช่วยกันประดิษฐ์หางหงส์ มีความยาวประมาณ ๓-๑๐ เมตร ทั้งนี้ ชาวมอญเรียกประเพณีนี้ว่า แห่ฮะต๊ะโน่ หรือเรียกสั้นๆ ว่า แห่โน่ หมายถึง แห่หงส์ ในภาษามอญ ฮะต๊ะ แปลว่า หาง ส่วน โน่ แปลว่า หงส์

             ประเพณีถวายธงตะขาบ การถวายธงตะขาบเป็นประเพณีที่ชาวมอญ-รามัญถือปฏิบัติกันในเทศกาลวันสงกรานต์ กระทำกันที่เสาหงส์หน้าเจดีย์ หรือ โบสถ์ วิหารอันเป็นสัญลักษณ์ของชาวรามัญแห่งหงสาวดี เสาหงส์ทำด้วยไม้กลมหรือเหลี่ยมมีเสาประกบคู่ประดับด้วยบัวหัวเสา ที่ปลายเสามีรูปหงส์ทรงเครื่องหล่อด้วยโลหะยืนอยู่ปลายเสากางปีกทั้งสองข้าง   

             แต่เดิมธงตะขาบเป็นธงกระดาษ ต่อมาเปลี่ยนเป็นผ้า ปัจจุบันใช้เชือกเป็นเส้นขอบผูกขวางคั่นด้วยซี่ไม้ไผ่เป็นช่วงๆ ใช้เสื่อผืนยาวปิดทับแทนผ้าหรือกระดาษเป็นลำตัว ปลายไม้ที่ยื่นสองข้างทุกซี่ประดับด้วยช้อนผูกห้อยแทนขา สลับกับพู่กระดาษเพื่อความสวยงาม หัวและหางสานผูกด้วยโครงไม้ปิดกระดาษสี จะทำกี่ตัวแล้วแต่กำลัง

             หลังจากทำเสร็จแล้ว ในตอนบ่ายก็จะมีการแห่ธง โดยช่วยกันจับขอบธงตลอดทั้งผืน แห่ธงไปตามหมู่บ้าน มีขบวนเถิดเทิงกลองยาวประกอบขบวน เสร็จแล้วนำมาทำพิธีถวายธงที่หน้าเสาหงส์ แล้วชักขึ้นสู่ยอดเสา เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า และสืบสานประเพณีต่อมาจนถึงทุกวันนี้

             สำหรับชุมชนมอญที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น คือ ชุมชนมอญบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ชุมชนมอญคลองสิบสี่ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ ชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ชุมชนมอญพระประแดง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ชุมชนมอญสามโคก อ.เมือง จ.ปทุมธานี ชุมชนมอญมหาชัย วัดเกาะบางปลา อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ชุมชนมอญเกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

             ชุมชนมอญกระทุ่มมืด อยู่ระหว่าง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี และ อ.บางเลน จ.นครปฐม ชุมชนมอญ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนมอญลำพูน ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน (วัดหนองดู่และวัดเกาะกลาง) และชุมชนมอญบ้านใหม่ จ.นครสวรรค์ โดยเฉพาะที่วัดสโมสร ต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ซึ่งจัดให้มีประเพณีแห่งหางหงส์ธงตะขาบทุกๆ ในวันที่ ๑๔ เมษายน โดยจัดมาเป็นปีที่ ๑๓ แล้ว และถือว่าเป็นงานใหญ่ของ จ.นนทบุรี เลยทีเดียว

             อย่างไรก็ตาม หลังจากเสร็จงาน ในวันรุ่งขึ้น หรือ หลังเสร็จงาน ๓ วัน มีคนจำนวนไม่น้อยเก็บ "ธงตะขาบ" แขวนหรือใส่กรอบบูชาไว้ โดยมีคติความเชื่อเช่นเดียวกับ "ธงจระเข้ ธงมัจฉานุ ที่ใช้ในงานบุญทอดกฐิน มีคุณด้านเรื่องค้าขาย" นอกจากนี้ "ธงตะขาบยังช่วยพิทักษ์ทรัพย์" อีกด้วย

             นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า "การเก็บธงตะขาบถ้าเป็นธงตะขาบที่เก็บหลักจากฝนตกยิ่งขลังเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะได้น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากพระอินทร์เทวดา"