ปี๕๘ในวันที่พระสอนศีลธรรมชี้วิถีโลกบอกวิถีธรรม
มหกรรมส่งเสริมศีลธรรมของมจร.ปี๕๘ในวันที่พระสอนศีลธรรม "ชี้วิถีโลกบอกวิถีธรรม" : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
“มหกรรมส่งเสริมศีลธรรมและการประกวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านพระพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพระสอนศีลธรรมที่เปิดโอกาสให้พระสอนศีลธรรม นักเรียนและสถานศึกษาได้มีโอกาสนำเสนอผลงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านคุณธรรมจริยธรรมและร่วมจัดกิจกรรมวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ อาคารหอประชุม มวก.๔๘ พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ได้มีพิธีเปิดงานเสวนา “แนวทางความร่วมมือการสนับสนุนการสอนพระพุทธศาสนาของพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษา” โดยมีตัวแทนพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจากทั่วประเทศ จำนวน ๓,๐๐๐ รูป ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ๗๖ จังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ๗๖ จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และศึกษานิเทศก์เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
ในการจัดทำโครงการเสวนา “แนวทางความร่วมมือการสนับสนุนการสอนพระพุทธศาสนา ของพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษา” และจัดงานมหกรรมส่งเสริมศีลธรรมและการประกวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านพระพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการสนับสนุนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาของหน่วยงานหลัก ๕ หน่วย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา ตลอดจนต้องการชี้แจงการขับเคลื่อนงานมหกรรมส่งเสริมศีลธรรมที่จะเกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน ๒๕๕๘ นี้ และเพื่อเผยแผ่และประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
การจัดการเรียนรู้วิชาพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยศีลธรรม เป็นกระบวนการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๒๗ ที่กำหนดให้มีการจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อเนื่องจากสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนามุ่งทำให้ผู้เรียนมีความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติตลอดถึงสนองนโยบายที่คณะรัฐบาลปัจจุบันได้รณรงค์ให้คนไทยได้ประพฤติปฏิบัติในค่านิยมหลักความเป็นไทย ๑๒ ประการ พระสงฆ์จึงเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการจัดการเรียนรู้เรื่องศีลธรรมและคุณค่าของความเป็นไทยนั้น
พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร. กล่าวว่า มจร. ในฐานะมหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ไทยอยู่ในกำกับของรัฐบาล ที่ผ่านมา ได้ร่วมส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทางพระพุทธศาสนาเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันรัฐบาลได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยบริหารโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนซึ่งมีพระสงฆ์ในแต่ละท้องถิ่นเข้าไปช่วยสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน ๑๘,๐๐๐ รูป
ปัจจุบัน มจร.ได้ส่งเสริมสนับสนุนพระสงฆ์เข้าไปช่วยสอนวิชาพระพุทธศาสนา อบรมศีลธรรมจรรยา สอนธรรมศึกษา และร่วมพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธตามความประสงค์ของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักเรียนตามเวลาอันสมควร นักเรียนได้รับความรู้ตามหลักปริยัติ แต่ยังขาดการปฏิบัติ และทักษะในการดำเนินชีวิตตามแนวทางวิถีพุทธ ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านพระพุทธศาสนา จึงจะได้ผลครบตามหลักปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
“เพื่อเป็นการพัฒนาผู้เรียนด้านพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง มจร.จึงได้จัดงานมหกรรมส่งเสริมศีลธรรมและประกวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านพระพุทธศาสนาขึ้นเปิดโอกาสให้พระสอนศีลธรรม นักเรียน และสถานศึกษาได้มีโอกาสนำเสนอผลงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านคุณธรรมจริยธรรมและร่วมจัดกิจกรรมวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา โดยผลผลิตจากการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านพระพุทธศาสนานี้จักส่งเสริมนักเรียนผู้ทำกิจกรรมให้มีความเป็นผู้นำ กล้าแสดงออก มีความรับผิดชอบ รู้จักแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา มีความช่วยเหลือแบ่งปันเอื้ออาทรสมานฉันท์และผลานิสงส์ที่เกิดจากความสามัคคีธรรม” พระพรหมบัณฑิต กล่าว
หน้าที่และบทบาทของพระสอนศีลธรรม
พระครูปลัดสุวัฒนบัณฑิตคุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพระสอนศีลธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บอกว่า กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มาตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๘-๒๕๕๐ เมื่อได้รับมอบโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนพร้อมทั้งงบประมาณมาแล้ว เพื่อให้การดำเนินงานโครงการพระสอนฯ มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อันพึงประสงค์คือนักเรียนได้รับการปลูกฝังในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมจากพระสอนฯ โดยตรง และคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับ จึงได้เตรียมแผนปฏิบัติการรองรับการดำเนินการโครงการอย่างเป็นระบบ
ได้ดำเนินการประสานงานกับคณะสงฆ์ สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการประชาสัมพันธ์โครงการ และจัดอบรมถวายความรู้เพิ่มประสิทธิภาพพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อสร้างศักยภาพในการทำงานให้เป็นที่ยอมรับของสถานศึกษา และเพื่อปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่นักเรียนได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา อย่างถูกต้องพร้อมกับมีความประพฤติที่ดีงาม
โดยได้จัดแผนการดำเนินการโครงการซึ่งมีกระบวนการบริหารโครงการดังนี้ ๑.จัดประชุมคณะกรรมการโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ๒.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ/อำนวยการโครงการพระสอนฯ ทั่วประเทศ ๓.การปฐมนิเทศพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ ๔.การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเข้มข้นวิทยากรแกนนำโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ๕.การอบรมพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ๖.การจัดทำคู่มือ หนังสือการจัดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๔๔ และพัฒนาเว็บไซต์โครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน ๗.การวิจัย ๘.การนิเทศ การติดตามประเมินผล ๙.การจัดถวายค่าตอบแทน ๑๐.การรับสมัคร/การคัดเลือกพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศ
"สำหรับครูพระสอนศีลธรรมมี ๒ ส่วน คือ ฝ่ายมหานิกาย ๑๘,๐๐๐ รูป และ ธรรมยุติ อีกประมาณ ๖,๗๐๐ รูป โดยมีภาระกิจหลัก คือ สอนพระทธศาสนาและศีลธรรมเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปีที่ ๖ โครงการนี้เป็นโรงการระยะยาวที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องศีล ๕" พระครูปลัดสุวัฒนบัณฑิตคุณ กล่าว
ชี้วิถีโลกบอกวิถีธรรม
"ในอดีตเด็กอาจจะไม่ชอบเรียนวิชาพระพุทธศาสนาและศีลธรรม แต่ปัจจุบันครูพระสอนศีลธรรมแต่ละรูปล้วนมีความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลก ชนิดที่เรียกว่ามีความรู้ทั้ง ๒ ด้าน ที่สำคัญ คือ เด็กมีความเข้าวิชาพระพุทธศาสนาและศีลธรรมว่า สามารถใช้ได้ตลอทั้งชีวิต"
นี่คือความรู้สึกของพระครูพระมหาภิรัฐกรณ์ อํสุมาลี (พันนาวา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธาตุ พระอารามหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์เลย และเลขานุการศูนย์อำนวยการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๙ มจร.วิทยาเขตขอนแก่น
พระครูพระมหาภิรัฐกรณ์ ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันพระสอนศีลธรรมที่ว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายค่านิยม ๑๒ ประการของ คสช. และ นโยบายหมู่บ้านศีลห้า ของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นเองท่น่าเสียดายสำหรับวิชาพระพุทธศาสนาและศีลธรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของวิชาสังคม ภายในหนึ่งสัปดาห์เด็กได้เรียนรู้เพียง ๑ ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กในวันนี้ขาดเรื่องศีลธรรมและคุณธรรม สิ่งที่ตามมาคือปัญหาสังคมที่ผู้ใหญ่ต้องตามแก้ไข