ไปร่วมงานบวชจะได้บุญมากกว่านั่งสมาธิภาวนาหรือไม่
ไปร่วมงานบวชจะได้บุญมากกว่านั่งสมาธิภาวนาหรือไม่ : ปุจฉา-วิสัชนากับบายไลน์ พระไพศาล วิสาโล
ปุจฉา : พระอาจารย์คะ หนูขอกราบเรียนถามเรื่องความสำคัญของการไปงานบวชค่ะ ก่อนอื่นเลยต้องขอเรียนก่อนว่า หนูเป็นคนไม่ยึดติดในพิธีกรรม พิธีการใดๆ มากนัก เนื่องจากเน้นที่การปฏิบัติกายใจ เพียงแค่บรรลุผลที่การไม่ทุกข์ใจ เน้นละวางการยึดติด ส่วนมากก็มักเอาตามที่สะดวกจะทำ ยึดหลักๆ ก็ตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน ทาน ศีล ภาวนา
อย่างไรก็ตาม ก็มักจะถูกสอนจากมิตรว่า ต้องไปงานบวชเพื่อรับพลังอานิสงส์การบวชด้วย ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่สถานที่ วัน หรือเวลาที่หนูสะดวกนัก ซึ่งหากมีโอกาสละจากกิจธุระการงาน แล้วต้องเลือกระหว่าง ไปงานบวช กับการเลือกไปนั่งสมาธิปฏิบัติเองในที่เงียบสงบ ก็จะได้รับคำตอบจากญาติมิตรว่า การได้ไปงานบวช ได้อานิสงส์ผลบุญมากกว่า
หนูข้องใจในเรื่องนี้มาก อาจจะด้วยการที่หนูไม่ได้เชื่อในสิ่งที่ถูกบอกกล่าวมากนัก จึงอยากขอความกรุณาพระอาจารย์ช่วยไขข้อข้องใจด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ
วิสัชนา : การไปงานบวชจะได้บุญก็ต่อเมื่ออนุโมทนาในการทำความดีของผู้บวช (ความดีดังกล่าวก็คือการบวชหรือการละโลกเพื่อเข้าหาธรรม) เรียกบุญดังกล่าวว่า ปัตตานุโมทนามัย บุญยังเกิดจากการสละเงินและแรงงานเพื่อช่วยงานบวช ซึ่งเป็นการช่วยเหลือส่วนรวมอย่างหนึ่ง เรียกบุญดังกล่าวว่า ทานมัยและไวยาวัจจมัย แต่หากไปงานบวชเฉยๆ โดยไม่ได้ทำสิ่งดังกล่าวเลย ก็จะได้บุญน้อย อย่างไรก็ตามความดีดังกล่าวเราทำที่ไหนก็ได้บุญทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องไปทำในงานบวชก็ได้
ความคิดว่าไปงานบวชแล้วจะได้รับพลังหรืออานิสงส์จากการบวชโดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังได้บุญมากกว่าการทำสมาธิภาวนา เป็นความเชื่ออย่างใหม่ที่อาตมาเพิ่งได้ยิน หากพูดถึงคำสอนทางพุทธศาสนาแล้ว การทำกรรมฐานหรือสมาธิภาวนา ย่อมมีอานิสงส์มากกว่าการไปร่วมงานบวช เพราะเป็นการฝึกจิตขัดเกลากิเลสโดยตรง
ในเรื่องนี้พึงระลึกว่า บุญในพุทธศาสนาเกิดจากทาน ศีล ภาวนา เป็นสำคัญ (ซึ่งสามารถกระจายเป็น ๑๐ ประการ โดยรวม ไวยาวัจจมัย และปัตตานุโมทนามัยไว้ด้วย) หากไปงานบวชแล้ว เพียงแค่ร่วมพิธีกรรมเฉยๆ แต่ไม่ได้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ก็หาได้บุญไม่ จะว่าไปแล้วความคิดว่าการร่วมพิธีกรรมเฉยๆ แล้วจะได้บุญนั้น เป็นรูปแบบหนึ่งของสีลัพพตปรามาส (การถือศีลหรือยึดติดในข้อปฏิบัติด้วยความหลงหรือกิเลส) ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุธรรม
สายด่วนให้คำปรึกษาทางจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย ‘เตรียมตัวก่อนสู่วาระสุดท้ายของชีวิต จะทำอย่างไรดี’ ปรึกษาได้ที่ โทร.๐๘-๖๐๐๒-๒๓๐๒