พระเครื่อง

อารยสถาปัตยกรรมล้านนา@วัดพิพัฒน์มงคลอ.ทุ่งเสลี่ยม

อารยสถาปัตยกรรมล้านนา@วัดพิพัฒน์มงคลอ.ทุ่งเสลี่ยม

21 ส.ค. 2558

อารยสถาปัตยกรรมล้านนา@ วัดพิพัฒน์มงคล อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย : ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

             วัดพิพัฒน์มงคล ตั้งอยู่เลขที่ ๔๖๔ หมู่ ๙ บ้านท่าชุม ต.ทุ่งเสลี่ยม (ตำบลกลางดง เขต ๑ ในเขตปกครองคณะสงฆ์) อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย มีหลวงพ่อพิพัฒน์มงคล หรือครูบาญาณทิพย์ เจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยมเป็นเจ้าอาวาส

             ทั้งนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ครูบาญาณทิพย์ (พระครูวรคุณประยุต หรือพระพิพัฒน์มงคล คุณยุตฺโต) ได้จาริกธุดงค์มาพักค้างแรมตรงบริเวณที่สร้างวัด ได้นิมิตเห็นพระเจ้าแสนคำฟูว่าสถานที่ดังกล่าวเคยเป็นวัดร้างโบราณมาก่อน ให้ท่านเริ่มสร้างขึ้นเพื่อให้วัดมีที่ร่มรื่นสวยงาม โดยริเริ่มสร้างวัดพัฒนาเรื่อยมา โดยมีท่าน ร.ต.ชาญชัย ใจใส ปลัดจังหวัดสุโขทัยในสมัยนั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ช่วยกันดำเนินการยกเป็นวัดได้สำเร็จ

             ขณะนี้อาคารเสนาสนะภายในวัดประกอบด้วย รัตนอุโบสถ (โบสถ์แก้ว) พุทธวิหารลายคำ วิหารล้านนา เจดีย์ อาคารสุวรรณหอคำหลวง กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ศาลาอบรมธรรม ศาลาอเนกประสงค์ อาคารเรียนพระปริยัติธรรม อาคารพิพิธภัณฑ์โบราณ ศาลาราย โรงครัว พุทธมณฑจำลอง สวนปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ หอประชุมคณะสงฆ์ และธรรมศาลา (ศาลาปฏิบัติธรรม) ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย เนื้อทองคำ นาก เงิน พระพุทธรัตนมณี ซึ่งขุดพบได้บริเวณสร้างวัดและพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา

             รวมระยะเวลาเพียง ๓๐ ปี ที่ครูบาญาณทิพย์ได้เริ่มพัฒนาวัดสร้างกลางทุ่งนาบนเนื้อที่ ๒๒ ไร่ จากปัจจัยเพียง ๑๘๐ บาท จนปัจจุบันมีเนื้อที่ ๑๙๙ ไร่ มีเสนาสนะ ถาวรวัตถุต่างๆ มูลค่าหลายร้อยล้าน มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง มีอาคารที่ศิลปะล้านนาไทยหนึ่งเดียวของภาคเหนือตอนกลาง ภาคกลางตอนบน มีมูลค่ายากที่จะคณานับ ความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงด้วยปรัชญาของพระครู คือ ศึกษา ปฏิบัติ พัฒนา

             วัดพิพัฒน์มงคลผ่านกาลเวลาในอดีตที่ยาวนานจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ กุศลฉันทะของบรรพชนในอดีตที่ได้สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อสมัยก่อนและการบูรณะพัฒนาวัดขึ้นมาบนรากฐานของร่องรอยอารยธรรมโบราณในปัจจุบันนี้ เป็นแนวคิดอันเดียวกัน คือต้องการให้วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของศรัทธาสาธุชน เพื่ออบรมคุณธรรมยกระดับจิตใจของบรรพชิตและฆราวาสญาติโยมให้สูงขึ้น พร้อมที่จะถวายการอุปถัมภ์บำรุงพระบวรพุทธศาสนาภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ให้เจริญรุ่งเรืองคู่กับเมืองไทยไปตลอดจิรัฐิติกาล ฯ

             การเดินทางไปวัดพิพัฒน์มงคล ออกจากกรุงเทพมหานครโดยเส้นทางหลักที่ใช้ คือ วิ่งถนนสายเอเชีย (ทางหลวง ๓๒) ผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา จ.อ่างทอง จ.สิงห์บุรี จ.ชัยนาท จ.อุทัยธานี จ.นครสวรรค์ จากนั้นตัดไปทางถนนหลวงหมายเลข ๑๑๗ ผ่าน จ.พิจิตร และจ.พิษณุโลก ก่อนตัดเข้าถนนหลวงสาย ๑๒ เข้า จ.สุโขทัย ทาง อ.กงไกรลาส ผ่าน อ.ศรีสำโรง อ.เมือง (ทางไป จ.ตาก)

             มีป้ายของวัดที่ทางการท่องเที่ยวติดบอกตลอดทาง โทร.๐-๕๕๖๕-๙๐๗๒, ๐-๕๕๖๕-๙๑๖๔ และ ๐๘-๑๒๘๐-๖๓๓๐

             อีเมล [email protected]
 
สมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องจักรพรรดิ
 
             สมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่องจักรพรรดิ ขนาดหน้าตัก ๖๐ นิ้ว ประดับด้วยอัญมณีสวยงามที่สุดใน จ.สุโขทัย พระวรกายเป็นทองสำริด พระเศียรโมลีเป็นทองคำแท้

             ตามประวัติเล่าว่า ผู้สร้างถวายคือท่านพ่อมาตาจี การุณมณี สำนักเทวสถาน เทวาลัย เทพนิมิต มณเฑียร พุทธจักร เพชรวิมานทอง พรหมวิมาน รามเทพ พร้อมด้วยเหล่าคณะศิษย์ทั้งหลาย ผู้เปี่ยมด้วยศรัทธา พากันตามหาวัดที่เหมาะสมทั่วราชอาณาจักรเพื่อจะประดิษฐานองค์พระศรีอาริยเมตไตรย

             เมื่อไป ณ ที่ใด ก็ไม่อาจพบสถานที่ที่เหมาะสมที่จะประดิษฐานได้ คณะศิษย์ จึงได้รายงานให้ท่านพ่อทราบ ท่านพ่อได้เดินทางตามหาวัดที่เหมาะสมด้วยตนเอง ท่านได้อธิษฐานจิตตามหาวัดอยู่หลายวัดทั้งภาคใต้ กลาง เหนือ และอีสาน แต่ก็ไม่พบวัดตามที่ปรารถนา

             ต่อมาท่านได้จุดธูปอธิษฐานขอให้เทพเทวดาชี้ทางให้พบวัดที่เหมาะสมที่จะประดิษฐานองค์พระ ประกายแสงทองจึงส่องนำทางท่านมายังวัดแห่งนี้ และเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมที่จะประดิษฐานสมเด็จองค์ปฐมพระศรีอาริยเมตไตรยกายทิพย์ จึงนำมาถวายไว้ในมหาศาลาพุทธานุภาพแห่งนี้เพื่อมาโปรดสาธุชนทั้งหลาย ให้อธิษฐานจิตบริสุทธิ์กราบไหว้บูชา เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ยากลำบาก ปราศจากอุปสรรคนานาประการ ประสบผลสำเร็จตามที่ปรารถนา
 
ปฐมเหตุแห่งการสร้างวัด
 
             วัดพิพัฒน์มงคล เดิมเป็นวัดร้างกลางทุ่งนาไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ แต่พบเพียงรากฐานอุโบสถ เจดีย์โบราณ ซึ่งจมอยู่ใต้พื้นดินลึกลงไปประมาณ ๑.๕๐ เมตร ตรงใจกลางวัดในปัจจุบัน ครูบาญาณทิพย์ หรือหลวงพ่อพิพัฒน์มงคล ครั้งได้จาริกธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ทั่วทั้ง ๔ ภาคของประเทศไทย ได้มีโอกาสธุดงค์ผ่านมาทาง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย

             ขณะมานั่งปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐานพักแรมตรงสถานที่วัดพิพัฒน์มงคลในปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ได้เห็นนิมิตว่ามีเจ้าที่พ่อขุนงามเมือง พ่อขุนเรืองอำนาจ พระเจ้าแสนคำฟู ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์ที่เคยสร้างเมืองเวียงมอก ณ สถานที่ตรงนี้ มีหลักฐานเป็นรากฐานเจดีย์และกำแพงเมืองโบราณที่บ้านหอรบ เขตขั้นระหว่าง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย กับ อ.เถิน จ.ลำปาง สันนิษฐานว่าเป็นเขตแดนระหว่างกรุงสุโขทัยกับหัวเมืองล้านนาในอดีตมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

             ในนิมิตนั้นได้มีพ่อขุนงามเมือง พ่อขุนเรืองอำนาจ พระเจ้าแสนคำฟู และเทพพารักษ์ที่ดูแลรักษาสถานที่แห่งนี้ มาอาราธนาให้ท่านครูบาสร้างวัดขึ้นมาใหม่ โดยขอให้ครูบารับปากแล้วจะมีบริวารเก่าของพ่อขุนมาช่วยบำรุงให้สำเร็จ ครูบาญาณทิพย์ ได้อธิษฐานส่งกระแสจิตแผ่เมตตาอาราธนาคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ช่วยดลบันดาลให้ได้ทราบว่าสามารถสร้างวัดได้จริงหรือไม่ วันรุ่งขึ้นได้ร่วมกับศรัทธาสาธุชนผู้เลื่อมใสเริ่มพัฒนาบูรณะวัดขึ้นมาใหม่

             ขณะที่กำลังสร้างวัดอยู่นั้นได้ขุดพบพระพุทธรูปเนื้อทองคำโบราณมีพระรัศมีเรืองฤทธิ์ (พระพุทธสุโขทัยโพธิ์ทอง) พระพุทธรูปเนื้อนาก พระพุทธรูปเนื้อเงิน พระพุทธรัตนชาติ และวัตถุมงคลต่างๆ มากมาย ซึ่งมีเรื่องเล่าในหมู่ชาวบ้านละแวกนี้ว่าตรงบริเวณดังกล่าวทุกวันพระ ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านมักพบเห็นแสงคล้ายลูกแก้วล่องลอยวนเวียนไปมาอยู่ประจำ เคยมีชาวบ้านหลายครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถวนี้แต่ก็อยู่ไม่ได้นานก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น

             ด้วยสิ่งศักดิ์นสิทธิ์ทั้งหลายที่ถูกค้นพบและด้วยบารมีธรรมของครูบาญาณทิพย์ และด้วยแรงศรัทธาของสาธุชนและผู้ศรัทธา ได้ร่วมกันพัฒนาวัดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง พร้อมทั้งได้รับอนุญาตจากกรมศาสนาให้สร้างวัด ถัดจากนั้นมาเพียง ๑ ปี ก็ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัดสมบูรณ์ได้ โดยใช้ชื่อว่า วัดพิพัฒน์มงคล ตามมงคลนามของครูบาญาณทิพย์ (หลวงพ่อพิพัฒน์มงคล) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
 

อารยสถาปัตยกรรมล้านนา@วัดพิพัฒน์มงคลอ.ทุ่งเสลี่ยม