
เหรียญหลวงปู่ช้างวัดเขียนเขตหายากอันดับหนึ่งของเมืองปทุม
เหรียญหลวงปู่ช้างวัดเขียนเขตหายากอันดับหนึ่งของเมืองปทุมธานี : ปกิณกะพระเครื่องโดย.........ฐกร บึงสว่าง
วัดเขียนเขต หรือที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “วัดเขียน” ตั้งอยู่ที่หมู่ ๒ ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ริมฝั่งคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ติดถนนรังสิต-นครนายก
วัดเขียนเขต สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ โดย หม่อมเขียน หม่อมใน พระเจ้าวรวงศ์เธอเจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด แรกเริ่มเป็นเพียงสำนักสงฆ์ มีหลวงพ่อดำ เป็นเจ้าสำนัก โดยใช้วัสดุหาง่ายมาใช้ในการสร้างสำนัก
หม่อมเขียนพร้อมด้วยเครือญาติและชาวบ้านในท้องถิ่นเห็นความลำบากของพระเณรที่จำพรรษา จึงร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างกุฏิเป็นทรงไทยขึ้นใหม่รวม ๖ หลัง เพื่อเป็นพุทธศาสนาสมบัติเป็นวัดชื่อ “วัดสาลีเขตาราม” มีความหมายว่า “อารามอันเป็นเนื้อนาบุญแห่งข้าว” (ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พระราชทานหรือให้นามวัดไว้)
เนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งหลวงรังสิต ซึ่งเต็มไปด้วยข้าวกล้าและธัญญาหารหลวงพ่อดำ จึงเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๔๕ หม่อมเขียนได้ทูลขอพระบรมราชานุญาต ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาและได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๕ (ร.ศ.๑๒๑) พ.ศ.๒๔๖๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สกลมหาสังฆปริณายก ได้เสด็จมาพักที่วัดนี้ ในคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์จ.ธัญบุรี (สมัยนั้น) พ.ต.ม.ร.ว.สุวพรรณ (ใหญ่) สนิทวงศ์ และพล.อ.เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์) ได้ทูลขอเปลี่ยนนามวัดใหม่ให้เหมาะสมกับผู้ที่ริเริ่มสร้างวัด คือ หม่อมเขียน ซึ่งเป็นมารดา
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพิจารณาเห็นว่าหม่อมเขียน เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดโดยบริจาคทรัพย์ส่วนตัว กับทั้งได้บริจาคที่ดินของตนให้สร้างเป็นวัด พระองค์ทรงเปลี่ยนนาม “วัดสาลีเขตาราม” ให้ใหม่ว่า “วัดเขียนเขต” ความหมายว่า “อารามอันเป็นเนื้อนาบุญของหม่อมเขียน”
วัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ อ.ธัญบุรี ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช กล่าวคือ เป็นสถานที่ประกอบ พิธีพิพัฒน์สัตยาญาณ โดยเจ้าเมืองธัญบุรี ได้นำข้าราชการของ อ.รังสิต อ.คลอง อ.หนองเสือ และอ.ลำลูกกา ดื่มน้ำสาบานที่พระอุโบสถวัดเขียนเขต โดยมี พระครูธัญญาเขตเขมากร (หลวงปู่ช้าง) เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต ขณะนั้นเป็นประธาน
วัดเขียนเขต ถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญ กล่าวคือ ราชสกุล สนิทวงศ์ ได้สร้างขึ้น และบริจาคทรัพย์ในบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา
และกาลต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จมาใน พิธีถวายผ้าพระกฐิน ที่วัดเขียนเขต นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น
เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดเขียนเขต
พ.ศ.๒๕๒๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระนามาภิไธยย่อ ส.ธ. เพื่อประดิษฐาน ณ หน้าบันพระอุโบสถหลังใหม่ ต่อมา พระครูศรีธัญญาภรณ์ เจ้าคณะตำบลลำผักกูด (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต รูปปัจจุบัน ได้ปรึกษากับพุทธศาสนิกชน มีความเห็นชอบร่วมกันในอันที่จะขอพระราชทานยกฐานะวัดเขียนเขตขึ้นเป็น พระอารามหลวง เพื่อถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชศรัทธาพระราชทานพระนามาภิไธยย่อ ส.ธ. ประดิษฐาน ณ หน้าบันพระอุโบสถหลังใหม่ในโอกาสที่เฉลิมพระชนมายุครบ ๓ รอบ ๓๖ พรรษา ใน พ.ศ.๒๕๓๔
ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดเขียนเขต ขึ้นเป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นต้นมา เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต พระครูธัญญาเขตเขมากร บวรสมณาจารย์ สังฆาวหะ (หลวงปู่ช้าง) เจ้าคณะจังหวัดธัญบุรี เป็นเจ้าอาวาส ระหว่าง พ.ศ.๒๔๔๕-๒๔๘๑ พระครูธัญญวิจิตรเขมคุณ (หลวงพ่อเปลื้อง มาควิโก) เจ้าคณะอำเภอธัญบุรี เป็นเจ้าอาวาส ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๒-๒๕๑๒
พระครูอดุลธัญญาสาร (หลวงปู่จู ฐานงฺกโร) เป็นเจ้าอาวาส ระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๑๕
พระปลัดคุ่ย ธมมฺสีโล เป็นเจ้าอาวาส ระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๒๑
พระเทพรัตนสุธี (สมศักดิ์ โชตินฺธโร) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๒-ปัจจุบัน
ประวัติโดยสังเขป “หลวงปู่ช้าง”
เกิดวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๓๙๓ อุปสมบท ครั้งแรกเมื่ออายุ ๒๐ ปี ประมาณ ๓ พรรษา แล้วลาสิกขา อุปสมบท ครั้งที่ ๒ เมื่ออายุ ๔๔ ปี ณ วัดบางกระดี่ มรณภาพวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๒ รวมสิริอายุ ๘๙ ปี
วัตถุมงคลของ หลวงปู่ช้าง ประกอบด้วย ตะกรุด ผ้ายันต์ รูปถ่าย
สำหรับ เหรียญรุ่นแรก สร้างปี ๒๔๗๓ ในงานทำบุญอายุ ๘๐ ปี โดยได้นำเหรียญรุ่นนี้แจกแก่พระภิกษุและสามเณร ที่มาสอบนักธรรมตรี โท เอก และผู้ที่ร่วมทำบุญถวายภัตตาหาร
เหรียญรุ่นนี้สร้างด้วยเนื้อเงินและเนื้อทองแดงเท่านั้น ราคาเช่าหาในปัจจุบันถือว่าสูงค่ามาก คือ เหรียญเนื้อทองแดงอยู่ระหว่าง ๓-๕ แสนบาท เหรียญเนื้อเงิน ประมาณแสนปลายถึงล้านกว่า แล้วแต่ความสมบูรณ์และสวยงาม
จำนวนสร้างน้อยมาก น่าจะอยู่ในหลักร้อย แต่ไม่มีบันทึกเอาไว้โดยชัดเจน
เหรียญรุ่น ๒ สร้างปี ๒๔๘๒ แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ปลุกเสกโดย หลวงพ่อเหมือน วัดโรงหีบ ลักษณะของเหรียญรุ่นนี้คล้ายคลึงกับรุ่นแรก แต่มีการปรับแต่งแม่พิมพ์ให้มีความคมชัดมากขึ้น สร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า พุทธคุณ ที่เล่าสืบทอดกันมา ดีเด่นทุกด้าน โดยเฉพาะทางคงกระพันชาตรี
ที่สำคัญ คือ นับเป็นเหรียญที่หายากอันดับหนึ่งเมืองปทุมธานี