
๖๖ปีแห่งการละสังขารหลวงปู่มั่นกับโอวาทสุดท้าย
๖๖ปีแห่งการละสังขารหลวงปู่มั่นกับโอวาทสุดท้ายเตือนใจคนรุ่นหลัง : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยมนสิกุล โอวาทเภสัชช์
บันทึกของ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) จ.มุกดาหาร เล่าว่า ก่อนที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นจะทิ้งขันธ์ ท่านได้ให้โอวาทซึ่งถือว่าเป็นโอวาทครั้งสุดท้ายก็คงจะได้ ท่านบอกว่า ...ผู้ถือไม่มีบาป ไม่มีบุญ ก็มากมายเข้าแล้ว แผ่นดินนับวันแคบ มนุษย์แม้จะถึงตายก็นับว่ามากขึ้น นโยบายในทางโลกีย์ใดๆ ก็นับวันประชันขันแข่งกันขึ้น พวกเราจะปฏิบัติลำบากในอนาคต เพราะเนื่องด้วยที่อยู่ไม่เหมาะสม เป็นไร่เป็นนา จะไม่วิเวกวังเวง
“ศาสนาทางมิจฉาทิฐิก็นับวันจะแสดงปาฏิหาริย์ คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคและกระบือ ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม เหมือนไฟกำลังไหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลันเถิด ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาวัฏสงสาร ทั้งโลกภายในคือหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ทั้งโลกภายนอกที่รวมเป็นสังขารโลก ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาติดต่ออยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด ความเบื่อหน่ายคลายเมา ไม่ต้องประสงค์ ก็จะต้องได้รับแบบเย็นๆ และแยบคาย ด้วยจะเป็นสัมมาวิมุตติ และสัมมาญาณอันถ่องแท้ ไม่ต้องสงสัยดอก...พระธรรมเหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ ทรงอยู่ ในปัจจุบันจิต ในปัจจุบันธรรม ที่เธอทั้งหลายตั้งไว้อยู่ที่หน้าสติ หน้าปัญญาอยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวกันนั่นแหละ"
นี่คือ โอวาทครั้งสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตฺเถร บูรพาจารย์พระป่าในยุครัตนโกสินทร์ เมื่อ ๖๖ ปี ก่อนทีี่ท่านจะละสังขารเมื่อเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร
แม้ผ่านไปถึงหกสิบหกปีแล้วก็ตาม แต่โอวาทธรรมของท่านยังคงเตือนสติให้เราเห็นว่าภัยอันยิ่งใหญ่นั้น ไม่ใช่จากภายนอกเลย แต่เป็นภัยจากความประมาทในตัวเราเองที่ไม่ปฏิบัติจิตภาวนาจนรู้เห็นความจริงภายในใจ ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์นั่นเอง
เมื่อวันที่ ๘–๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์กรุงเทพฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดการเดินทางท่องเที่ยวเชิงศาสนาในลักษณะของบุญจาริก นำเราเดินทางไปสู่การตามรอยหลวงปู่มั่นในช่วง ๙ พรรษาสุดท้าย จาก ‘วัดป่ากลางโนนภู่’ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ไปจนถึงงานอาจาริยบูชา ๖๖ปี แห่งการละสังขารของท่านที่ ‘วัดป่าหนองผือ’ จ.สกลนคร โดยแวะพัก กางเต็นท์ เรียนรู้ปฏิปทาหลวงปู่มั่นที่พิพิธภัณฑ์ ในวัดป่าสุทธาวาสก่อนหนึ่งวัน โดยได้รับความเมตตาจากพระราชวิสุทธินายก (พระมหาพรมมา จตฺตภโย) เจ้าอาวาส ได้มอบหมายให้คณะสงฆ์นำทำวัตรสวดมนต์เย็น และเจริญจิตตภาวนาในยามค่ำ และ ทางคณะบุญจาริกก็ได้นำทำวัตรสวดมนต์เช้า และทำสมาธิพร้อมกันที่หน้าพิพิธภัณฑ์มั่นภูริทัตโต ก่อนที่จะเดินทางไปยังวัดป่าหนองผือ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘วัดภูริทัตตถิราวาส’ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน เพื่อไปร่วมงานอาจาริยบูชาร่วมกับศิษยานุศิษย์ของท่านที่เดินทางมาจากทั่วโลกอีกหลายพันคน
เมื่อไปถึง ทางคณะได้นำผู้ร่วมเดินทางไปกราบท่านพระครูสุทธธรรมมาภรณ์ (พระอาจารย์พยุง ชวนปญฺโญ ) เจ้าอาวาส ท่านได้ให้โอวาทธรรมในการมาภาวนาในครั้งนี้ และเล่ากิจกรรมของค่ำคืนแห่งการภาวนา ซึ่งมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ๔ รูปมาแสดงธรรม และพาดำเนินจิตตภาวนา หนึ่งในนั้นคือ หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย จ.อุดรธานี
การแสดงธรรมและบำเพ็ญจิตตภาวนาในค่ำคืนนั้นล่วงเลยมาจนกระทั่งประมาณเวลา ๐๓.๐๐ น. วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน การเทศน์กันฑ์สุดท้ายจึงจบลง หลายคนก็หลับไปก่อนแล้ว แต่ก็มีอีกหลายคนที่ตั้งใจบำเพ็ญภาวนาข้ามคืน และนำธรรมโอสถมาเล่าสู่กันฟังในยามเช้า ที่หน้ากุฏิหลวงปู่มั่น ซึ่งท่านอยู่จำพรรษาที่นี่ถึง ๕ ปี โดยมีหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นหนึ่งในพระอุปัฏฐากท่าน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการช่วยท่านสอนพระเณรจนเกิดวงศ์พระป่าพระกรรมฐานที่อาจหาญในธรรมมากมายตามรอยองค์ท่านไปทั่วโลกในทุกวันนี้
ดังฉายาของท่าน ‘ภูริทตฺตเถร’อันมีความหมายว่า “ผู้ให้ปัญญาประดุจดังแผ่นดิน”
และขอให้เราท่านทั้งหลายจงอย่าใช้ชีวิตดังคนไม่มีที่พึ่งทางใจเลย
ดังคำกล่าวของหลวงปู่มั่นว่า...
“ที่พึ่งอันอุดมมั่นคงนั้น คือให้ภาวนาน้อมรำลึกนึกถึง เอาพระคุณอันวิเศษของพระพุทธเจ้า พร้อมพระธรรมและพระอริยสงฆ์มาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ จึงจะเป็นการถูกต้อง สมกับที่พวกเราเป็นผู้รับนับถือเอาพระรัตนตรัยมาเป็นที่พึ่งประจำกายของตน และอีกอย่าง ให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักของอุบาสก อุบาสิกา คือ มีการให้ทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา”
เพียงเท่านี้ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว...
สนใจงานภาวนาอาจาริยบูชาพ่อแม่ครูอาจารย์-บุญจาริก กับหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ศึกษารายละเอียดได้ที่ http://www.bia.or.th/ โทร. ๐๙-๔๐๖๘-๘๓๘๖ (แก้ว) และ ๐๙-๔๖๗๒-๓๒๑๘ (ภัทร)