
ปิดตำนาน'ศิษย์เอกหลวงปู่หลิวเทพเจ้าพญาเต่าเรือน
หลวงพ่อเพชรวัดไทรทองมรณภาพปิดตำนาน'ศิษย์เอกหลวงปู่หลิวเทพเจ้าพญาเต่าเรือน' : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
พระครูวชิรกาญจนสาร หรือหลวงพ่อเพชรวัดไทรทองพัฒนา ต.จระเข้เผือก อ. ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี มรณภาพวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๘ ถือว่าเป็นการสูญเสียพระเกจิที่ขึ้นชื่อว่าปิดตำนาน “ศิษย์เอกหลวงปู่หลิว ปณฺณโก เทพเจ้าพญาเต่าเรือน”
หลวงพ่อเพชรร่ำเรียนวิชากับหลวงปู่หลิวจนสำเร็จและทำการแทนหลวงปู่หลิวได้ทุกอย่าง หลวงปู่หลิวจึงส่งหลวงพ่อเพชรมาจำพรรษา ณ วัดไทรทองพัฒนา ต.จระเข้เผือก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและด้วยผลงานการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งที่มีต่อวัด และชุมชน ทำให้หลวงพ่อเพชรได้เป็นเจ้าคณะตำบลและยังได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูวชิรกาญจนสาร เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๘
“วิเชียร พ่วงโสม” เป็นชื่อและนาสกุลเดิมของหลวงพ่อเพชร เกิดวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นบุตรของคุณพ่อชู พ่วงโสม และคุณแม่ดำ พ่วงโสม โดยท่านมีพี่น้องรวมกัน ๘ คนและท่านเป็นน้องสุดท้องพื้นเพเดิมท่านเป็นคนบ้านทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
ในวัยเยาว์ท่านได้เล่าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนอ้อประทุน ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อออกจากโรงเรียนแล้วท่านไปอยู่วัดสนามแย้เป็นเวลา ๒ ปี จากนั้นได้กลับมาช่วยที่บ้านทำไร่ทำนา พออายุได้ ๒๐ ปีท่านได้อุปสมบท ณ วัดศาลาตึกโดยมีหลวงพ่อลำเจียกเป็นพระอุปฌาม์ ได้รับฉายาว่า “สุภัคโท” ซึ่งหลวงพ่อลำเจียกเป็นพระเกจิอาจารย์ที่พื้นที่บริเวณใกล้เคียงวัดศาลาตึกนั้นรู้จักกันดี
เมื่อหลวงพ่อเพชร อุปสมบทแล้วท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยอย่างสุดความสามารถ ตลอดเวลา ๘ พรรษา ที่ท่านได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดศาลาตึกแห่งนี้หลวงพ่อเพชรท่านได้คอยปรนนิบัตรรับใช้และเล่าเรียนศึกษาสรรพวิชาต่างๆ จากหลวงพ่อลำเจียก หลวงพ่อเพชรได้หมั่นฝึกฝนปฏิบัติวิทยาคมต่างๆ จนหมดสิ้น จากนั้นท่านได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เชียงรายล่องลงมาพะเยาแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิจิตร จนกลับมาถึงวัด ระหว่างที่ท่านธุดงค์ท่านได้เข้าไปช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ชาวกะเหรี่ยงที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน นอกจากนี้แล้วท่านยังได้ไปเรียนวิชาทำสีผึ้งและเมตตามหานิยมจากหลวงปู่คีย์ วัดศรีลำยอง จ.สุรินทร์ พระเกจิดังภาคอีสานอีกด้วย
เมื่อหลวงพ่อลำเจียก วัดศาลาตึก มรณภาพลง หลวงพ่อเพชรกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านเกิดของท่านคือวัดไร่แตงทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และได้เรียนวิชาพญาเต่าเรือนอันลือชื่อจากหลวงปู่หลิว ปณฺณโก ซึ่งเปรียบเสมือนเทพเจ้าพญาเต่าเรือน ใครได้บูชาหรือมีพญาเต่าเรือนของหลวงปู่หลิว ย่อมทราบกันดีว่าเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณเพียงใด วิชาต่างๆ หลวงปู่หลิวได้รับการถ่ายทอดมาจากชาวกะเหรี่ยงแห่งยอดเขาตะนาวศรี, หลวงพ่อแดงวัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี, พ่อท่านคล้ายวัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช
เหรียญรุ่นสุดท้าย “พญาเต่าเรือน รุ่นเพชรพันล้าน”
หลวงพ่อเพชรได้ร่ำเรียนวิชาต่างๆ กับหลวงปู่หลิวจนหมดสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาการสร้างพญาเต่าเรือนอันลือลั่นของหลวงปู่ที่หลวงพ่อเพชรได้รับการถ่ายทอดมาจนหมดไส้หมดพุงและได้รับความไว้วางใจให้เสกแทนหลวงปู่หลิวได้ทุกอย่างในช่วงบั้นปลายของชีวิตท่าน และส่งหลวงพ่อเพชรให้ไปเป็นเจ้าอาวาสยังวัดไทรทองพัฒนาอันเป็นวัดที่หลวงปู่หลิวท่านสร้างขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องการันตีถึงความเชี่ยวชาญและความเก่งกล้าในวิชาอาคมของท่าน
ก่อนที่หลวงพ่อเพชรจะมรณภาพท่านได้ตั้งใจจัดสร้างเหรียญพญาเต่าเรือน ย้อนยุคเหรียญรุ่นแรก หลวงปู่หลิว ปี ๒๕๑๖ รุ่นเพชรพันล้าน ฝากไว้ในแผ่นดินเป็นรุ่นสุดท้าย โดยหลวงพ่อเพชรได้พูดสั้นๆ กับลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดก่อนมรณภาพว่า “เหรียญรุ่นนี้จะดีที่สุดและดังที่สุด” เพื่อนำปัจจัยไปสร้างและพัฒนาสำนักสงฆ์แปดเหลี่ยม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และสร้างอุโบสถไม้สักทองหลังแรกและหลังเดียวของจังหวัดกาญจนบุรี ณ สำนักสงฆ์ใหม่เหมืองพัฒนาตามเจตนารมณ์เดิมของหลวงพ่อเพชร
โดยกำหนดพิธีมหาพุทธาภิเษก วันอาทิตย์ที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ มหาอุโบสถมงกุฎเพชรรัตน โดยมีเกจิสายพุทธาคมเทพเจ้าพญาเต่าเรือน หลวงปู่หลิว และพระเถระเกจิดังแห่งยุค หลอมรวมเป็นหนึ่ง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หลวงปู่หนู วัดไผ่สามเกาะ ราชบุรี, หลวงพ่อชุบ วัดวังกระแจะ กาญจนบุรี, หลวงปู่ปั่น วัดหนองกระทุ่ม นครปฐม, หลวงพ่อแถม วัดช้างแทงกระจาด เพชรบุรี, พระอาจารย์สายชล วัดไร่แตงทอง นครปฐม, พระมหาสุรศักดิ์ วัดประดู่ พระอารามหลวง สมุทรสงคราม, หลวงพ่อสนองชาติ วัดเย็นสนิทธรรมาราม กาญจนบุรี
เหรียญรุ่นนี้ท่านตั้งใจทำมากที่สุดเพราะท่านเป็นผู้ดูแลตรวจทานแม่พิมพ์เองกับมือจนเสร็จสิ้น สวยงาม และปลุกเสก ชนวนมวลสารไว้แล้วหลวงพ่อเพชรกล่าวไว้ว่า
“เหรียญพญาเต่าเรือน รุ่นเพชรพันล้าน” เป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายของหลวงพ่อเพชร โดยในวันที่ ๓๑ มกราาคม ๒๕๕๘ จะมีพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดไทรทองพัฒนา จึงขอเรียนเชิญศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่หลิวและหลวงพ่อเพชรมาในโอกาสนี้ด้วย
ร่วมสานต่อปณิธานบุญหลวงพ่อเพชร
ตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อเพชรท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดไทรทองพัฒนา ท่านได้สร้างความเจริญให้ชาวบ้านและชุมชนในละแวกนั้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาและขัดเกลาจิตใจกุลบุตร กุลธิดา ให้เป็นคนดีมีศีลธรรม และด้วยความดีนี้เองทำให้ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลจระเข้เผือกและเลื่อนสมณศักดิ์ที่ “พระครูวชิรกาญจนสาร” ยังความปลาบปลื้มให้บรรดาลูกศิษย์ของหลวงพ่อเพชรและหลวงปู่หลิวทั้งสิ้น
หลวงพ่อเพชรถือว่าเป็นพระนักพัฒนาอีกรูปหนึ่ง เพราะเพียงไม่กี่ปีท่านได้สร้างโบสถ์มหาอุตม์ที่มีทรงแปลกตาและดูเด่นสง่า เป็นโบสถ์ที่รวมศิลปวัฒนธรรม ๕ ประเทศ ชื่อว่า “โบสถ์มหาอุตม์มงกุฎพระพุทธเจ้า” ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระประธานซึ่งเป็นพระพุทธชินราชจำลอง และพระพุทธชินราชอีก ๑๐๙ องค์ บริเวณรอบโบสถ์จะมีรูปปั้นช้างและรูปนกยูงรูปพญานาค เป็นงานศิลปะที่อลังการสร้างตามแบบความเชื่อของวัฒนธรรมต่างสมัย โดยมีนัยว่าบุคคลใดได้เข้าไปในโบสถ์และร่วมสมทบทุนก่อสร้างผู้นั้นจะเป็นผู้ที่ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน แคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยพิบัตินานัปการและจะอุดมได้ด้วยลาภยศ ผลพูนทวีมั่งมีศรีสุข ซึ่งใช้งบประมาณการก่อสร้างกว่า ๕๐ ล้านบาท จนสำเร็จลุล่วง
นอกจากนี้แล้วด้วยความที่เป็นพระนักพัฒนาในขณะนี้หลวงพ่อเพชรท่านได้เริ่มก่อสร้างสำนักสงฆ์แห่งใหม่บนยอดเขาแปดเหลี่ยม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี สำนักสงฆ์แปดเหลี่ยมยังขาดปัจจัยอีกจำนวนมากในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ในระยะเวลาที่ผ่านมา ในส่วนของฐานรากได้สำเร็จไปแล้วและกำลังดำเนินการในส่วนต่างๆ ต่อไป
สำนักสงฆ์แปดเหลี่ยมแห่งนี้เดิมทีหลวงปู่หลิวซื้อไว้เพื่อที่จะทำเป็นสำนักสงฆ์ แต่ท่านมรณภาพเสียก่อนหลวงพ่อเพชรผู้ซึ่งเป็นศิษย์ที่ทราบวัตถุประสงค์ของหลวงปู่เป็นอย่างดีท่านจึงได้ดำเนินการสานต่อตามความคิดเดิมของหลวงปู่หลิว สำนักสงฆ์แปดเหลี่ยมอยู่ในเขต อ.สวนผึ้ง มีบรรยากาศสงบอากาศดีเหมาะสำหรับบำเพ็ญเพียรวิปัสสนาอย่างยิ่ง
ผู้มีจิตศรัทธาร่วมสานต่อปณิธานบุญหลวงพ่อเพชรได้ที่วัดไทรทอง โทร. ๐๙-๗๐๘๕-๑๑๒๔ และ ๐๙-๓๓๔๙-๗๘๒๓