พระเครื่อง

"เซอร์พระ" 
กับ...พระที่สมาคมไม่รับเซอร์

"เซอร์พระ" กับ...พระที่สมาคมไม่รับเซอร์

28 ก.ค. 2552

ใบประกาศนียบัตร หรือที่เรียกกันว่า ใบเซอร์พระ (Certificate) ถือเป็นใบรับรอง พระแท้ ที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ออกให้พระแต่ละองค์ ที่ให้ทางสมาคมพิจารณา ทั้งนี้ได้รับความเชื่อถือจากวงการพระโดยทั่วไปมากกว่า ใบประกาศนียบัตรจากงานประกวดพระ ประเภท พระท

  ทั้งนี้ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ได้เปิดรับตรวจสอบพระเครื่องให้แก่นักสะสมพระโดยทั่วไป ประมาณปีละ ๒-๓ ครั้ง

 ซึ่งแต่ละครั้งปรากฏว่า มีผู้ให้ความสนใจนำพระไปรับการตรวจสอบกันอย่างเนืองแน่น เกินความคาดหมาย ด้วยเหตุที่ว่า คณะกรรมการ ที่พิจารณาพระชุดนี้ทำงานกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบมาก บางท่านส่งพระเข้าตรวจสอบ แจ้งชื่อกรุชื่อวัดผิด กรรมการยังได้ช่วยแก้ไข  บอกความจริงให้ด้วย

 เท่าที่สอบถามท่านเจ้าของพระ ส่วนใหญ่พูดตรงกันว่า  ชอบการเซอร์พระ มากกว่าการส่งพระเข้าประกวด เพราะกรรมการมีมากกว่า และรอบคอบกว่า อีกทั้ง ใบเซอร์พระ ถือเป็น ใบรับรองพระแท้ ที่ได้รับความเชื่อถือจากวงการพระโดยทั่วไป มากกว่าใบประกาศนียบัตรจากงานประกวดพระ

 ประเภท พระที่จะเปิดรับการตรวจสอบ (พระแท้ พระปลอม) ได้แก่ พระชุดเบญจภาคี ทุกพิมพ์ พระเนื้อดิน พระเนื้อผง พระเนื้อชิน ฯลฯ

 ประโยชน์อย่างหนึ่งของใบเซอร์ คือ สามารถป้องกันขายพระผิดราคา หรือในวงการพระเรียกว่า "ตกควาย" ในความหมายของวงการพระเครื่อง คือ เจ้าของพระขายพระผิดราคา โดยขายออกไปต่ำกว่าราคาตลาดที่ควรจะเป็น  ซึ่งอาจจะต่ำกว่ามาก เช่น พระองค์นี้วงการเขาซื้อขายกันเป็นหมื่น แต่กลับขายในราคาต่างจากความเป็นจริงมาก  

 ดังนั้น เมื่อใดก็ตาม ที่เจ้าของพระตีราคาขายพระผิดพลาด โดยกำหนดราคาขายต่ำจนถูกมาก จะด้วยสาเหตุใดก็ได้ คนซื้อที่รออยู่ ก็จะรู้ทันทีว่า เจ้าของพระองค์นั้นกำลัง "ตกควาย"

 และเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกตกควาย วิธีหนึ่งนั้น คือ การส่งพระให้สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยออกใบรับรองพระแท้ ทั้งนี้ สมาคมจัดประมาณปีละ ๒-๓ ครั้ง ณ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน ชั้น ๓

 พระที่มีใบรับรองว่า เป็นพระแท้ ขายได้ง่าย และขายได้ราคากว่าพระที่ไม่มีใบรับรอง
 อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ แม้ว่าสมาคมจะรับออกใบเซอร์พระให้พระชุดเบญจภาคี ทุกพิมพ์ พระเนื้อดิน พระเนื้อผง พระเนื้อชิน ฯลฯ แต่ใช่ว่าจะเสมอไป  อย่างกับกรณีของทางสมาคมก็ไม่เคยออกใบเซอร์ พระถ้ำเสือ กรุวัดเขาดีสลัก ที่ พล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็กเยาวชนและสตรี (ปดส.) หรือที่รู้จักกันในนาม "ผู้การแจ๊ด" ที่เซียนพระ จ.สุพรรณบุรี ถึงกับตั้งชื่อพระถ้ำเสือกรุดังกล่าวใหม่อย่างสนุกปากว่า "พระถ้ำเสือ กรุคำรณวิทย์" และ "พระถ้ำเสือ กรุผู้การแจ๊ด" 

 ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา สมาคมฯ ก็ไม่รับออกใบเซอร์ พระสมเด็จ กรุขุนอินทประมูล วัดขุนอินทประมูล ต.บางพลับ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ซึ่งมีทั้งหมด ๓ พิมพ์ คือ พิมพ์พระประธาน พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์ทรงเจดีย์ โดยได้เขียนประกาศติดไว้อย่างชัดเจนว่า "ไม่รับออกใบรับรองให้ พระวัดขุนอินทประมูล"  นอกจากนี้แล้ว ในการประกวดพระ ของ กรมเสมียนตรา วันอาทิตย์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ ที่ไบเทค บางนา  เดิมที่นั้นได้จัดให้มีการประกวดพระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล ไว้ในรายการประกวดพระเนื้อผงทั่วไป ชุดที่ ๓ โต๊ะที่ ๗ รายการที่ ๒๒๔ - ๒๒๖

 แต่คณะนี้ ทางผู้จัดงานได้ตัดออกจากการประกวดพระในครั้งนี้ด้วย
 ทั้งนี้ “คม ชัด ลึก” ได้สอบถามถึงเหตุผลของการไม่รับเซอร์จากกรรมการสมาคมหลายท่าน ต่างให้เหตุผลในทำนองเดียวกันว่า

 “การไม่รับเซอร์พระของสมาคม ไม่ใช่ว่าพระรุ่นนั้นๆ จะเป็นพระปลอมเสมอไป หากแต่ว่า เป็นพระที่สมาคมพระเครื่อง ไม่ให้การยอมรับ เรื่องการเล่นพระ เป็นเรื่องนานาจิตตัง กลุ่มไหนหรือใครจะเล่นอย่างไร เป็นเรื่องส่วนตัว  พระนั้นแท้ทุกองค์ ส่วนจะแท้ในมาตรฐานใดนั้น ขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้กำหนด ส่วนการตัดรายการประกวดพระรายการใดรายการหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดงาน”

 เกี่ยวกับเรื่องการออกใบเซอร์พระนั้น นายพยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย บอกว่า  ถ้าหากพระของท่านเป็นพระแท้ ทางสมาคมจะออกใบประกาศนียบัตรรับรองให้ พร้อมภาพถ่ายองค์พระติดไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าเป็นพระปลอม ท่านเจ้าของพระก็จะได้รับทราบความเป็นจริงที่ถูกต้อง ส่วนการพิจารณาพระแท้หรือพระปลอมนั้น สมาคมจะเชิญคณะกรรมการผู้ชำนาญในพระเครื่องแต่ละประเภทหลายท่านด้วยกัน เป็นผู้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบที่สุด ก่อนที่จะมีมติตัดสิน ผลการตรวจสอบพระแต่ละองค์ ฉะนั้น โอกาสที่จะผิดพลาดจึงมีน้อยมาก และในการพิจารณาพระแต่ละองค์ คณะกรรมการจะดูแลองค์พระของท่านเป็นอย่างดีที่สุด

 ในขณะที่ พ.อ.อ.โกวิท แย้มวงษ์ ผู้อำนวยการนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์สมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย รองประธานชมรมนักข่าวและช่างภาพพระเครื่อง บอกว่า

 งานประกวดพระ กับงานเซอร์พระต่างกัน เพราะการเซอร์พระนี้แน่นอนเลย คือ พระที่ส่งเข้าไปจะรู้ได้เลยว่าพระองค์ไหนแท้ พระองค์ไหนเก๊ สมาคมจะเป็นผู้การันตี และเป็นผู้รับรอง ตัวอย่างเช่น พระของคุณเป็นพระสมเด็จฯ ส่งมาหลายงานแล้ว บางงานก็รับ บางงานก็ไม่รับ บางครั้งรับเข้าไป แต่ไม่มีการตัดสินอะไร แต่พอเอาไปส่งในงานเซอร์พระที่สมาคมจัด เขาก็จะบอกเลยว่า พระของคุณเก๊นะ พระของคุณแท้นะ หรือพระของคุณเป็นของวัดนั้น วัดนี้นะ แล้วถ้าเป็นพระแท้ เขาก็จะออกใบรับประกันให้ ซึ่งจะออกให้โดยสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย  ซึ่งเขาจะการันตีให้ว่า แท้ตลอดกาล ใบเซอร์หรือใบรับรองพระแท้ ที่ออกให้โดยทางสมาคมจะไม่เหมือนใบประกาศนียบัตรงานประกวดพระบางงาน ซึ่งยังมีการถกเถียงกันอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า ถ้าคุณอยากรู้ว่า

 "ถ้าหากพระของท่านเป็นพระแท้ สมาคมจะออกใบประกาศนียบัตรรับรองให้ พร้อมภาพถ่ายองค์พระติดไว้เป็นหลักฐาน  แต่ถ้าเป็นพระปลอม  ท่านเจ้าของพระก็จะได้รับทราบความเป็นจริงที่ถูกต้อง"

เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"