พระเครื่อง

พระร่วงยืนทรงเกราะ เนื้อชินเขียว 
กรุวัดพระศรีฯ เมืองสวรรคโลก

พระร่วงยืนทรงเกราะ เนื้อชินเขียว กรุวัดพระศรีฯ เมืองสวรรคโลก

19 ส.ค. 2552

สุดยอด "พระเนื้อชิน" ของเมืองไทย ที่จัดเป็นอันดับหนึ่งของ ชุดเบญจภาคีพระเนื้อชินยอดขุนพล คือ พระร่วงหลังรางปืน เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ที่ขุดค้นพบจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

  วัดพระปรางค์ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดเก่าแก่ มีมาก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ฝั่งตะวันตก บริเวณใต้แก่งหลวงโค้งของแม่น้ำ อ.สวรรคโลก และเปลี่ยนมาเป็น จ.สุโขทัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕  ในสมัยรัชกาลที่ ๗ 

 เป็นวัดที่มีลักษณะพระปรางค์ หรือปราสาทศิลปะเขมร แบบบายน สันนิษฐานว่า มีมาตั้งแต่ครั้งขอมเรืองอำนาจ  ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ 

 พระร่วงหลังรางปืน พิมพ์นี้ จำนวนพระที่แตกกรุออกมามีน้อยมาก และส่วนมากมีสภาพไม่สมบูรณ์ ที่มีสภาพสมบูรณ์ มีเพียงไม่กี่สิบองค์เท่านั้น ซึ่งพระทั้งหมดนี้ อยู่ในความครอบครองของเจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการระดับสูงบางท่าน เซียนพระเนื้อชินระดับสายตรง และบุคคลทั่วไป เพียงไม่กี่ท่านเท่านั้น ที่มีบุญวาสนาเป็นเจ้าของ

 ทุกวันนี้ พระร่วงหลังรางปืน มีสนนราคาแพง สูงถึงเลข ๗ หลัก ถือเป็นพระในฝันของนักสะสมพระเนื้อชินยอดขุนพล แทบทุกคน ที่ปรารถนาแสวงหาเพื่อมีไว้สักการบูชา แต่ก็หาได้ยากยิ่ง

 ผู้ที่ไม่สมหวัง จึงหันมาเสาะแสวงหา พระร่วงยืน อีกพิมพ์หนึ่ง ของเมืองสุโขทัย ที่เชื่อกันว่ามีพุทธานุภาพสูง  สามารถใช้บูชาแทน พระร่วงหลังรางปืน ของเมืองสวรรคโลก ได้อย่างเต็มภาคภูมิ จนเป็นที่ยอมรับของชาวเมืองสุโขทัย มาช้านาน คือ พระร่วงยืนทรงเกราะ

 เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่องค์พระปรางค์ด้านทิศใต้ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.สวรรคโลก ได้มีการขุดค้นพบ พระร่วงพิมพ์ยืน ที่สร้างขึ้นยุคหลัง โดยช่างสกุลฝีมือชาวบ้าน

 เป็นพระที่สร้างด้วย เนื้อชินเขียว ล้วนๆ มีมากแบบ มากพิมพ์ ทั้งหลังร่อง หลังยันต์ หลังเรียบ หลังลายผ้า หลังรางปืน หลังกากบาท (X) และพิมพ์พิเศษ ๒ หน้า เท่าที่ขุดพบมีจำนวนกว่าสิบพิมพ์

 ในวงการพระ เรียกพระพิมพ์นี้ว่า “พระร่วงยืนทรงเกราะ” มี ๓ พิมพ์ทรง คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก

 ขณะเดียวกัน ในกรุนี้ยังมีการขุดพบ พระพิมพ์นั่ง เนื้อชินเขียว อีกด้วย เรียกชื่อว่า “พระร่วงนั่งทรงเกราะ”

 พุทธศิลป์ ของพระร่วงยืน เป็นพระปางประทับยืน สวมหมวกจีโบ (ชีโบ) ศิลปะขอม ยก ๒ พระหัตถ์เสมอพระอุระ ปางประทานธรรม มีอักขระยันต์ขอม ลักษณะเป็นเส้นนูน อยู่บนองค์พระ

 องค์พระมีลักษณะทรวดทรงคล้ายกับนักรบสวมเกราะในสมัยโบราณ จึงเป็นที่มาของชื่อ “พระร่วงยืนทรงเกราะ”

 บางพิมพ์มีลักษณะคล้าย มัมมี่ ในสมัยอียิปต์โบราณ  จึงมีการเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระร่วงยืน “พิมพ์มัมมี่”

 เนื้อหา พระร่วงพิมพ์นี้ เป็นเนื้อโลหะผสม ระหว่าง ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี พลวง เหล็ก ปรอท และเงิน มารวมกัน  เนื้อพระจะมีความแข็ง คงทน ไม่สึกง่าย และจะไม่มีรอยระเบิด หรือรอยรานแตกร้าวปรากฏให้เห็น วงการพระเรียกเนื้อพระลักษณะแบบนี้ว่า “ชินเขียว”

 พระเนื้อนี้จะมีสนิมไขมันใสเป็นเม็ด คล้ายไข่แมงดา เรียกว่า สนิมไข่แมงดา เกาะติดฝังลึกแน่น จากในเนื้อองค์พระออกมา พร้อมมีฝ้าสีเหลืองอ่อน ปกคลุมทั่วองค์พระ และมีสนิมปานดำ หรือ กระ ที่มีสีเข้มเป็นจุดดำเกิดขึ้นเป็นจุดๆ เป็นปลื้นกินลึกเข้าไปในเนื้อโลหะ ที่ไม่สามารถขัดถูออกได้ ถือเป็นจุดตายในการพิจารณาเนื้อหาของพระเนื้อชินเขียวได้ในระดับหนึ่ง

 มวลสารเนื้อหาของ ชินเขียว มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชินอุทุมพร
 คำว่า อุทุมพร แปลว่า มะเดื่อ ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับเนื้อหาของพระเนื้อชินเขียวนี้เลย
 แต่เดิมมา ในวงการพระมีเรื่องเก่าเล่าขานว่า อุทุมพร  น่าจะเป็นพระนามของอดีตพระมหากษัตริย์ไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ ๒

 ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีฝีมือในเชิงรบเป็นเลิศ จนยากที่จะหาผู้ใดมาราวี เป็นกษัตริย์ยอดนักรบในสมัยนั้น ท้ายสุด พระองค์ทรงสละราชสมบัติ และออกผนวช จึงมีการเรียกขานนามพระชินเขียวว่า ชินอุทุมพร เพื่อเป็นอนุสติ และทรงไว้ซึ่งพระนาม ของขลัง ในหัวใจของคนไทยยุคต่อมา

 ด้านหลัง ของพระร่วงพิมพ์นี้ บางพิมพ์ตันเรียบ บางพิมพ์มีเป็นร่องเว้าลึกลงไปเต็มสุด ตามความยาวขององค์พระ ภายในพื้นผิวร่อง จะมีลวดลายปรากฏในลักษณะสัญลักษณ์แตกต่างกันไป มีเครื่องหมายกากบาท (X) หมายถึง การไขว้ อันเป็นเครื่องหมายของการป้องกันสิ่งอัปมงคล และความชั่วร้ายต่างๆ หรือเป็นสัญลักษณ์ของการปิด ห้ามสิ่งอัปมงคลทั้งหลายทั้งปวงเข้ามากล้ำกราย

 พิมพ์ที่นิยมสุด คือ พิมพ์นิยม หลังร่อง (มี ๒ กากบาท) เป็นพิมพ์ที่มีพุทธลักษณะเหมือน มัมมี่ ของอียิปต์โบราณมากที่สุด

 ด้านหลังองค์พระ มีร่องที่ยาวเต็มองค์พระ พร้อมมีเครื่องหมายกากบาท ๒ เครื่องหมาย วางอยู่ในขีดคั่นตรง ๒ ขีด

 พระร่วงยืน ของกรุนี้ องค์พระมีขนาดเล็กกะทัดรัดเท่านิ้วก้อย เหมาะสำหรับสุภาพสตรี สามารถบูชาติดตัวได้  เพราะมีน้ำหนักเบา

 ขนาดองค์พระ กว้าง ๑.๕ ซม. สูง ๕.๑ ซม.
 ส่วน พิมพ์ใหญ่ ที่เป็นพิมพ์นิยมรองลงมา ด้านหลังมีร่องยาวเพียง ๒ ใน ๓ ส่วน จากด้านล่าง ร่องยาวไม่เต็มองค์ พร้อมมีเครื่องหมาย ๒ กากบาท อยู่ในขีดคั่นตรงเช่นกัน

 องค์พระมีขนาดใกล้เคียงกันมาก คือ กว้าง ๑.๖ ซม. สูง  ๕.๒ ซม.
 พระร่วงทรงเกราะ เนื้อชินเขียว พิมพ์ยืน แม้ศิลปะในองค์พระไม่ประณีตนัก แลดูหย่อนความงามไปบ้าง  เพราะเป็นฝีมือการสร้างโดยช่างชาวบ้านธรรมดา แต่ในปัจจุบัน กลับได้รับการยกย่อง จัดอันดับอยู่ใน ชุดพระยอดขุนพล เนื้อชินยอดนิยม ในงานประกวดพระเสมอมา

 ในวงการพระ ตั้งแต่สมัยรุ่นคุณปู่ ยอมรับว่า ที่เป็น พระชั้นหนึ่งของเนื้อชินเขียว มีอยู่เพียง ๒ หัวเมืองเท่านั้น  คือ พระยอดอัฎฐารส ของเมืองพิษณุโลก และ พระร่วงยืนทรงเกราะ เมืองสุโขทัย ว่าพระ ๒ กรุนี้ มีราคาแพงที่สุดในยุคนั้น

 ขณะเดียวกัน ด้านประสบการณ์พุทธคุณ ก็เยี่ยมสุดยอด ทางแคล้วคลาด มหาอุด และคงกระพันชาตรี เทียบชั้น "จิ๋วแต่แจ๋ว" กับพระแพงตัวจริงต้นตำรับได้อย่างสบาย ด้านทุนทรัพย์ในราคาเบาๆ

 โดย พระร่วงยืนทรงเกราะ พิมพ์ใหญ่ ราคาทั่วไปเล่นหากันอยู่ที่หลักหมื่นกลาง ถึงหมื่นปลาย ขึ้นอยู่กับสภาพความสวย และพิมพ์ทรง

 ถ้าเป็น พิมพ์นิยม หลังร่อง (๒ กากบาท) สภาพพระพักตร์สวย เครื่องหมายกากบาทเทติดลึก คมชัดเจน ราคาแสนกว่าบาทขึ้นไป จนเกือบสองแสนบาท

 แต่ก็หาเช่าไม่ค่อยได้ เพราะพระพิมพ์นี้ขุดพบน้อยมาก แทบจะนับองค์ได้ จนรู้กันโดยทั่วไปว่า
 พระองค์ไหนอยู่ที่ใคร ?

"ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ"