
พระปิดตาแบงก์ชาติ พระปิดตารุ่นแรกของ 'หลวงปู่โต๊ะ'
เมื่อเอ่ยชื่อ หลวงปู่โต๊ะ หรือ พระราชสังวราภิมณฑ์ วัดประดู่ฉิมพลี ท่าพระ ธนบุรี เชื่อแน่ว่า ทุกคนต้องรู้จักกันดี จากวัตรปฏิบัติที่น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใส และคุณวิเศษของพระเครื่องที่ท่านได้สร้างขึ้นเอง หรือได้เมตตาปลุกเสกให้ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่ทางวัดจัดสร้
หลวงปู่โต๊ะ ท่านสร้างพระเครื่องมาตั้งแต่ประมาณปี ๒๔๖๐ ในยุคแรกๆ ท่านสร้างเป็น พระเนื้อผง ที่เรียกว่า รุ่นแช่น้ำมนต์ โดยใช้ผงวิเศษที่ท่านได้มาจากวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) บางกอกใหญ่ ที่ท่านไปฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ในสมัยนั้น
พระผงแช่น้ำมนต์ ยุคแรก มีหลายรุ่นหลายพิมพ์ อาทิ พระสมเด็จพิมพ์ขาโต๊ะ พระสมเด็จ พิมพ์ก้างปลา ฯลฯ แต่ก็ไม่พอต่อความต้องการของลูกศิษย์ และศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่ ซึ่งมีอยู่อย่างมากมาย ทั่วทุกวงการ
หลวงปู่โต๊ะ ไม่เคยสร้างเหรียญ หรือพระปิดตา มาก่อนหน้านี้ จวบจนเวลาผ่านไปถึง ๕๐ ปี เมื่อท่านมีอายุครบ ๘๐ ปี พ.ศ.๒๕๑๐ ท่านจึงได้สร้าง เหรียญ ขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นเหรียญปั๊ม ด้านหน้าเป็นรูปท่านเต็มองค์ ด้านหลังเป็นยันต์ตรีนิสิงเห
นับเป็น เหรียญรุ่นแรก เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และมีราคาแพง โดยเช่ากันในทุกวันนี้ที่หลักหลายหมื่นบาท
ต่อมาได้มีการสร้างเหรียญอีกหลายรุ่น ก็เป็นที่นิยมกันโดยทั่วไปเช่นกัน หลังจากนั้นอีก ๑๐ ปี ท่านจึงได้สร้าง พระปิดตา จัมโบ้ ๑ หลังจากนั้น ได้มีการสร้างพระปิดตาอีกหลายรุ่น อาทิ พระปิดตา รุ่นปลดหนี้ พระปิดตา จัมโบ้ ๒ พระปิดตาข้างกนก พระปิดตาหลังเต่า ฯลฯ
สำหรับ พระกริ่ง เคยสร้างไว้รุ่นหนึ่ง เมื่อปี ๒๕๒๐ แต่ไม่โด่งดังเท่ากับ พระกริ่งรุ่น "เป็งย้ง” ปัจจุบันเช่าหากันที่หลักแสนขึ้นไป
สำหรับ พระปิดตาจัมโบ้ ๑ ในวงการพระเข้าใจกันว่าเป็น พระปิดตารุ่นแรกของท่าน แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ เพราะพระปิดตารุ่นแรกของท่าน คือ พระปิดตาแบงก์ชาติ ซึ่งสร้างขึ้นโดย พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) เมื่อปี ๒๕๑๘ โดยมีผู้เขียนเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรง ในการสร้างพระปิดตารุ่นนี้ด้วย
และก็ด้วย พระปิดตาแบงก์ชาติ นี้แหละ ที่ช่วยจุดประกายให้ทางวัดได้สร้างพระปิดตารุ่นต่างๆ ต่อมา ให้ท่านปลุกเสก จนโด่งดังไปทั่ว
พระปิดตาแบงก์ชาติ แกะจากไม้มะเกลือ องค์พระสีดำ สูงประมาณ ๑ นิ้ว โดยถอดแบบมาจาก พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง พิมพ์นั่งบัว เนื้อทองผสม
ไม้มะเกลือ ที่ใช้แกะพระปิดตาแบงก์ชาติ เป็นไม้ที่ได้จาก ห้องมั่นคง ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นห้องที่ใช้เก็บทองคำ และทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ที่ใช้เป็นทุนสำรองเงินตราของประเทศ
ห้องมั่นคง เดิมอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง (ท่าช้าง วังหน้า) เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ก่อสร้างสำนักงานใหญ่แล้วเสร็จ เมื่อปี ๒๕๑๘ จึงได้ย้ายทรัพย์สินต่างๆ ทั้งหมด มาเก็บไว้ยังห้องมั่นคง ณ สถานที่แห่งใหม่นี้ ที่วังบางขุนพรหม
การขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องมั่นคงในสมัยนั้น ได้พบ ไม้มะเกลือ นี้อยู่ เข้าใจกันว่า คงนำมาไว้ตั้งแต่แรกตอนตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นใหม่ๆ เมื่อปี ๒๔๘๕
โดยไม่อาจทราบได้ว่า เพื่อต้องการเอาเคล็ดอะไร หรือมีความเชื่ออย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่ได้เอามาไว้ในภายหลังอย่างแน่นอน เพราะสถานที่แห่งนี้เป็น เขตหวงห้ามเด็ดขาด ของธนาคาร ใครเข้าออกไม่ได้ นอกจากผู้บริหารระดับสูงจริงๆ เท่านั้น
โดยที่เห็นว่าเป็น ไม้มงคล ที่ใช้หนุนเงินหนุนทองของประเทศชาติมาเป็นเวลานานนับเป็นสิบๆ ปี ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารในสมัยนั้น ๒ ท่าน คือ ท่านผู้อำนวยการ อัมพร ทัพพะรังสี (ถึงแก่กรรมแล้ว) และท่านผู้อำนวยการ เผด็จ นิติสิริ (ถึงแก่กรรมแล้ว) มีความเห็นว่า น่าจะนำมาสร้างเป็น พระเครื่องไว้สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล ดีกว่าที่จะเก็บเอาไว้เฉยๆ
ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ควรสร้างเป็น พระปิดตา มากกว่าอย่างอื่น เพราะเป็นพระที่ดีทางเมตตา และโชคลาภ โดยใช้ พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง พิมพ์นั่งบัว เป็นแบบ และขอบารมีความเมตตาจาก หลวงปู่โต๊ะ เป็นผู้ปลุกเสกให้ เพราะท่านเป็นลูกศิษย์วัดหนัง
ผู้แกะองค์พระปิดตา คือ ช่างเลี่ยมพระในสนามพระวัดราชนัดดา ค่าแกะองค์ละ ๒๐ บาท มีจำนวนทั้งสิ้น ๙๙ องค์ ใต้ฐานมีเลขไทยกำกับทุกองค์
ผู้เขียนกับเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้นำพระปิดตา ๙๙ องค์นี้ไปวัดประดู่ฉิมพลี กราบอาราธนาขอให้ หลวงปู่โต๊ะ เมตตาปลุกเสกให้ โดยขอให้ท่านปลุกเสกเป็นเวลา ๙ อังคาร ๙ เสาร์ จนครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ได้ขอไว้ทุกประการ
ผู้เขียนยังจดจำคำพูดของหลวงปู่โต๊ะ ในวันที่นำพระปิดตา ไปขอบารมีให้ท่านปลุกเสกให้ ท่านได้ถามว่า “จะเอาอยู่ปืนไหม”
ผู้เขียนกราบนมัสการท่านว่า “เอาครับ และขอทางแคล้วคลาด เมตตา และโชคลาภด้วยนะครับ เพราะพวกผมทำงานที่แบงก์ชาติ”
หลวงปู่พยักหน้า พร้อมกับพูดในลำคอว่า “อือ”
เมื่อหลวงปู่ปลุกเสกจนครบ ๙ อังคาร ๙ เสาร์ ผู้เขียนกับเพื่อนก็ไปรับพระปิดตาทั้งหมดคืนจากมือของหลวงปู่ และได้ถวายท่านไว้ ๙ องค์ สำหรับไว้แจกลูกศิษย์ของท่าน
ในวันนั้น...ได้รับทราบจากพระลูกศิษย์ที่คอยติดตามดูแลหลวงปู่ว่า พระปิดตารุ่นนี้ นอกจากหลวงปู่จะปลุกเสกให้ทุกคืนแล้ว ท่านยังได้นำใส่ย่ามไปในพิธีพุทธาภิเษกต่างๆ ที่ท่านไปร่วมนั่งปรกด้วย พิธีแรก คือที่วัดหลวงพ่อวัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม
อย่างไรก็ตาม พระปิดตาแบงก์ชาติ ยังไม่ค่อยมีผู้รู้จักกันมากนัก เพราะมีจำนวนสร้างน้อยมาก จึงขอนำเรื่องนี้มาเขียนเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการบันทึกไว้เป็นประวัติ จะได้ทราบกันโดยทั่วไปว่า ในบรรดาพระเครื่องต่างๆ ที่ หลวงปู่โต๊ะ ได้เมตตาปลุกเสก จนโด่งดังไปทั่วทุกสารทิศมี พระปิดตาแบงก์ชาติ รุ่นนี้รวมอยู่ด้วย
และนี่คือ พระเครื่อง ๑ ใน ๘๐๐ องค์ ที่ผู้เขียนได้จัดพิมพ์อยู่ในหนังสือ “รวมภาพและเกร็ดประวัติพระเครื่องและเครื่องราง” ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และมีกำหนดออกวางตลาดในเร็วๆ นี้ พระทุกองค์ในหนังสือเล่มนี้ มีเกร็ดประวัติในรูปแบบของการเล่าสู่กันฟัง รวมทั้งมีภาคผนวก เครื่องรางต่างๆ อีกไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ภาพ ท่านที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.๐-๒๕๖๑-๑๖๓๑-๒
"น.นที"