พระเครื่อง

 ชั่วโมงเซียนอ.โสภณ-ยันต์..."ลงเสือลงลิง"

ชั่วโมงเซียนอ.โสภณ-ยันต์..."ลงเสือลงลิง"

09 พ.ย. 2552

พระครูปิยนนทคุณ หรือ หลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดตะเคียน ถ.นครอินทร์ (พระราม ๕) ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี นอกจากจะสร้างตะกรุดคอหมาอันโด่งดัง จนเป็นที่กล่าวขานของลูกศิษย์ว่า “หลวงปู่แย้ม ตะกรุดคอหมา” แล้ว ยังมีวัตถุมงคลอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับควา

ด้วยเหตุที่ผู้เช่าเสือหลวงปู่แย้มแล้ว เสือได้แสดงพุทธคุณมากหลาย ทั้งคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม ทำมาค้าขึ้น จึงเป็นที่ต้องการของผู้ที่นิยมวัตถุมงคลเป็นอย่างมาก

  โดยเฉพาะในคืนวันลอยกระทง ทางวัดได้จัดพิธีอาบน้ำเพ็ญ พร้อมกับนำเสือรุ่น ๔ ออกมาให้ พระครูนนทกิจพิบูลย์ หรือ หลวงปู่เก๋ ถาวโร วัดปากน้ำ ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี เสกซ้ำอีกครั้ง ปรากฏว่ามีคนแห่เช่ากันอย่างล้นหลาม

 สำหรับยันต์ที่ลงในเสือทุกรุ่น และถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ  "ยันต์มหาเบา" ซึ่งถือว่าเป็นยันต์ประจำตัวของหลวงพ่อ ไม่ว่าท่านจะสร้างวัตถุมงคลประเภทใด จะปรากฏยันต์ตัวนี้เสมอ

 ในการเขียนยันต์ตัว "อัง" (ยันต์ที่เขียนเป็นรูปทรงกลม) จะบริกรรมว่า "นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอัง" ซึ่งเป็นคาถาหัวใจพระเจ้า ๑๖ พระองค์

 หรือบางตำราก็บริกรรมว่า "อะระหัง ปูชาสักการัง อะระโหปาปะการะยัง อะระหัตตะถะสัมปัตโต อะระโหนามะเตนะโม"

 ส่วนวงกลมที่เขียนล้อมรอบ เรียกว่า "ยันต์มหาสูญ" การเขียนยันต์ตัวนี้จะใช้คาถามหาอุดในการเรียกสูตร โดยแต่ละวงเรียกสูตรต่างกัน คือ

 วงกลมชั้นที่ ๑ เรียกสูตรว่า "อะระหัง พุทธังปิด อุดทะวารัง" วงกลมชั้นที่ ๒ เรียกสูตรว่า "อะระหัง ธัมมังปิด อุดทะวารัง" และวงกลมชั้นที่ ๓ เรียกสูตรว่า "อะระหัง สังฆังปิด อุดทะวารัง"

 การเขียนวงกลมล้อมรอบตัวยันต์ตัวหนึ่งตัวใดนั้น พระเกจิอาจารย์ต้องการเน้นพุทธคุณเด่นด้านมหาอุด

 นอกจากอักขระเลขยันต์แล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยยิ่งกว่ากัน คือ พระเกจิอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกเสือรุ่น ๔ หลวงปู่แย้มวัดตะเคียนนั้น มีเพียง ๓ รูปเท่านั้น คือ ๑.หลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ วัดตะเคียน ๒.หลวงปู่เก๋ ถาวโร วัดปากน้ำ และ ๓.หลวงปู่แย้ม ฐานยุตโต วัดสามง่าม

 พระเกจิที่มาร่วมปลุกสก แม้ว่าจะน้อยแต่ถือว่ามีคุณภาพ อย่างกับ พระครูประยุตนวการ หรือ "หลวงปู่แย้ม ฐานยุตโต" อายุ ๙๒ พรรษา ๖๙ เจ้าอาวาสวัดสามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดสามง่าม ที่มีความเชี่ยวชาญวิทยาคม เป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศ จนได้รับการยกย่องว่า เป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้า เกียรติคุณด้านมงคลปูชนียวัตถุที่มีชื่อเสียงของหลวงปู่แย้ม คือ ตะกรุดโทน ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ และกุมารทอง ตามตำรับหลวงพ่อเต๋ คงทอง อดีตเจ้าอาวาสวัดสามง่าม

 ในขณะที่ “พระครูนนทกิจพิบูลย์” หรือ “หลวงพ่อเก๋ ถาวโร” อายุ ๙๕ พรรษาที่ ๗๔ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นพระเกจิชื่อดังและพระนักพัฒนาที่ชาวเมืองนนทบุรีและปริมณฑลต่างเลื่อมใสศรัทธาอย่างดียิ่ง ด้วยความเป็นพระเถระที่มีเมตตาธรรมขั้นสูง เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เข้มขลังในวิทยาคมศักดิ์สิทธิ์ด้านเมตตามหานิยม เป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจแก่ผู้ทุกข์ร้อน

 จำนวนเกจิที่มาปลุกเสกเพียง ๓ องค์ หลายคนอาจจะคิดว่าพุทธคุณของเสือไม่เข้มขลังเหมือกับการนิมนต์พระมาปลุกเสกจำนวนมากๆ

 บัดนี้ เสือทุกรุ่นของหลวงปู่แย้มแห่งวัดตะเคียนได้แสดงพุทธคุณให้ผู้บูชาได้ประจักษ์ด้วยประสบการณ์ต่างๆ นานา จึงอาจจะพูดได้ว่า “ความเข้มขลังและพุทธคุณไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระเกจิอาจารย์ที่มาปลุกเสกจำนวนมากๆ พระเกจิอาจารย์จำนวนน้อย แต่มากด้วยความเข้มขลังก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน”

 ทั้งนี้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระเครื่องและเครื่องรางของขลัง ที่มีพุทธคุณอันเป็นที่รู้จักของทั้งนอกและในวงการพระเครื่อง ส่วนใหญ่จะเสกเดี่ยวทั้งนั้น ถ้าเสกหมู่อย่างเก่งท่านก็นิมนต์พระที่เป็นสหธรรมิกมารวมพิธีเพิ่มไม่เกิน ๕ รูป

 สำหรับผู้ที่สนใจเรื่อตำรายันต์นั้น สามารถศึกษาข้อมูลได้ที่หอสมุดวชิราวุธ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกับหอสมุดแห่งชาติ มี นายอร่าม สวัสดิ์วิชัย เป็นผู้อำนวยการ เปิดทำการเวลาเดียวกับหอสมุดแห่งชาติ

 ตำรายันต์หนึ่ง ที่น่าสนใจ คือ ตำรายันต์เมื่อครั้งสร้างพระ ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี ๒๕๐๐ มีการรวบรวมแผ่นยันต์จากพระเกจิต่างๆ มากถึง ๑,๗๐๐ ยันต์ เลยทีเดียว

ยันต์ลงลิงหลวงพ่ออนันต์

 นอกจากเสือหลวงปู่แย้มแล้ว "ลิง" ของหลวงพ่ออนันต์ วิสุทโธ หรือพระครูวิสุทธิ์สมุทรคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีน้อย ต.บางพลีน้อย อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เป็นพระผู้เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา และเชี่ยวชาญงานในด้านต่างๆ มากมาย ก็ยังได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

 ปัจจุบันหลวงพ่ออนันต์ สิริอายุ ๕๔ ปี ๓๔ พรรษา เป็นพระเถราจารย์อีกรูปหนึ่งที่มากด้วยศิษยานุศิษย์ให้ความเคารพนับถือ ไม่ว่าจะเป็นชาว ต.บางพลีน้อยเอง หรือตำบลใกล้เคียงเองก็ดี และชาวต่างจังหวัดก็ดี ที่ให้ความเคารพนับถืออย่างมาก

 ในการสร้างวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ของหลวงพ่ออนันต์นั้น เริ่มมาจากที่หลวงพ่อย้ายจากวัดพิมพาวาส มาอยู่วัดบางพลีน้อย ในพ.ศ.๒๕๑๙ ได้มาอยู่กับหลวงพ่อฉิม พรหมฺโชติ ในพรรษาที่ ๒ คอยช่วยเหลือและปรนนิบัติหลวงพ่อฉิมมาตลอด ในพรรษา ๒ นี้ หลวงพ่ออนันต์ได้เป็นอาจารย์สักยันต์ด้วย

 ปัจจุบันท่านเลิกสักยันต์แล้ว แต่ยังคงแกะลิงด้วยมือของท่านเอง เพื่อให้ลูกศิษย์เช่าบูชานำปัจจัยมาบูรณะศาสนสถานภายในวัดบางพลีน้อย

 "ลิง" ของหลวงพ่ออนันต์ มีการลงยันต์หลักๆ ๕ ชุด คือ ๑.ยันต์ หัวใจหะนุมาน ที่ว่า หะ นุ มา นะ ๒.ยันต์ ที่ว่า มะ อะ อุ หัวใจไตรปิฎก ๓.ยันต์ หัวใจธาตุทั้ง ๔ ที่ว่า นะ มะ พะ ทะ ๔.ยันต์หัวใจยอดธงชัย ที่ว่า อะ สัง สุ สัง สุ สุ และ ๕.ยันต์ ที่ว่า นะ ชา ลี ติ หัวใจพระฉิมพลี