บรรพชาสามเณรี 'หลวงแม่'...คิดการใหญ่อะไรอยู่?
โครงการบรรพชาสามเณรี ของ วัตรทรงธรรมกัลยาณี ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่งมี ภิกษุณีธัมมนันทา หรือชื่อที่เหล่าบรรดาลูกศิษย์ใช้เรียกแทนว่า หลวงแม่ (รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) เป็นเจ้าอาวาสนั้น ในพ.ศ.๒๕๕๒ มีการบรรพชาสามเณรีไปแล้วถึง ๓ ครั้ง มีสตรีที่
ครั้งแรก เป็นโครงการบรรพชาสามเณรีภาคฤดูร้อน จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖-๑๔ เมษายน ๒๕๕๒ การจัดการบรรพชาครั้งนี้ เป็นการชิมลางว่า จะได้รับการตอบสนองจากสังคมไทยอย่างไร ปรากฏว่า ในการประกาศรับสมัครครั้งแรก เพียง ๓๐ ท่าน มีผู้แสดงความประสงค์เข้ามาประมาณ ๕๐ ท่าน จึงมีการคัดกรองลงตัวที่ ๓๖ ท่าน
กลุ่มผู้ที่ออกบรรพชาครั้งนี้ มีการศึกษาระดับสูง ปริญญาเอกและโท ๘ รูป ปริญญาตรี ๑๘ รูป ปวส.และอนุปริญญา ๔ รูป, ม.๓ เพียง ๑ รูป ป.๔ เพียง ๒ รูป
ในจำนวนสามเณรีเหล่านี้ มีต่างชาติ ๒ รูป คือ จากออสเตรีย และฮอลแลนด์ ส่วนสามเณรีชาวไทยมาจาก ๑๕ จังหวัด กระจายจากทุกภาค ทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก
อย่างไรก็ตาม จากความสำเร็จในการบรรพชาสามเณรีภาคฤดูร้อน มีเสียงเรียกร้องให้จัดการบรรพชาเป็นประจำ เพราะเป็นพื้นที่แห่งเดียวที่เปิดโอกาสให้สตรีได้เข้ามาบวชเรียนอย่างแท้จริง
ทางวัตรจึงทดลองโครงการที่ ๒ เป็นการบรรพชาในพรรษา ประจำปี ๒๕๕๒ วันที่ ๕ กรกฎาคม-๑๙ ตุลาคม โดยมีวัตถุประสงค์ ๑.เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีได้มีโอกาสบรรพชาตามเจตจำนงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒.เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีได้ศึกษาพระธรรมวินัยช่วงเข้าพรรษา ๓.เพื่อเป็นการสร้างฐานสตรีชาวพุทธที่มีคุณภาพ และ ๔.เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
เนื่องจากระยะเวลายาวถึง ๓ เดือน จึงมีผู้สมัคร ๑๒ คน แต่ก็ได้อยู่ร่วมศึกษา และปฏิบัติจนครบตามกำหนด จากการประเมินผล พบว่า ประสบความสำเร็จพอควร คนอายุน้อยที่สุด ๒๔ ปี อายุมากที่สุด มาไกลจาก จ.สตูล อายุ ๗๒ ปี
และครั้งที่ ๓ โครงการบรรพชาสามเณรี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ในระหว่างวันที่ ๕-๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ ด้วยการให้ลูกผู้หญิงมีโอกาสถวายพระราชกุศลโดยการบรรพชา และศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเข้มข้น และปฏิบัติธรรมตลอดระยะเวลา ๙ วัน มีผู้รับการบรรพชาเป็นสามเณรี ๓๔ รูป อายุมากที่สุด ๘๓ ปี คือ นางกัลยา สาคริก และอีกท่านหนึ่ง คือ พลตรีหญิงวธนี สุนทรเสณี อายุ ๖๔ ปี
ผู้อาวุโส ๒ ท่านนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้อง และรุ่นลูกหลาน ท่านเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่าง โดยไม่มีข้อยกเว้น รวมทั้งออกบิณฑบาต ที่ต้องเดินไกลถึง ๒ กม.ด้วย
คนที่อายุน้อยที่สุด ๒๔ ปี ทั้ง ๓๕ คน มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ ๔๗ มีผู้ที่จบปริญญาเอก ๑ ท่าน จบปริญญาโท ๑๑ ท่าน จบปริญญาตรี ๑๕ ท่าน นอกนั้นจบประกาศนียบัตร
นับว่า เป็นกลุ่มสตรีที่มีการศึกษา และมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี
“ตั้งใจที่จะประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ โดยสนับสนุนการบวชระยะยาวมาโดยตลอด แต่เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนภิกษุณีในสายเถรวาท ที่อินโดนีเซีย ซึ่งมีภิกษุณีเพียง ๒ รูปในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีชาวพุทธเพียง ๑% และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะภิกษุณีด้วยกัน ภิกษุณีสันตินี คนหัวหน้า ท่านเล่าให้ฟังว่า งานของท่านนั้น ท่านจัดการบรรพชาสามเณรีภาคฤดูร้อนทุกปี เป็นการปลูกฝังพระศาสนาในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่ละปีได้ ๖-๗ คน แต่ก็จัดการบรรพชามาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นโครงการที่นักศึกษามหาวิทยาลัยรู้จักกันดี ท่านแนะนำอาตมาว่า ควรจะจัดบรรพชาให้สตรีนะ ตรงนี้เองที่เป็นที่มาของประกายความคิดเรื่องโครงการบรรพชาสามเณรี” นี่คือ เหตุผลในการจัดบรรพชาสามเณรีภาคฤดูร้อนของหลวงแม่
พร้อมกันนี้ หลวงแม่ยังบอกด้วยว่า เดิมทีนั้น คิดว่าผู้หญิงที่จะออกบวชเพื่อสืบพระศาสนานั้น ควรจะคัดสรรเฉพาะคนที่มีความตั้งใจจริง และอุทิศตนให้แก่พระศาสนาอย่างแท้จริง
นั่นหมายถึง บวชตลอดชีวิต หรือมิฉะนั้น ก็ต้องเป็นการบวชระยะยาว ฉะนั้น โอกาสที่ผู้หญิงจะบวช จึงมีจำกัดมาก เพราะผู้หญิงที่จะได้ทบทวนชีวิตของตน ชัดเจนในเป้าหมาย และเส้นทางชีวิต ก็ต้องเป็นสตรีที่มีวุฒิภาวะมากพอควร อย่างน้อยก็อยู่ในวัย ๓๐-๔๐ ที่จะพิจารณา และเกิดความคิดที่จะอยากบวช
แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงตอนนั้น ถึงวัยนั้นของชีวิต ก็ได้สร้างเงื่อนไข ผูกพันชีวิตด้วยครอบครัว สามี ลูก และหน้าที่การงานไปแล้ว
สตรีบางคนไม่มีครอบครัวของตนเอง แต่อยู่ในฐานะผู้สร้างรายได้หลักให้แก่ครอบครัว ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งมารดาและบิดา ซึ่งมาถึงตอนนี้ก็แก่เฒ่าชราลงแล้ว
สตรีที่จะบวชได้จริงในระยะยาว จึงเป็นความคิดที่ไม่สมจริง
สำหรับกิจกรรมตลอดการบรรพชานั้น ผู้บวชจะได้รับความรู้เรื่องพุทธศาสนาครอบคลุมทุกด้าน เช้าและเย็น ๔ ชั่วโมง เพราะตระหนักว่า ชาวพุทธในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวพุทธเพียงในทะเบียนบ้าน เนื่องจากผู้เข้าบวชเป็นผู้หญิงทำงาน มีความรู้ มีประสบการณ์ จึงเกิดการตระหนักรู้ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในระหว่างที่บวชนั้น สามเณรีได้ทั้งองค์ความรู้ การฝึกซ้อมสวดมนต์ การฝึกซ้อมออกบิณฑบาต ทำความเข้าใจกับพิธีกรรมต่างๆ ในพุทธศาสนา ซึ่งตามปกติแล้ว มักทำตามกันโดยประเพณี และขาดความรู้ความเข้าใจ
"การที่ผู้หญิงออกบวช แม้เป็นช่วงเพียง ๙ วัน ก็นำไปสู่ความคลี่คลายอย่างเห็นได้ชัดเจน ครอบครัวที่มีแต่ลูกสาว ก็ไม่ต้องเสียใจ บัดนี้ สามารถบวชลูกสาวได้แล้ว ครอบครัวหนึ่งมีลูกสาว ๖ คน เมื่อตอนที่พ่อแม่มาขริบผมก่อนที่จะปลงผมนั้น ได้เห็นภาพที่ตรึงตราตรึงใจ ทั้งพ่อแม่ และนาคิณี (นาคหญิง) ร่ำไห้ด้วยความปลื้มปีติ เป็นภาพที่ตรึงใจผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง การบรรพชาสามเณรีชั่วคราวนี้ แม้ไม่ได้อยู่เพื่อที่จะอุปสมบทภิกษุณี อาตมาก็ไม่ได้หวังอะไรมาก นอกจากเป็นการสร้างฐานชาวพุทธที่มีคุณภาพขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสังคมในภาพกว้าง ที่ผู้หญิงเปรียบเสมือนหัวใจของบ้าน จะมีความสามารถในการดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น มีความเข้าใจในพุทธศาสนามากขึ้น และใช้ชีวิตเยี่ยงชาวพุทธที่ดีขึ้นนั่นเอง" หลวงแม่ กล่าวทิ้งท้าย
"การบรรพชาสามเณรีชั่วคราวนี้ อาตมาไม่ได้หวังอะไรมาก นอกจากเป็นการสร้างฐานชาวพุทธ ที่มีคุณภาพขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสังคมในภาพกว้าง ที่ผู้หญิงเปรียบเสมือนหัวใจของบ้าน จะมีความสามารถในการดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น"
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"