
'พระแท้'ไม่มีคำว่า'แพง''แพะ สงขลา'นักวิเคราะห์พระหลวงพ่อทวด
ในบรรดานักสะสม พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี โดยเฉพาะที่เป็นชาวปักษ์ใต้โดยกำเนิดแล้ว วิจิตร ปิยะศิริโสฬส หรือ แพะ สงขลา นับได้ว่า เป็นนักสะสมพระหลวงพ่อทวด ระดับแนวหน้าคนหนึ่ง ที่นอกจากจะมีความสามารถในการพิจารณา พระแท้ พระปลอม ได้อย่างแม่นยำแล้ว ยังเ
แพะ สงขลา บอกว่า พระหลวงพ่อทวด ที่สร้างในสมัย พระอาจารย์ทิม (พระครูวิสัยโสภณ) เจ้าอาวาสวัดช้างให้ จ.ปัตตานี มีมากมายหลายรุ่น หลายพิมพ์ ทั้งชนิดเนื้อว่าน เนื้อโลหะ รวมทั้งเหรียญรุ่นต่างๆ ซึ่งถ้าหากนำมาศึกษาและวิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว จะพบว่า พระแต่ละรุ่น มีพิมพ์ทรงองค์พระแตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลาย
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้แพะเกิดความสนใจเป็นพิเศษ จนต้องศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ผลสรุปว่า พระแต่ละรุ่นมีกี่พิมพ์ รูปพรรณสัณฐาน และเนื้อหามวลสาร แตกต่างกันตรงไหน อย่างไรบ้าง? โดยค้นหาคำตอบจากพระแต่ละองค์อย่างละเอียด ทุกซอกทุกมุม จนพบจุดสำคัญต่างๆ ของพระแต่ละรุ่นแต่ละพิมพ์มากมาย ซึ่งนอกจากจะบ่งบอกถึงความเป็น พระแท้ ได้แล้ว ยังบอกได้ว่า เป็นพระพิมพ์อะไรอีกด้วย
นอกจากนี้ จุดต่างๆ ของพระแต่ละพิมพ์ ยังเป็นตัวกำหนดราคาซื้อขายได้อีกด้วย โดยเฉพาะพิมพ์ที่มีน้อยหายาก ย่อมจะมีราคาสูงกว่า พิมพ์ที่มีจำนวนมากกว่า และพบเห็นโดยทั่วไป
การวิเคราะห์พระหลวงพ่อทวดของ แพะ สงขลา ในเวลานี้ ได้ประมวลเป็นข้อมูลเอาไว้แล้วหลายรุ่น เช่น เหรียญรุ่น ๓ ซึ่งมีจำนวนพิมพ์มากที่สุด ในบรรดาเหรียญหลวงพ่อทวดด้วยกัน รองลงมา คือ เหรียญเม็ดแตง และพระรุ่นอื่นๆ ที่กำลังจะวิเคราะห์ต่อไป
แพะ บอกว่า ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ เมื่อครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือตำราในวันข้างหน้า เพื่อเป็นคู่มือในการศึกษาและสะสมพระหลวงพ่อทวด สำหรับผู้สนใจโดยทั่วไป
ก่อนที่จะก้าวย่างมาถึงทุกวันนี้ แพะเล่าย้อนอดีตของตัวเองว่า "ผมเป็นคนสงขลาโดยกำเนิด ตอนเด็กๆ บ้านอยู่ถนนนางงาม (เก้าห้อง) เมื่อเรียนจบชั้นประถมแล้ว ได้สอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จนจบชั้น ม.ศ.๕ จากนั้นได้สอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เรียนอยู่ ๒ ปีก็พอดีไปสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ เลยเปลี่ยนแผนการเรียนใหม่ จนเรียนจบปริญญาตรี ด้วยคะแนนที่น่าพอใจ ทั้งๆ ที่ผมต้องทำงาน เพื่อหาเงินเรียนหนังสือด้วยตนเองตลอดเวลา ทั้งนี้โดยได้อาศัยวัดเจ้ามูลเป็นที่พำนัก"
เมื่อเรียนจบธรรมศาสตร์ แพะได้ผ่านการทำงานมาแล้วทุกรูปแบบ และที่ท้าทายที่สุด คือ การไปทำงานเป็นฝ่ายธุรการของเรือประมงที่ประเทศเวียดนาม มานานกว่า ๑๕ ปี จนพูดและอ่านเขียนภาษาเวียดนามได้
ในเรื่องของพระเครื่อง แพะบอกว่า สมัยเด็กที่ข้างบ้านมีร้านขายกาแฟ ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของเซียนพระท้องถิ่น เห็นผู้ใหญ่เขาส่องดูพระกันทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นพระหลวงพ่อทวด
วันหนึ่ง มีคนเอาพระหลวงพ่อทวด พิมพ์กลาง เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ สภาพสึก มาขายในราคา ๘๐๐ บาท คุณลุงท่านหนึ่งบอกแพะว่า หากสนใจพระหลวงพ่อทวด ให้เอาองค์นี้ไว้ แม้จะไม่สวย แต่เป็นพระแท้ดูง่าย และราคาไม่แพง แพะจึงได้ซื้อพระองค์นั้นไว้ด้วยความตื่นเต้น เพราะเป็นพระองค์แรกที่ซื้อด้วยเงินของตัวเอง
ช่วงที่เรียนธรรมศาสตร์ แพะได้เข้าสนามพระท่าพระจันทร์ในบางวัน ก็ได้แต่เดินดูตามแผงพระต่างๆ ด้วยความสนใจ แต่ไม่กล้าซื้อ เพราะไม่มีความคุ้นเคยกับใคร และที่สำคัญ คือ ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อพระในราคาแพงๆ
วันหนึ่ง มีญาติบอกว่า ที่วัดเอี่ยมวรนุช บางขุนพรหม มีเหรียญหลวงพ่อทวด ตกค้างอยู่จำนวนหนึ่ง ให้ไปเช่าเก็บเอาไว้ เป็นเหรียญที่พระอาจารย์ทิม มอบให้วัดเอี่ยมวรนุช
แพะจึงไปเช่าเหรียญรุ่นนี้ที่วัดเอี่ยมฯ เหรียญละ ๒๙๙ บาท เป็นเหรียญรูปไข่ รุ่น ๔ (มารู้ภายหลังว่า เป็นพิมพ์ ๑๐ ขีด ที่นิยมกันมาก ทุกวันนี้ซื้อขายกันที่หลักหมื่นขึ้นไป)
เมื่อเรียนจบธรรมศาสตร์ และกลับไปทำงานอยู่ที่สงขลา วันหนึ่งได้พบกับ แต๊ก สงขลา (ภิยวัฒน์ วัฒนายากร) นักสะสมพระคนดังของเมืองสงขลา
แต๊ก แนะนำว่า หากสนใจเล่นพระ อย่าเล่นพระนอกระบบ ที่วงการไม่นิยมกัน ต้องเล่นแต่พระแท้ และเป็นพระมาตรฐานสากลที่วงการพระส่วนใหญ่เล่นหา และยอมรับกัน อนาคตถึงจะก้าวไกล
และที่สำคัญ หากยังดูพระไม่เป็น ก็ต้องศึกษา "คน" เสียก่อน ซึ่งวงการพระก็ย่อมมีทั้งคนดี และคนไม่ดี คนที่รู้จริงและยินดีให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ย่อมทำให้เราดูพระเป็น และเล่นแต่พระแท้ไปด้วย
คำแนะนำนี้ นับเป็นปฐมบท สำหรับน้องใหม่ทุกคน ที่เพิ่งหันมาสนใจสะสมพระ ควรจะจดจำเอาไว้ เพราะเป็นหลักการสำคัญ ที่คนในวงการพระทุกยุคทุกสมัย ยึดถือปฏิบัติกันมานานแล้ว
แพะบอกด้วยว่า แต๊ก สงขลา นับเป็น "ครู" คนแรก ที่แพะให้ความนับถือมาก แม้ว่าแต๊กจะมีอายุน้อยกว่าก็ตาม แต่ความรอบรู้ในเรื่องพระ แต๊กมีกว้างไกลมาก
และด้วยความรักนับถือซึ่งกันและกัน ทำให้แต๊กถึงกับมอบ พระหลวงพ่อหลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ เอ ปี ๒๕๐๕ ให้กับแพะ ๑ องค์ เป็นการให้กันเปล่า ทั้งๆ ที่สมัยนั้น หากจะซื้อขายกันก็ต้องได้กว่า ๓ หมื่นบาท และหากจะคิดมูลค่าในทุกวันนี้ ก็ต้องกว่า ๒ แสนบาทขึ้นไป
แพะ บอกว่า "ผมกลับมาจากเวียดนามเมื่อ ๖ ปีก่อนหน้านี้ พร้อมกับเงินจำนวนหนึ่ง จึงได้เอาไปเช่าพระหลวงพ่อทวดจนเกือบหมด ได้พระนับร้อยองค์ ครบทุกรุ่น ซึ่งล้วนเป็นพระแท้ เพราะเช่าจากเซียนใหญ่สายตรงหลวงพ่อทวดทั้งนั้น และยังมีการรับรองให้ด้วย ผมจึงเอาพระทั้งหมดนี้เป็นตำรา สำหรับการศึกษาค้นหาความจริงบนองค์พระทุกองค์ ด้วยความตั้งอกตั้งใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพระเนื้อว่าน รุ่นแรก ปี ๒๔๙๗ พระรุ่นหลังเตารีด รุ่นหลังตัวหนังสือ และเหรียญทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นแรก ปี ๒๕๐๐ จนถึงรุ่นสุดท้าย ปี ๒๕๑๑ โดยเฉพาะเหรียญเม็ดแตง ซึ่งมีมากถึง ๕๙ เหรียญ จนเพื่อนๆ เรียกผมว่า 'แพะ เม็ดแตง' จากการที่ผมมีเหรียญเม็ดแตงมากนี่เอง ผมจึงได้ศึกษาเหรียญรุ่นนี้อย่างจริงจัง สรุปได้ว่า เหรียญเม็ดแตงมีทั้งหมดประมาณ ๑๕ พิมพ์ ส่วนเหรียญรุ่น ๓ ซึ่งมีการสร้างมากที่สุด ในบรรดาเหรียญหลวงพ่อทวดทั้งหมด สามารถแยกพิมพ์ต่างๆ อย่างละเอียดได้มากกว่า ๒๔ พิมพ์"
เหรียญหลวงพ่อทวด รุ่น ๓ แพงที่สุด คือ พิมพ์รัดประคดข้างเดียว ๒ จุด (กว่า ๓ แสนบาท) รองลงมาคือ พิมพ์รัดประคดเต็ม ๒ จุด พิมพ์หน้าผาก ๒ เส้น รัดประคดข้างเดียว พิมพ์ ๓ ขีดใน (กิ่งไผ่) พิมพ์ช้างปล้อง พิมพ์ลึก พิมพ์ตื้น ซึ่งมีราคาถูกที่สุดในบรรดาเหรียญรุ่น ๓ แต่ราคาก็ต้องกว่าหมื่นบาทขึ้นไป
ส่วน เหรียญเม็ดแตง แพงที่สุด คือ พิมพ์หน้าผาก ๔ เส้น หนังสือเลยหู รองลงมา พิมพ์หน้าผาก ๓ เส้น หนังสือเลยหู พิมพ์หน้าผากปีกกา พิมพ์ "ณ" แตก หนังสือเลยหู พิมพ์ "ณ" แตก หนังสือไม่เลยหู ฯลฯ แต่ละรุ่นซื้อขายกันที่หลักหมื่นขึ้นไปเช่นกัน
ว่ากันตามความจริง การแยกพิมพ์พระหลวงพ่อทวด ได้มีผู้ทำกันมาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว แต่ไม่ละเอียดมากพิมพ์เท่ากับที่แพะได้วิเคราะห์ไว้นี้ จึงนับได้ว่า แพะเป็นคนแรกที่ได้แยกพิมพ์ต่างๆ ของพระหลวงพ่อทวดไว้มากที่สุด จะเรียกว่าเป็น นักวิเคราะห์พระหลวงพ่อทวด โดยตรงก็ได้
เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง แพะได้สำรวจตัวเองพบว่า มีพระหลวงพ่อทวดทั้งหมดครบทุกรุ่น กว่า ๑๐๐ องค์ มูลค่ากว่า ๗ ล้านบาท จึงคิดว่า ควรจะแบ่งให้คนอื่นไปบ้าง โดยคัดเลือกเก็บเฉพาะองค์ที่สวยสมบูรณ์คมชัดมากที่สุด เอาไว้อย่างละ ๔-๕ องค์ นอกนั้นได้นำไปเปิดราคาขายทางนิตยสารพระบ้าง ทางเวบไซต์บ้าง ปรากฏว่า เพียงแค่ปีเดียว ก็ได้เงินกลับมากว่า ๑๐ ล้านบาท
พระหลวงพ่อทวด ที่แพะเหลือเก็บอยู่ในขณะนี้ จึงเท่ากับเป็นพระที่ได้มาโดยไม่มีทุนแต่ประการ
แพะไม่มีร้านพระเป็นของตัวเอง เพราะไม่ได้ยึดอาชีพซื้อขายพระเป็นหลัก แต่ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่โทร.๐๘-๙๑๓๒-๑๕๘๘ หรือทางเวบไซต์ uamulet (ชื่อ "เหนียวจัง")
แพะกล่าวในตอนท้ายว่า "พระแท้ไม่มีคำว่าแพง จะมีก็แต่ราคาสูงกว่าพระทั่วไป และนับวันพระแท้จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ต่างกับพระปลอม ซึ่งไม่มีคุณค่าอะไร ซื้อมา ๑๐ บาทก็นับว่าแพงแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม พระปลอมก็ยังคงเป็นพระปลอมที่ไม่มีค่า ไม่มีคนซื้อ ให้กันฟรีๆ ยังไม่มีคนเอาด้วยซ้ำไป"
หากท่านผู้ใดมีปัญหาเกี่ยวกับพระหลวงพ่อทวด แพะบอกว่า ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อพระจากเขาก็ได้
สำหรับบ้านของแพะที่สงขลา คือ บ้านขนมไทยสอง-แสน ถนนนางงาม (เก้าห้อง) อ.เมือง เป็นร้านขนมไทยโบราณและขนมไทยพื้นบ้านปักษ์ใต้ ซึ่งพี่สาวได้ทำขายมานานปี ขายดีจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ ด้วยรสชาติที่เข้มข้นครบสูตร เอร็ดอร่อยตามแบบอย่างคนสมัยก่อน ที่ทำกินกันเองในครัวเรือน ซึ่งทุกวันนี้ ขนมอร่อยๆ แบบนี้หากินได้ยากนัก
0 ตาล ตันหยง 0