พระเครื่อง

ชั่วโมงเซียน-พระบัวเข็มพระ...ชนะมารบันดาลโชค

ชั่วโมงเซียน-พระบัวเข็มพระ...ชนะมารบันดาลโชค

27 ธ.ค. 2552

เรื่องราวของ "พระอุปคุตเถระ" หรือ "พระบัวเข็ม" ไม่ค่อยปรากฏเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในเมืองไทย เหมือนพระพุทธรูปองค์อื่นๆ เพราะพระบัวเข็มเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย เมื่อปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

 ทั้งนี้ เพราะเหตุที่ขณะทรงผนวช ทรงสนิทสนมกับพระภิกษุชาวมอญมาก โดยทรงศึกษาประวัติพระพุทธศาสนา และพระธรรมวินัย จากพระภิกษุชาวมอญ ทรงแตกฉานในพระธรรมวินัยทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และด้วยการที่ทรงติดต่อคุ้นเคยกับพระภิกษุชาวมอญมาโดยตลอด

 เมื่อพระภิกษุชาวมอญเข้าเฝ้าที่วัดบวรนิเวศวิหารครั้งใด ก็มักนำพระบัวเข็มเข้ามาถวายอยู่เนืองๆ 

 และด้วยเหตุที่ทรงทราบประวัติความเป็นมาของพระบัวเข็มมากกว่าบุคคลใดในสมัยนั้น จนถึงทรงยอมรับพระบัวเข็มเข้าในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ (พิธีขอฝน)

 ประวัติ "พระบัวเข็ม" มีปรากฏในหนังสือ "พระปฐมสมโพธิกถา" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงความสามารถและความวิเศษของ "พระอุปคุปต์เถระ" ความว่า

  "...พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘๔,๐๐๐ องค์ และจะจัดงานสมโภชพระมหาเจดีย์ถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน แต่เกรงว่า จะไม่พ้นภัยจากพญามารที่จะขัดขวางทำลายพระราชพิธีบุญนี้ พระอุปคุปต์เถระเจริญกรรมฐานอยู่ ณ ปราสาทแก้วกลางมหาสมุทร ได้รับสังฆบัญชาจากพระเถระทั้งหลาย จึงเข้าฌานสมาบัติ มาช่วยปกป้องภยันตรายจากพญามาร ซึ่งไม่ส่งเสริมความดีของผู้ใด และคิดทำลายพิธีบุญนี้อยู่ พญามารได้แสดงอิทธิฤทธิ์ให้บังเกิดลมพายุอย่างแรง เป็นลมกรด เพลิง และประการต่างๆ แต่พระอุปคุปต์ก็สามารถเข้าฌานสมาบัติแก้ไขได้ทุกอย่าง จนในที่สุดพญามารก็พ่ายแพ้แก่พระอุปคุปต์ และระลึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า และละพยศอันร้ายกาจนับแต่กาลนั้น..."

 การสร้างรูปเคารพของพระบัวเข็มนั้น มีรูปลักษณะที่แตกต่างกันอยู่มากตามแต่ผู้สร้างจะคิดประดิษฐ์รูปลักษณะตามประวัติแล้ว จัดสร้างขึ้นในอากัปกิริยาตามอิทธิปาฏิหาริย์ของพระอุปคุตเหลือที่จะพรรณนาได้ เช่นเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั่วไปเหมือนกัน

 เท่าที่สังเกต พระบัวเข็มในประเทศไทยแบ่งออกได้ ๒ แบบ คือ แบบมอญแบบหนึ่ง และแบบพม่าแบบหนึ่ง

 พระบัวเข็มทั้งสองแบบนี้ คงอาศัยรูปแบบของพระบัวเข็มในอินเดียเป็นหลักสำคัญ แต่มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงขึ้นตามความนิยมในประเทศมอญ และพม่า

 ส่วนลักษณะของพระบัวเข็มทั้ง ๒ แบบนั้น แยกลักษณะออกเป็นส่วนสำคัญได้ดังนี้

 ๑. พระเศียร ทั้งแบบมอญและพม่า ทำเป็นรูปใบบัวคลุมศีรษะ แต่แบบพม่าจะดัดแปลงใบบัวเป็นเมาฬียอดตูมสูงกว่าของมอญ

 ๒. พระหัตถ์ โดยปกติพระบัวเข็ม พระหัตถ์อยู่ในท่าเหมือนพระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่ผู้สร้างพระบัวเข็มในประเทศมอญจะเปลี่ยนลักษณะลำแขนของพระบัวเข็ม ให้เหยียดตรงไม่งอข้อศอก โดยประสงค์ให้แตกต่างจากลักษณะของพระพุทธรูป ส่วนพระบัวเข็มของพม่านั้น แขนขวางอพักข้อศอกเหมือนพระพุทธรูปปางมารวิชัย

 ๓. แท่นหรือฐาน ลักษณะแท่นรองพระบัวเข็มนั้น ทำแบบต่างๆ บางองค์ที่ฐานประดับด้วยกะโหลกผี บางองค์ทำเป็นรูปแม่พระธรณีบีบมวยผม บางองค์ทำเป็นหัวช้างโผล่ออกมา หรือทำเป็นรูปยักษ์แบกฐานก็มี

 แต่โดยทั่วไป มักทำเป็นรูปประทับนั่งบนบัวคว่ำบัวหงาย ที่ฐานด้านหลังเว้นที่ไว้เพื่อจารึกนามผู้สร้าง หรืออุทิศให้ผู้ตาย

 ๔. บัวและเข็ม ลักษณะสำคัญของพระอุปคุตที่ทำให้คนไทยเราเรียกชื่อท่านต่างไปจากชื่อเดิม เพราะคนไทยเราไปเห็นลักษณะเด่นขององค์ประกอบคือ ใบบัวและเข็ม

 "ใบบัว" นั้นปรากฏอยู่ ๒ แห่ง คือที่พระเศียร ทำเป็นคลุมด้วยใบบัว กับที่ใต้ฐานมีกอบัวใบบัวดอกบัวรวมกับสัตว์น้ำอื่นๆ แล้วแต่จะคิดสร้างขึ้น

 ส่วนเข็มตุ้มที่ปักนั้น แต่เดิมว่ากันว่า เป็นที่บรรจุพระธาตุ แต่ภายหลังคงหาพระธาตุบรรจุได้ยาก จึงทำเป็นเข็มตุ้มไว้เฉยๆ มีจำนวน ๓ เข็ม ๕ เข็ม ๗ เข็ม และ ๙ เข็ม โดยวางไว้ในตำแหน่งต่างกัน คือ ที่หน้าผาก ๑ ที่ แขนทั้ง ๒ ที่หน้าอก ที่มือทั้ง ๒ ที่หัวเข่าทั้ง ๒ และด้านหลังหนึ่ง แล้วแต่ว่าพระบัวเข็มองค์นั้นๆ จะบรรจุตุ้มเข็มมากน้อยเพียงใด คนทั่วไปมักแสวงหาพระที่มีการบรรจุเข็มมากแห่งด้วยกัน เพราะถือว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

 ๕. จีวร พระบัวเข็มมักทำจีวรแบบบางๆ แนบกาย หรือทำเป็นจีวรถลกขึ้นพาดบ่าก็มี ตามที่กล่าวมานี้ เป็นพระบัวเข็มที่ทำขึ้นเป็นรูปพระมหาเถระนั่งก้มหน้า อยู่บนแท่นอย่างธรรมดา แต่ยังมีแบบพิเศษอีก ๔ แบบ คือ 

 ๑. แบบฉันอาหาร พระบัวเข็มลักษณะนี้เป็นรูปพระเถระนั่งบนแท่นบัวคว่ำบัวหงาย หันหน้าเอี้ยวไปทางขวามือขวา กำลังล้วงข้าวจากบาตรที่อยู่ในมือซ้าย

 ๒. แบบปรกมังกร พระบัวเข็มลักษณะนี้ เป็นลักษณะพม่าผสมจีนทำเป็นรูปพระเถระนั่งอยู่ในท่ามารวิชัย เหนือศีรษะทำเป็นมังกรโผล่หัวง้ำหน้าออกมา เหมือนพระพุทธรูปปางนาคปรกของไทยเรา

 ๓. แบบคลุมโปง ลักษณะเป็นรูปพระเถระนั่งคลุมผ้า มองไม่เห็นหน้า คงเป็นตอนที่พระอุปคุตนั่งสมาธิอยู่ด้วยฌานสมาบัติ สิ้นสุดทิวาวารภายในปราสาทแก้วเจ็ดประการใต้ท้องมหาสมุทร

 ๔. แบบทรงเครื่อง พระบัวเข็มลักษณะนี้เข้าใจว่ากษัตริย์มอญหรือพม่า สร้างพระอุปคุตให้ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิขึ้นก่อนแล้วสามัญชนมาทำเลียนแบบขึ้นภายหลัง พระอุปคุตทรงเครื่องจักรพรรดินี้พบมากที่เมืองเชียงตุง

 พระบัวเข็มเป็นหนึ่งในห้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวพม่า ที่ชาวพุทธนิยมเดินทางไปกราบไหว้ขอพร ประดิษฐานอยู่ที่วัดผ่องดออู บริเวณริมทะเลสาบอินเล ประเทศพม่า ชาวพุทธไทยไปกราบไหว้ ตามความเชื่อของชาวพม่า

 การสร้างพระบัวเข็มจำลอง จะต้องทำจากต้นโพธิ์ที่มีอายุ ๑๐๐ ปี ขึ้นไป ซึ่งยืนต้นแห้งเองไปตามธรรมชาติ เมื่อสร้างเสร็จจะนำพระบัวเข็มประดิษฐานบนเรือการะเวก ซึ่งมีรูปร่างเหมือนนกการะเวก ล่องเรือไปกลางทะเลสาบอินเล  โดยเลือกวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ ประกอบพิธีบวงสรวงเทพยดา พุทธาภิเษก เจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตตภาวนา 

 ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ คณะศรัทธาของคุณไพศาล คุณผลิน และญาติธรรม พร้อมผู้บริหารบริษัทไทยพัฒนาประกันภัยจำกัด ได้เดินทางไปกราบไหว้ขอพรแล้วประสบความสำเร็จ จึงขออนุญาตทางวัดนี้ เพื่อสร้างองค์พระบัวเข็มจำลองมาประดิษฐานที่เมืองไทย ประเทศพม่า มีจิตศรัทธา สร้างพระบัวเข็มพร้อมประกอบพิธีดังกล่าวนี้ แล้วนำมาถวายพระเทพคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร และนำพระบัวเข็มประดิษฐานถาวรไว้ที่ มณฑปจตุรมุข วัดเทวราชกุญชร

  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระบูชาพระอุปคุต ที่มีศิลปะแบบพม่าอยู่มากมาย แต่ถ้าเป็นพระอุปคุตที่นิยมในวงการพระเครื่อง ต้องยกให้ พระอุปคุต เนื้อสัมฤทธิ์เงิน ศิลปะเขมร ซึ่งมีอยู่มากมายหลายพิมพ์

  รูปลักษณะของพระอุปคุต ที่เป็นรูปเคารพโดยทั่วไป มักทำเป็นรูปองค์พระนั่งอยู่ภายในหอยสังข์ มีขนาดศีรษะค่อนข้างใหญ่ เน้นส่วนคิ้ว ตา จมูกให้เห็นชัดเจน
 
 และเนื่องจากที่อาศัยจำพรรษาของพระอุปคุตอยู่ในปราสาทแก้วกลางมหาสมุทร จึงมักทำรูปสัตว์น้ำเป็นสัญลักษณ์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ

  คติความเชื่อเกี่ยวกับพุทธคุณของผู้ที่บูชาพระอุปคุต เชื่อว่า บัวเข็มนี้ถือกันว่า เป็นพระที่มีความศักดิ์สิทธิ์ อภินิหารในทางชนะศัตรูหมู่มาร และในทางบังเกิดความอุดมสมบูรณ์ ลาภสักการะ ความร่ำรวยอย่างยิ่งแก่ผู้เคารพบูชา มีพุทธโดดเด่นด้านโชคลาภ และคุ้มกันภัยภิบัติอันตรายทั้งปวง

  วิธีสวดขอลาภ ให้จุดธูปเทียนบูชา พร้อมกับดอกไม้หอม เครื่องหอม น้ำหอมต่างๆ เทหยดใส่ในขันน้ำมนต์ ณ ที่บูชาพระ ในร้านค้าขาย หรืออาคารสำนักงาน แล้วอธิษฐานขอให้กลิ่นควันธูปเทียน ลมพัดไปทางไหน ขอให้ดลใจผู้คนเข้ามาอุดหนุนตลอด ขอให้ดำเนินกิจการด้วยความราบรื่น มีความสำเร็จสมปรารถนา ทุกประการ

  ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงอยากแนะนำให้ไปกราบไหว้ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล ที่วัดเทวราชฯ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับหอสมุดแห่งชาติ เทเวศน์  หรือสอบถามเส้นทางได้ที่ โทร.๐-๒๒๘๑-๒๔๓๐ โชคดีเป็นของผู้อ่านทุกท่าน ปีหน้าพบกับใหม่

ป๋อง สุพรรณ