"พระหูยาน" ตำนานพระกรุ 800 ปี ลพบุรีกรุแตก ดูแบบหน้ายักษ์ หน้ามงคล อกกากบาท
เรียนรู้ "พระหูยาน" พระกรุที่เป็นตำนานที่มีความเชื่อทางพุทธคุณ แคล้วคลาด-ปลอดภัย อย่างที่ จ.ลพบุรี ที่มีอายุกว่า 800 ปีตั้งแต่สมัยขอมจนถึงกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
-พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
พระกรุ คือ พระที่พระมหากษัตริย์ หรือเจ้าเมือง สร้างขึ้นเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นตัวแทนขององค์พระพุทธเจ้า เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือ สร้างเพื่อให้ทหารหาญนำติดตัวไปออกรบ สร้างขวัญ กำลังใจ ปลุกพลังให้ฮึกเหิม และพร้อมต่อสู้กับข้าศึกอย่างไม่หวาดหวั่น และอาจมีพระบางส่วนนำไปบรรจุกรุไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น พระปราง เจดีย์ หรือใต้ฐานพระประธาน เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาและน้อมระลึกถึงทหารหาญผู้เสียสละชีพให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึง ประวัติศาสตร์และศิลปกรรม
ในสมัยก่อน การสร้างพระพุทธรูปบูชา และพระเครื่อง พุทธศิลป์ล้วนสะท้อนถึงเหตุการณ์ และวัฒนธรรมที่มีอำนาจสูงสุดในสมัยนั้นๆ เพราะฉะนั้น ศิลปะพระในแต่ละยุค แต่ละสมัยจึงมีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะของยุคสมัย เช่น พระพุทธรูปบูชา สมัยสุโขทัย ในสมัยนั้นยุคบ้านเมืองเจริญ ประชาชนอยู่ดีมีสุข พุทธศิลป์สมัยสุโขทัย องค์พระจะมีใบหน้าอิ่มเอิบ หวานซึ้ง อ่อนช้อย งดงาม มีเมตตาธรรม
พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี มีอายุการสร้างมากกว่า 800 ปี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมัน ในขณะขอมเรืองอำนาจ ในสมัยนั้นกษัตริย์ขอมที่ยิ่งใหญ่ สร้างเทวลัยในศาสนาฮินดู จากนั้นค่อยๆ กลายเป็นวัดในศาสนาพุทธ จนกลายเป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ของโลก จากสถานที่ตามประวัติศาสตร์ และศิลาจารึก รวมถึงรูปภาพตามผนังศาสนสถาน บ่งบอกถึงพุทธศิลป์ของพระหูยาน สร้างตามแบบของความเชื่อในการเป็นตัวแทนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าในแบบหนึ่ง รูปแบบตามทัศนคติของช่างครูโบราณ พุทธศิลป์ของพระ จึงแสดงออกถึงความมีเมตตา แต่แฝงไว้ด้วยความน่าเกรงขาม ดุดัน พร้อมทั้งที่จะปกป้องผองภัยและทำลายศัตรูให้หมดไป พุทธคุณของพระหูยานจึงเป็นที่โจษขาน ในเรื่องแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และบรรลุถึงอำนาจที่พึงมี
กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี เป็นวัดที่อยู่กลางเมืองลพบุรี สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นวัดแหล่งกำเนิดพระกรุมากมาย เช่น พระร่วงหลังลายผ้า พระหูยาน พระยอดขุนพล พระนาคปรก เป็นต้น
พระหูยาน ศิลปะเป็นแบบอู่ทองคล้ายเขมรบายนแตกกรุด้วยกัน 2 ครั้งที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมื่อประมาณปีพ.ศ.2450 เรียกกันว่า พระกรุเก่า ครั้งที่ 2 แตกเมื่อปีพ.ศ.2508 ที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเช่นกัน เรียกว่า พระกรุใหม่และสันนิษฐานว่าคงเป็นพระที่สร้างขึ้นมาพร้อมกัน เพราะว่าตำหนิพระในองค์พระนั้นเหมือนกันทุกประการ
พระกรุเก่ากับกรุใหม่เป็นพระที่มาจากแม่พิมพ์เดียวกัน แตกต่างกันคือ พระกรุเก่าแตกกรุมานาน ผ่านการใช้ ผ่านกาลเวลา เป็นร้อยๆ ปี เนื้อพระชินเงินจะออกสีดำ หรือคล้ำกว่าพระกรุใหม่ ซึ่งผิวพระกรุใหม่จะมีคราบปรอทขาวจับอยู่ทั่วๆองค์พระเกือบทุกองค์ ด้านหลังของพระหูยาน ซึ่งมีทั้งที่เป็นแบบลายผ้า ลึกเป็นแอ่งน้อย ๆ หรือที่เป็นแบบหลังเรียบ และหลังตันก็มีนะครับ
พระหูยาน นอกจากแตกจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เป็นหลักยังแตกอีกหลายๆกรุ เช่น กรุวัดอินทาราม กรุวัดปืน จ.ลพบุรี กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี กรุวัดค้างคาว จ.เพชรบุรี กรุเมืองสรรค์ จ.ชัยนาท เป็นต้น
พระหูยาน พิมพ์ใหญ่หน้ายักษ์ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (กรุเก่า) เนื้อชินเงิน ลพบุรี
พระหูยาน พิมพ์ใหญ่หน้ายักษ์ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (กรุใหม่) เนื้อชินเงิน ลพบุรี เนื้อหามวลสาร พระหูยาน เป็นพระเนื้อชิน ส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อชินเงิน ชินเงินผิวปรอท และเนื้อตะกั่ว
พระหูยาน พิมพ์กลาง อกกากบาท กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เนื้อชินเงิน ลพบุรี
พระหูยาน พิมพ์เล็ก หน้ามงคล กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (กรุเก่า) เนื้อชินเงิน ลพบุรี
พระหูยาน กรุวัดปืน พิมพ์เล็ก เนื้อชินเงิน ลพบุรี
พระหูยาน เมืองสรรค์ เนื้อชินเงิน ชัยนาท
พระหูยาน แตกกรุที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุมีด้วยกันหลายพิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่หน้ายักษ์ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์บัว ๒ ชั้น พิมพ์รัศมีบัว ๒ ชั้น และพิมพ์จิ๋ว พระหูยานทุกกรุด้านพุทธคุณโดดเด่นไปในทางคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ด้านมหาอำนาจก็ไม่เป็นสองรองใคร
ตามประวัติศาสตร์จารึกไว้เกี่ยวกับการอราธนาพระหูยานของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในการยกกองทัพออกรบ จับศึกทุกครั้ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงปลุกปลอบขวัญ กำลังใจทหารหาญของพระองค์ มิให้ครั่นคร้ามขามเกรงต่อข้าศึก โดยเสด็จออกนำหน้าทหารทุกครั้ง และพระองค์จะต้องอาศัยฤกษ์อันเป็นอุดมมงคลทุกครั้ง พระองค์จะทรงพนมหัตถ์ทำพระทัยให้สงบนิ่ง แล้วทรงบริกรรมคาถาพระเจ้าห้าพระองค์ ดังนี้
"นะ ผ่านสงคราม โม ติดตามศัตรู พุทธ ต่อสู้ไพริน ธา ปราบสินพลไกร ยะ โชคชัยชำนะ"
เมื่อทรงบริกรรมคาถาจบ พระองค์จะทรงกระทืบพระบาทลงบนแผ่นปฐพี 3 ครั้ง แล้วเสด็จขึ้นพระคชสาร ทรงเปล่งพระสุรสีหนาถให้เคลื่อนพล พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์และลั่นฆ้องชัย บรรดาทหารเปล่งเสียงไชโยกึกก้องกัมปนาท ทุกผู้เคลื่อนขบวนผ่านซุ้มประตูชัย ซึ่งสมเด็จพระพนรัตน์มหาเถระถวายพระพุทธมนต์แด่พระองค์ และประพรมน้ำมนต์แก่บรรดาทหารหาญทั้งหลายโดยทั่วกัน
ในฐานะที่พระองค์เป็นศิษย์ของสมเด็จพระพนรัตน์มหาเถระแห่งวัดป่าแก้ว พระองค์ทรงเชื่อมั่นในในอำนาจพุทธคุณอย่างยิ่ง นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ที่พระมาลาเบี่ยงของพระองค์นั้น มีพระเครื่องตระกูลลพบุรีประดิษฐานไว้โดยรอบด้านนอก ส่วนด้านในพระมาลามีพระหูยาน ลพบุรีกลัดติดไว้ 2 องค์ พร้อมด้วยผ้ายันต์จากวัดป่าแก้ว พระองค์จึงทรงไว้ซึ่งอำนาจพุทธาคมเป็นอัศจรรย์ในการรบกับพม่าหลายครั้งหลายครา
ตามประวัติศาสตร์ต่างๆ ความเข้มขลังในพุทธคุณของพระหูยาน ทำให้พระหูยานเป็นหนึ่งในชุดยอดขุนพลเนื้อชินยอดนิยม เป็นที่เสาะแสวงหาพระล้ำค่าอย่างหูยานมาแขวนติดตัว และสะสมอนุรักษ์แก่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อๆ ไป
เรื่อง : นุ เพชรรัตน์