ปฏิปทามหาปูชนียาจารย์ "หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ"
รู้จักท่านด้วยปฏิปทา เจริญภาวนาผ่านคติธรรมคำสอนบางส่วนขององค์หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา
บทความนี้เป็นบทความที่รวบรวมหลักธรรมคำสอนส่วนหนึ่งของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก ที่ท่านใช้สอนบรรดาศิษยานุศิษย์ที่มาปฏิบัติธรรมกับท่าน เมื่อครั้งที่หลวงปู่ดำรงค์ธาตุขันธ์
ของจริง...ของปลอม
เมื่อหลายปีก่อนได้เกิดไฟไหม้ที่วัดสะแกบริเวณกุฏิตรงข้ามกุฏิหลวงปู่ แต่ไฟไม่ไหม้กุฏิท่าน เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจแก่ศิษย์และผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดมีฆราวาสท่านหนึ่งคิดว่าหลวงปู่ท่านมีพระดี มีของดี ไฟจึงไม่ไหม้กุฏิท่าน ผู้ใหญ่ท่านนั้นได้มาที่วัดสะแกและกราบเรียนหลวงปู่ว่า "หลวงปู่ครับ ผมขอพระดีที่กันไฟได้หน่อยครับ" หลวงปู่ยิ้มก่อนตอบว่า "พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ไตรสรณคมน์นี่แหละพระดี" ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็รีบบอกว่า "ไม่ใช่ครับ ผมขอพระเป็นองค์ ๆ อย่างพระสมเด็จฯ นะครับ"
หลวงปู่ก็กล่าวยืนยันหนักแน่นอีกว่า "ก็ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละ มีแค่นี้แหละ ภาวนาให้ดี" แล้วหลวงปู่ก็ไม่ได้ให้อะไร จนผู้ใหญ่ท่านนั้นกลับไปหลวงปู่จึงได้ปรารภธรรมอบรมศิษย์ที่ยังอยู่ว่า "คนเรานี่ก็แปลก ข้าให้ของจริงกลับไม่เอา จะเอาของปลอม"
การบวชจิตบวชใน
หลวงปู่เคยปรารภว่า "จะเป็นชายหรือหญิงก็ดี ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติมีศีล รักในการปฏิบัติ จิตมุ่งหวังเอาการพ้นทุกข์เป็นที่สุด ย่อมมีโอกาสเป็นพระกันได้ทุก ๆ คน มีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้เท่าเทียมกันทุกคน ไม่เลือกเพศเลือกวัยหรือฐานะแต่อย่างใด ไม่มีอะไรจะมาเป็นอุปสรรคในความสำเร็จได้นอกจากใจของผู้ปฏิบัติเอง" ท่านได้แนะเคล็ดในการบวชจิตว่า ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น คำกล่าวว่า
"พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ให้นึกถึงว่าเรามีพระพุทธเจ้า เป็นพระอุปัชฌาย์ของเรา
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ให้นึกว่าเรามีพระธรรม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ให้นึกว่าเรามีพระอริยสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์"
แล้วอย่าสนใจขันธ์ ๕ หรือร่างกายเรานี้ ให้สำรวมจิตให้ดีมีความยินดีในการบวช ชายก็เป็นพระภิกษุ หญิงก็เป็นพระภิกษุณีอย่างนี้จะมีอานิสงส์สูงมากจัดเป็นเนกขัมบารมีขั้นอุกฤษฏ์ทีเดียว
ต้องสำเร็จ
หลวงปู่เคยสอนว่า "ความสำเร็จนั้นมิใช่อยู่ที่การสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้ามาประทานให้ หากแต่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ถ้าตั้งใจทำตามแบบแล้วทุกอย่างต้องสำเร็จไม่ใช่จะสำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านวางแบบเอาไว้แล้ว ครูบาอาจารย์ทุกองค์มีพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด ก็ได้ทำตามแบบเป็นตัวอย่างให้เราดู อัฐิท่านก็กลายเป็นพระธาตุกันหมด เมื่อได้ไตร่ตรองพิจารณาให้รอบคอบแล้ว ขอให้ลงมือทำทันที ข้าขอรับรองว่าต้องสำเร็จ ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้นอยู่ที่ความเพียรของผู้ปฏิบัติ" ขอให้ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า "สิ่งนั้น บัดนี้เราได้ลงมือทำแล้วหรือยัง"
วัดผลการปฏิบัติด้วยสิ่งใด
ผู้ปฏิบัติหลายคนปฏิบัติไปนาน ๆ เริ่มไม่แน่ใจว่าปฏิบัติถูกต้องแล้วหรือไม่ ไม่ชัดเจนว่าตนปฏิบัติไปทำไม หรือปฏิบัติไปเพื่ออะไร ดังครั้งหนึ่งเคยมีลูกศิษย์กราบเรียนถามหลวงปู่ว่า ภาวนามาก็นานพอสมควรแล้ว รู้สึกว่ายังไม่ได้รู้ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ มีนิมิตภายนอกแสงสีต่าง ๆ เป็นต้น ดังที่ผู้อื่นเขารู้เห็นกันเลย หลวงปู่ท่านย้อนถามสั้น ๆ ว่า "ปฏิบัติแล้วโกรธ โลภ หลง ของแกลดน้อยลงหรือเปล่าล่ะ ถ้าลดลงข้าก็ว่าแกใช้ได้"
แสงสว่างเป็นกิเลส
มีคนเล่าให้หลวงปู่ฟังว่า มีผู้กล่าวว่าการทำสมาธิแล้วบังเกิดความสว่างหรือเห็นแสงสว่างนั้นไม่ดี เพราะเป็นกิเลส มืด ๆ ถึงจะดี หลวงปู่ท่านกล่าวว่า "ที่ว่าเป็นกิเลสก็ถูก แต่เบื้องแรกต้องอาศัยกิเลสไปละกิเลส (อาศัยกิเลสส่วนละเอียดไปละกิเลสส่วนหยาบ) แต่ไม่ได้ให้ติดในแสงสว่างหรือหลงแสงสว่าง แต่ให้ใช้แสงสว่างให้ถูก ให้เป็นประโยชน์ เหมือนอย่างกับเราเดินผ่านไปในที่มืดต้องใช้แสงไฟ หรือจะข้ามแม่น้ำ มหาสมุทร ก็ต้องอาศัยเรือ อาศัยแพ แต่เมื่อถึงฝั่งแล้วก็ไม่ได้แบกเรือแบกแพขึ้นฝั่งไป" แสงสว่างอันเป็นผลจากการเจริญสมาธิก็เช่นกัน ผู้มีสติปัญญาสามารถใช้เพื่อให้เกิดปัญญาอันเป็นแสงสว่างภายใน ที่ไม่มีแสงใดเสมอเหมือน ดังคำที่ว่า "นัตถิปัญญา สมาอาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี"
อนิสงส์แห่งการภาวนา
หลวงปู่ท่านเคยพูดเสมอว่า "อุปัชฌาย์ข้า (หลวงปู่กลั่น) สอนว่า ภาวนาได้เห็นแสงสว่างเท่าปลายหัวไม้ขีดชั่วประเดี๋ยวเดียว
เท่าช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ยังมีอานิสงส์มากกว่าตักบาตร จนขันลงหินทะลุ" ท่านจะพูดคอยให้กำลังใจอยู่บ่อย ๆ ว่า
"หมั่นทำเข้าไว้ หมั่นทำเขาไว้ ต่อไปจะได้เป็นที่พึ่งภายหน้า"
จะเอาโลกหรือเอาธรรม
บ่อยครั้งที่มีผู้มาถามปัญหากับหลวงปู่ โดยมักจะนำเอาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน สามี ภรรยา ลูกเต้า ญาติมิตร หรือคนอื่นมาปรารภให้หลวงปู่ฟังอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งท่านได้ให้คติเตือนใจว่า "โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม" ซึ่งต่อมาท่านได้เมตตาขยายความให้ฟังว่า เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา ให้มาไล่ดูตัวเอง แก้ไขที่ตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้ว ต้องกลับเข้ามาหาตัวเอง ถ้าเป็นโลกแล้วจะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา เพราะธรรมแท้ ๆ ย่อมเกิดจากในตัวของเรานี้ทั้งนั้น"
จะตามมาเอง
หลายปีมาแล้ว มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้มาบวชปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดสะแก ก่อนที่จะลาสิกขาเข้าสู่เพศฆราวาส ท่านได้นัดแนะกับเพื่อนพระภิกษุที่จะสึกด้วยกันสามองค์ว่า เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนสึกพวกเราจะไปกราบขอให้หลวงปู่พรมน้ำมนต์และให้พร ซึ่งต่อมาท่านได้เล่าว่า ขณะที่หลวงปู่พรมน้ำมนต์ให้พรอยู่นั้น ท่านก็นึกอธิษฐานอยู่ในใจว่า "ขอความร่ำรวยมหาศาล
ขอลาภขอผลพูนทวี ขอมีกินมีใช้ไม่รู้หมด จะได้แบ่งไปทำบุญมาก ๆ" หลวงปู่หันมามองหน้าหลวงพี่ที่กำลังคิดละเมอเพ้อฝันถึงความร่ำรวยนี้ ก่อนที่หลวงปู่จะบอกว่า "ท่าน ที่ท่านคิดน่ะมันต่ำ คิดให้มันสูงไว้ไม่ดีหรือ แล้วเรื่องที่ท่านคิดน่ะจะตามมาทีหลัง"
พระที่คล้องใจ
เมื่อมีผู้ไปขอของดีจำพวกวัตถุมงคลจากหลวงปู่ไว้ห้อยคอหรือพกติดตัวหลวงปู่จะสอนว่า "จะเอาไปทำไมของดีภายนอก ทำไมไม่เอาของดีภายใน พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละของวิเศษ" ท่านให้เหตุผลว่า "คนเรานั้น ถ้าไม่มีพุทธัง ธัมมัง สังฆัง เป็นของดีภายใน ถึงแม้จะได้ของดีภายนอกไปแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ทำอย่างไรจึงจะได้เห็นพระจริง ๆ เห็นมีแต่พระปูน พระไม้ พระโลหะ พระรูปถ่ายพระสงฆ์ ลองกลับไปคิดดู"
คนดีของหลวงปู่
ธรรมะที่หลวงปู่นำมาอบรมศิษย์ทั้งหลาย เป็นธรรมที่สงบเย็น และไม่เบียดเบียนใครด้วยกรรมทั้ง 3 คือ ความคิด การกระทำ และคำพูด ครั้งหนึ่งท่านเคยอบรมศิษย์ เกี่ยวกับวิธีสังเกตคนดีสั้น ๆ ประโยคหนึ่งคือ "คนดี เขาไม่ตีใคร"
วัตถุมงคล
วัตถุมงคลของท่าน ท่านสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ดังคำที่ท่านกล่าวว่า "ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าติดวัตถุอัปมงคล" และเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติภาวนา ซึ่งแม้จะมีมากมาย แต่ทว่าทั้งหมดก็ล้วนอยู่ในกรอบวงของพระรัตนตรัย ทั้งแบบพิมพ์ที่สื่อถึงเรื่องราวในพุทธสมัยในกาลต่างๆ ท่านล้วนสร้างด้วยความปราณีต ละเอียด ให้เราได้สัมผัสถึงความเมตตา และให้ผู้ศรัทธาได้เกิดความชัดเจนในสิ่งที่หลวงปู่ท่านเน้นหนัก คือเพื่อให้เราได้ใช้ในการค้นหาพระเก่าหรือที่ท่านเรียกว่า พระแท้ คือพระพุทธัง พระธัมมัง พระสังฆัง สำหรับเป็นที่พึ่งอันสมบูรณ์ทั้งในปัจจุบันและในภายหน้า
รู้จักหลวงปู่อย่างไร
เช้าวันหนึ่งในเดือนมกราคม พ.ศ ๒๕๓๓ ก่อนหน้าที่หลวงปู่ท่านจะละสังขารไม่กี่วัน ในขณะที่รอใส่บาตรอยู่ที่หน้ากุฏิของท่าน
หลวงปู่ได้พูดเป็นคติแก่สานุศิษย์ ณ ที่นั้นว่า "ตราบใดก็ตามที่แกยังไม่เห็นความดีในตัว ก็ยังไม่นับว่าแกรู้จักข้า
แต่ถ้าเมื่อใดแกเริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว เมื่อนั้น ข้าจึงว่า แกรู้จักข้าดีขึ้นแล้ว" คำพูดนี้ถือเป็นคำพูดเตือนสติแก่ผู้ที่มาปฏิบัติในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ว่า อย่าได้สำคัญตนว่าเคยได้อยู่ใกล้ชิด หรือเคยได้รับฟังคำสอนโดยตรงจากท่าน เพราะตัววัดว่ารู้จักท่านดีหรือไม่นั้น ท่านว่าอยู่ที่การฝึกฝนตนให้เป็นคนดีขึ้นได้หรือไม่
ถ้าไม่ได้ ก็เท่ากับว่าไม่รู้จักท่านจริง ในทางกลับกัน คำพูดนี้ช่วยให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสท่านในขณะที่ท่านยังมีชีวิตหากแต่มีศรัทธาน้อมเอาธรรมะคำสอนของท่านมาปฏิบัติขัดเกลาตนเอง จนความโลภ โกรธ หลง ลดลง เรียกว่าเห็นความดีในตัวเองหลวงปู่ท่านก็รับรองว่าเป็นผู้ที่รู้จักท่านจริง คำพูดของหลวงปู่นั้นทำให้ผู้เขียนนึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ..ตถาคต"
ประมวลปฏิปทาหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก
๑ หลวงปู่เน้นการเจริญกรรมฐาน เช่นเดียวกับพระกรรมฐานทั้งหลาย ดังนั้นท่านจึงสรรเสริญการรักษาความสงบเงียบ ของสถานที่ เพื่อให้เอื้อต่อการเจริญกรรมฐาน
๒ หลวงปู่ไม่รับกิจนิมนต์ออกนอกวัด เพื่อจะได้สงเคราะห์ผู้ที่มาจากที่ไกล ๆ หรือที่ไหน ๆ ว่าเมื่อมาถึงวัดสะแกแล้วมั่นใจได้ว่า จะได้พบหลวงปู่แน่นอน
๓ หลวงปู่ใช้วัตถุมงคลดึงคนให้ใกล้พระศาสนา แต่หากใครหมกมุ่นวัตถุมงคลเกินพอดี ท่านจะปรามว่า "พระของข้า องค์เดียวก็พอ ปฏิบัติให้จริง" รวมทั้งให้ศิษย์ต่อยอดความดีด้วยการเจริญกรรมฐานให้เข้าถึงพระในตัว
๔ หลวงปู่ไม่นิยมการเรี่ยไรบอกบุญ และการก่อสร้าง ท่านมุ่งเน้นให้ศิษย์ปฏิบัติภาวนาเพื่อสร้างสรณะที่พึ่งในใจตน
๕ หลวงปู่สอนให้ยึดพระพุทธเจ้า ยึดพระธรรม แต่ไม่ให้ยึดติดตัวท่าน ท่านไม่เคยดึงดูดลูกศิษย์ด้วยการอ้างความสัมพันธ์ในอดีตชาติ อย่างมากก็มีเพียงคำพูดกลาง ๆ ว่า "หากไม่เคยเจอกันมาก่อน ก็คงมาไม่ถึงวัดสะแก"
๖ หลวงปู่เป็นผู้มักน้อยสันโดษ สบงจีวร เครื่องใช้ต่าง ๆ ท่านใช้อย่างคุ้มค่า ไม่เปลี่ยนง่าย ๆ และไม่นิยมของฟุ้งเฟ้อหรูหรา อีกทั้งปฏิเสธมิให้หนังสือนิตยสารใด ๆ มาสัมภาษณ์ รวมทั้งแทบไม่อนุญาตให้ใคร ๆ ถ่ายภาพ
๗ หลวงปู่เคร่งครัดในธรรมวินัย ดังนั้น การใช้ญาณหยั่งรู้ หรือการรู้วาระจิตของท่าน ลูกศิษย์ต้องสังเกตเอาเอง ซึ่งการใช้ญาณหยั่งรู้ของท่านมุ่งประโยชน์ที่ตัวศิษย์เป็นสำคัญ มิได้มุ่งที่ตัวท่านในทางโอ้อวด หากจะเอ่ยถึงการรู้เห็น เช่นเห็นเทวดา นางฟ้า สัมภเวสี หรือนรก สวรรค์ ฯลฯ ท่านจะให้ศิษย์อธิษฐานขอบารมีหลวงปู่ทวดเปิดให้รู้ ให้เห็นแล้วเล่าให้ฟัง มิใช่จากตัวท่าน เวลาท่านจะพูดถึงตัวท่านเอง ท่านมักพูดด้วยความถ่อมตนว่า "ข้ายังมืดอยู่" หรือ "ข้ายังเละ ๆ เทะ ๆ"
๘ หลวงปู่สอนเน้นหนักในการปฏิบัติ ตามแบบของพระพุทธเจ้า คือหลักแห่งศีล สมาธิ และปัญญา ท่านว่าแบบแผนของท่านไม่มี ๆ แต่แบบแผนที่พระพุทธเจ้าวางไว้ดีแล้ว จึงไม่มีหลักปฏิบัติแหวกแนว ไม่มีทางลัด ไม่มีธรรมะนอกพระไตรปิฎก ท่านสอนย้ำว่า อย่าให้เลยครูอาจารย์ อย่าให้เลยพระพุทธเจ้า
๙ หลวงปู่มีปรกติปรารภธรรมสั้น ๆ ท่านมักกล่าวถ่อมตัวว่า ท่านพูดธัมม้ง ธัมมะ ไม่เป็น โอวาทที่หลวงปู่พูดสอนบ่อยครั้งคือ "ของดีอยู่ที่ตัวเรา ของไม่ดีก็อยู่ที่ตัวเรา ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต" รวมทั้ง "แก่ เจ็บ ตาย เน้อ(ให้พากันพิจารณา)" และ "ภาวนาให้ได้ทุกอริยบท ยืน เดิน นั่ง นอน" เป็นต้น
๑๐ หลวงปู่เน้นธรรมะพื้นฐาน ได้แก่ ความกตัญญู ท่านไม่ให้ศิษย์ขวนขวาย กราบพระนอกบ้านจนมองข้ามพระในบ้าน คือพ่อแม่ ตลอดถึงการรู้จักทำดีอย่างถูกกาละเทศะ และให้มีความสันโดษ ใฝ่ดี มิใช่ใฝ่ละโมบอยากร่ำอยากรวย
๑๑ หลวงปู่เน้นสอนด้วยการทำให้ดู มากกว่าด้วยคำพูด ไม่ว่าเรื่องความเคารพในพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์อย่างจริงใจและบริสุทธิ์ใจ ไม่มุ่งหวังลาภสักการะใด ๆ นอกจากนี้ท่านยังแสดงให้เห็นถึงขันติอันยิ่งตลอดหลายสิบปีที่ท่านสงเคราะห์ญาติโยมตั้งแต่เช้าจรดค่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขันติในยามอาพาธหนักใกล้ละสังขาร
๑๒ หลวงปู่ไม่ให้หลงในเรื่องฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หากมีเหตุอัศจรรย์อันใดที่มาเพิ่มกำลังใจในการปฏิบัติ หลวงปู่สรุปในคำว่า "พระท่านทำให้เชื่อ" ท่านไม่ให้ตื่นปาฏิหาริย์ เพราะสุดท้ายความก้าวหน้าในการปฏิบัติไม่ได้ดูที่การรู้เห็นภายในหรือสิ่งน่าอัศจรรย์อันใด หากแต่อยู่ที่โกรธ โลก หลง ที่ลดลง
๑๓ หลวงปู่ไม่สรรเสริญการปฏิบัติชนิดไฟไหม้ฟาง กล่าวคือ ในยามขยันก็ปฏิบัติมาก แต่ในยามขี้เกียจก็ทิ้งการปฏิบัติไปเลย หลวงปู่สรรเสริญผู้ที่ปฏิบัติธรรมเสมอต้นเสมอปลาย โดยให้มีปัญญาเห็นคุณค่าของการปฏิบัติ รวมทั้งความไม่ประมาทมาเป็นแรงจูงใจในการปฏิบัติ
๑๔ หลวงปู่สอนคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้ความสำคัญการปฏิบัติไปตามลำดับ คล้ายอย่างการก่อเจดีย์ ใครที่ชอบหาทางลัด ท่านจะปรามว่า "เบื้องต้นก็จะคว้ายอดตาล มีหวังตกลงมา แข้งขาหัก หรือตายเท่านั้น"
ขอบคุณเรื่องราวจากบทความบางส่วนจากหนังสือ #ตามรอยธรรม_ย้ำรอยครู และการประมวลปฏิปทาโดย คุณพรสิทธิ์ อุดมศิลป์จินดา
สนใจติดตามข่าวของหลวงปู่ดู่และข้อมูลข่าวสารของทางวัดสะแกเพิ่มเติมคลิกลิงค์
ลิงค์เพจวัดสะแก https://www.facebook.com/18WATSAKAE2533/
ลิงค์เพจไตรอุทิศ https://www.facebook.com/Chatchaimongkol/
ลิงค์ยูทูปไตรอุทิศ https://www.youtube.com/user/chatcha66