รู้จัก "ตะกรุด" โสฬสมหามงคล "หลวงปู่เอี่ยม" ความเชื่อที่ครอบจักรวาล
"หลวงปู่เอี่ยม" วัดสะพานสูง ปลุกเสก "ตะกรุดโสฬส" ด้วยโองการพระมหาทะมึนให้ครบ 10000 จบ และใช้ระยะเวลาสร้างนานถึง 3 ปีในทุกค่ำคืน
ในบรรดาเครื่องรางของขลัง หรือเบญจภาคีเครื่องรางของแวดวงนักสะสมเครื่องรางของขลังได้ให้การยอมรับและยกย่องให้ “ตะกรุดโสฬสมหามงคล" ของ "หลวงปู่เอี่ยม" วัดสะพานสูง นนทบุรีเป็นอันดับหนึ่ง และหายากที่สุดผู้ใดเป็นเจ้าของมีไว้ครอบครองต่างก็หวงแหนเป็นอย่างยิ่ง
ตะกรุดของท่านได้รับการสร้าง และปลุกเสกขึ้นมาด้วยกสิณแห่งพระอริยสงฆ์ ผ่านปลายเหล็กจาร ถ่ายทอดลงสู่แผ่นโลหะ ในรูปแบบเลขยันต์อักขระเลขจารึก โดยด้านในลงด้วยอักขระสูตรโสฬสมหามงคล ส่วนด้านนอกลงด้วยสูตรอักขระพระไตรสรณคมน์ ล้อมรอบด้วยบารมี 30 ทัศน์ พร้อมด้วยมนต์ปัสสาสะปราณชีพอันเคร่งขลังของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง แล้วจึงทำการม้วนและถักด้วยเชือก หรือสายสิญจน์ด้วยลายเกลียว หรือลายกระบอง พอกผง ทารัก ส่วนใหญ่จะเหลือหัวและท้ายเอาไว้เล็กน้อย
ตะกรุดของ "หลวงปู่เอี่ยม" ท่านจะปลุกเสกของท่านตามลำพังเงียบ ๆ ภายในกุฏิทุกค่ำคืน โดยต้องปลุกเสกด้วยโองการพระมหาทะมึนให้ครบ 10000 จบ ใช้เวลาสร้างและปลุกเสกยาวนานถึง 3 ปี เต็มไปด้วยความพากเพียรพยายามอย่างตั้งใจ ด้วยความละเอียดอ่อน เพื่อให้มีพุทธคุณ มีอิทธิฤทธิ์ที่ยิ่งยวดเสมอเหมือนประดุจดั่งเทวดาสร้าง จึงทำให้ตะกรุดของหลวงปู่เป็นสุดยอดแห่งบรรดาตะกรุดทั้งหลาย เป็นตะกรุดที่ทรงคุณค่า ทรงอิทธิพลังพุทธาคม คุ้มครองภยันตรายทั้งปวง มีอานุภาพทุกด้านเรียกได้ว่าครอบจักวาล แต่ที่สำคัญที่จะทำให้ผู้มีไว้ครอบครองได้สัมฤทธิ์ผลแห่งเดชานุภาพทั้งปวง ต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี ตะกรุดของหลวงปู่เอี่ยมจึงขึ้นสู่ความนิยมสูงสุด เป็นอันดับหนึ่งของบรรดาเครื่องรางและตะกรุดมาเนิ่นนานกว่าใคร เป็นวัตถุมงคลที่มีสนนราคาสูงยิ่ง ๆ ขึ้นและหายากยิ่ง
"ตะกรุดโสฬสมหามงคล" ของ "หลวงปู่เอี่ยม" มีการสร้างด้วยกัน 3 แบบ คือ
1. แบบเนื้อเงิน เป็นของพวกคหบดีนำแผ่นเงินมาให้ท่านลงเป็นพิเศษ สร้างจำนวนน้อยมาก มีความยาวประมาณ 4.5 นิ้ว
2. แบบเนื้อตะกั่ว มักจะเป็นเนื้อตะกั่วทุบ ความยาวประมาณ 4 นิ้ว สร้างในยุคต้นเพื่อหาทุนสร้างศาลาการเปรียญ
3. แบบเนื้อทองแดง ความยาวมีตั้งแต่ 2.5 นิ้ว 3.5 นิ้ว และ 4 นิ้ว ขนาดที่อยู่ในความนิยมนั้นยาวประมาณ 3.5 นิ้ว โดยจะเป็นการทุบแล้วรีด เป็นเนื้อทองแดงแก่ฝาบาตร แก่ทองเหลือง
ยันต์โสฬลมหามงคล
การสร้างตะกรุดของอาจารย์ต่าง ๆ จะทำการประดุจพระเวทย์วิทยาคม ลงไปในอักขระเลขยันต์ ด้วยสมาธิที่มุ่งมั่น แล้วจึงม้วนเป็นดอกตะกรุด ประสิทธิ์ประสาทซ้ำด้วยพุทธาคมขลัง จนกลายเป็นเครื่องรางของขลังที่มีพุทธานุภาพมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดนิรันตราย โภคทรัพย์ เมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ กันเสนียดจัญไร กันคุณไสย เรียกได้ว่า ครอบจักรวาล
สำหรับตัวเลขที่อยู่ในยันต์นั้น ตัวเลขแต่ละตัว คือ คาถา1บท ย่อมาจากอักขระอีกทีหนึ่ง เพราะการจะลงอักขระให้ครบถ้วนนั้น เป็นการเปลืองเนื้อที่ จึงลงตัวเลขแทนพระคาถาแต่ละบท
ยันต์โสฬสมหามงคล เป็นการลงอักขระยันต์ตามสูตร ทดแทนอักขระยันต์ด้วยตัวเลข แบ่งเป็น 3 ชั้น
ชั้นนอก ลงด้วยตัวเลข 16 ตัว ตามสูตรโสฬส
ชั้นกลาง ลงด้วยตัวเลข 12 ตัว ตามสูตรตรีนิสิงเห
ชั้นใน ลงด้วยตัวเลข 6 ตัว ตามสูตรจัตตุโร
เอกลักษณ์สำคัญในการพิจารณาตะกรุดโสฬลมหามงคลของ "หลวงปู่เอี่ยม"
เอกลักษณ์การสร้างเครื่องรางของขลัง หรือพระเครื่อง ผมเชื่อว่าทุกสำนักจะแยกออกอย่างชัดเจนระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ เพื่อความเป็นมาตรฐานสากล และกันความสับสน โดยการสร้างสำนักเดียวกันอาจจะใช้คาถาบทเดียวกัน วิชาเดียวกัน แต่รูปแบบข้างนอกต้องแตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น ตะกรุดสายวัดบางคลาน จ.พิจิตร และตะกรุดสายวัดสะพานสูง จ.นนทบุรี เป็นต้น
"ตะกรุดโสฬสมหามงคล" ของ "หลวงปู่เอี่ยม" ทั้งยุคต้น และยุคปลาย ส่วนมากท่านจะถักเชือกขึ้นทางขวา ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องกลิ่นของตะกรุด ตะกรุดของท่านจะมีกลิ่นหอมของผงที่พอกกับตะกรุด ซึ่งกลิ่นนั้นมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร คนรุ่นเก่าถึงกับมีคำพูดว่า ถ้าเคยดมตะกรุดดอกแท้ๆ ของหลวงปู่ท่านสักครั้งหนึ่ง แล้วจำกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์นี้ได้แม่น ก็สามารถเช่าอีกดอกหนึ่งได้เลย โดยที่คนเช่านั้นดูความเก่าแท้ไม่เป็น ก็เชื่อได้ว่าตะกรุดดอกที่เช่านี้แท้แน่นอน เพราะว่าของปลอมไม่สามารถทำเลียนแบบกลิ่นนี้ได้
เชือก สังเกตุเชือก การรัดตัวของเชือก (เชือกแห้งหมดยาง) คนโบราณบอกว่าหลวงปู่ใช้สายสิญจน์ม้วนแน่นๆ แล้วมาถักใส่ตะกรุด พอนานๆเข้า เกิดการหดตัว รัดตัวเป็นก้อนๆ นิยามตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง มีเอกลักษณ์ และลักษณะ คือ “ป่นเหมือนแป้ง แห้งเหมือนไม้”
ป่นเหมือนแป้ง เพราะเชือกที่ท่านใช้เป็นเชือก หรือสายสิญจน์โบราณซึ่งปัจจุบันอายุ 100 กว่าปีแล้ว จะนิ่ม ป่นง่าย หลุดง่าย ขาดง่าย ยิ่งเฉพาะดอกที่ไม่ได้ลงรัก ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ
แห้งเหมือนไม้ คือ เรื่องสีของตะกรุด ตะกรุดที่ผ่านการใช้ สำนักวัดสะพานสูงจะเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนสำนักอื่นที่อื่นอาจมีสีแดง สีดำ หรือสีคล้ำเทาๆ แต่สำนักวัดสะพานสูงสีจะออกเหมือนไม้แห้ง สันนิษฐานน่าจะเกิดจากน้ำรักที่ลงไปทับผงที่พอก เมื่อแห้งแล้วทำให้ตะกรุดคล้ายสีไม้
ด้านหัวของตะกรุด หลวงปู่เอี่ยม ส่วนมากขึ้นสนิมเขียว อาจจะเกิดจากความชื้นของผงที่ลง เป็นลักษณะพิเศษที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถทำเลียนแบบได้เหมือน
ด้านหัวทั้งสองของตะกรุด ที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า ก้นแมลงสาบ สันนิษฐานว่าท่านใช้ไม้ม้วนแผ่นโลหะ พอม้วนเสร็จก็ดึงออกมาทำให้เกิดชั้นยืดออกมา แต่จริงๆแล้ว เอกลักษณ์ก้นแมลงสาบของวัดสะพานสูง คือ การถักเชือกไม่เต็มดอก เหลือส่วนปลายหัวท้าย ไว้เล็กน้อย เป็นสิ่งที่ไม่เหมือนสำนักใดๆ
รัก ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยมส่วนใหญ่จะลงรักจีน เป็นรักแดง เมื่อส่องกล้องรักจะหลบติดแนบเข้ากับร่องเชือกที่ถักไว้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีมุม ไม่มีเหลี่ยม ไม่หลุดร่อนเป็นแผ่น ตะกรุดดอกที่รักยังติดเยอะๆ เนื้อรักจะมีลักษณะแข็ง ใส ลั่นปริแตกละเอียดเหมือนใยมุ้ง คล้ายตาของตาข่ายเล็กๆ
ตะกรุดโสฬสมหามงคล ของ "หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง" นนทบุรี ด้วยเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ด้วยอักขระคาถาที่เข้มขลัง ด้วยสมาธิที่แรงกล้า ก่อให้เกิดความเป็นจักรพรรดิตะกรุดแห่งประเทศไทย
เรื่อง : นุ เพชรรัตน์