พระเครื่อง

พิธีศพพระเถระล้านนา
ที่แฝงด้วย...ปริศนาธรรมแนวคิดไปถึงชาวบ้าน

พิธีศพพระเถระล้านนา ที่แฝงด้วย...ปริศนาธรรมแนวคิดไปถึงชาวบ้าน

03 มี.ค. 2553

ตามประเพณีล้านนา เมื่อพระเถระชั้นผู้ใหญ่มรณภาพ จะมีการจัดพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่สมบารมี ตามคติความเชื่อที่ว่า พระเถระได้รับการยกย่องในสังคมว่า เป็นชนชั้นสูง เมื่อมรณภาพหรือสุรคตไปแล้ว จะไปจุติในภพที่สูงกว่า หรือเป็นเทพสถิตในสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ บนเขาพระสุเมรุ

 เช่นเดียวกับพิธีศพของ "พระครูสุภัทรสีลคุณ" หรือ "หลวงปู่ครูบาดวงดี สุภัทโท" อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าจำปี ต.ทุ่งสะโตก อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ พระเกจิอาจารย์ล้านนา ศิษย์คนสุดท้ายสาย "ครูบาเจ้าศรีวิชัย" ผู้เจริญรอยตามพระผู้เป็นอาจารย์อย่างเคร่งครัดมาตลอด ๘๓ พรรษา ในร่มกาสาวพัสตร์ ทั้งยังเป็นพระอริยสงฆ์ ที่มีอายุยืนที่สุดถึง ๑๐๔ ปี หลังละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 พระปลัดธีรพงษ์ ธัมธโร รองเจ้าอาวาสวัดท่าจำปี บอกถึงขั้นตอนในพิธีศพว่า หลังพิธีสรงน้ำศพ และพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ แล้ว ทางวัดได้มีเทศน์และสวดพระอภิธรรมเป็นประจำทุกคืน ระหว่างนั้น ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ได้นิมนต์พระสงฆ์ ๕๐ รูป มาประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล อุทิศถวายครบรอบ ๗ วัน และประกอบพิธีเดียวกัน ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันครบรอบมรณภาพ ๑๕ วัน

 จากนั้น วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ จะนิมนต์พระสงฆ์ ๑๑๐ รูป จาก จ.เชียงใหม่ และลำพูน ประกอบพิธีสวดธรรมนิยาม ซึ่งเป็นบทสวดที่ใช้เฉพาะในพิธีศพพระเถระชั้นผู้ใหญ่

 หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้บรรดาลูกศิษย์เป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม ทุกวันอังคาร และวันเสาร์ ทั้งนี้จะมีพิธีสวดธรรมนิยามในวันครบรอบ ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน และ ๑ ปี

 ส่วนระยะเวลาในการบำเพ็ญกุศลศพ จะมีการหารือคณะกรรมการวัด และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เพื่อกำหนดวันพระราชทานเพลิงศพ ตามความเหมาะสมต่อไป

 แต่เป็นที่แน่นอนว่า พิธีพระราชทานเพลิงศพจะจัดขึ้นอย่างถูกต้อง และเต็มรูปแบบของพิธีศพพระเถระแห่งล้านนา ซึ่งตามประเพณีจะมีการจัดสร้างปราสาทนกหัสดีลิงค์ เป็นพาหนะสู่สวรรค์ พร้อมทั้งจัดมหรสพอย่างยิ่งใหญ่

 "ประเพณีในพิธีศพของพระสงฆ์ในภาคเหนือ มีความเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ พระสงฆ์ภาคอื่นโดยทั่วไปมักจะใช้เมรุเผาร่วมกับเมรุของชาวบ้าน แต่ทางล้านนาจะไม่ยอมให้มีการฌาปนกิจร่วมกับเมรุของชาวบ้าน บางครั้งสุสานก็ยังไม่อาจใช้ร่วมกันได้ โดยจะมีสุสานพระสงฆ์แยกต่างหาก ขณะที่การจัดแต่งปราสาทจะบ่งบอกถึงคุณธรรม หรือสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ผู้มรณภาพได้อย่างชัดเจน" พระปลัดธีรพงษ์ กล่าว

 พร้อมกันนี้ พระปลัดธีรพงษ์ยังบอกด้วยว่า ทั้งปราสาทหรือเมรุสถานฌาปนกิจ จะมีการตั้งเสาขึ้น ๔ เสา ครอบด้านบน ปลายเสามีผ้าจีวรเป็นเพดาน ตามความเชื่อโบราณว่า การเผาพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้ทรงศีล มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในองค์ท่าน หากเผาแล้วไม่มีการกั้นเปลวไฟด้วยผ้าจีวร จะทำให้เทวดาบนชั้นฟ้าเกิดความเดือดร้อน

 ขณะเดียวกัน ในส่วนของพื้นดินใต้เมรุ จะต้องมีผ้าจีวรปูไว้บนพื้นดิน เรียกว่า "ผ้ากระดาน" ตามความเชื่อว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนจากการเผาศพลงไปถึงเมืองครุฑ เมืองนาค หรือ การสวดสิยา ที่มีเพียงล้านนาเท่านั้น

 นอกจากนี้แล้ว พิธีกรรมต่างๆ ที่มีขึ้น ไม่เพียงแต่เพื่อให้สมเกียรติกับพระสงฆ์ผู้มรณภาพ และเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีของเหล่าศิษยานุศิษย์ แต่ยังสื่อถึงธรรมะในพิธีศพไปถึงชาวบ้าน เป็นปริศนาธรรมแฝงแนวคิด เช่น การตั้งเสาสี่ต้น ครอบปราสาท สื่อถึงพุทธบริษัททั้งสี่ ที่ช่วยค้ำจุนเชิดชูพระพุทธศาสนา หากขาดพุทธบริษัททั้งสี่ ไม่ช่วยกันประคับประคอง พระพุทธศาสนาก็อยู่ไม่ได้

 ส่วน ตุง หาง ที่แบกนำหน้าศพ เป็นเครื่องบอกว่า หนทางที่ไปหลังความตาย มีอยู่ ๓ ทาง คือ ทางไปสู่อบายภูมิ สุคติภูมิ และมนุษยภูมิ ตามแต่ความประพฤติของมนุษย์ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นต้น

สวดสิยา 
 พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ประพัตน์ ฐานวุฑฺโฆ) เจ้าอาวาสวัดธาตุคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ผู้ศึกษาในพิธีศพพระสงฆ์ในดินแดนล้านนา กล่าวว่า ประเพณีการจัดพิธีศพของพระสงฆ์ในล้านนา มีความเป็นเอกลักษณ์ต่างจากภาคอื่นๆ หากเป็นพระสงฆ์ทั่วไป จะจัดแบบเรียบง่าย แต่หากเป็นพระสงฆ์ ระดับเจ้าอาวาสขึ้นไป จะมีความพิถีพิถันมากขึ้น

 หากเป็นพระมหาเถระ ผู้ทรงซึ่งอายุพรรษา หรือเป็นที่เคารพนับถือของศรัทธาประชาชน ถึงแก่มรณภาพ พิธีกรรมจะเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง เริ่มจากคณะศิษยานุศิษย์ จะสรงน้ำปลงศพ นุ่งห่มครองจีวร จากนั้นจะมีพิธีกรรมในการบังสุกุล และอาราธนาศพเข้าสู่หีบศพ ด้วยคำโวหารแบบล้านนา ผู้กล่าวโวหารจะใช้พระภิกษุผู้มีเสียงดี เป็นผู้กล่าวแทนศิษย์ทั้งหลาย หลังจากนั้น จะมีการตั้งศพเพื่อบำเพ็ญกุศลในโอกาสต่อไป

 พิธีศพพระสงฆ์ของล้านนาแต่โบราณจะต่างกับภาคอื่น เพราะไม่มีการสวดอภิธรรม จะมีเพียงเทศน์ธรรม และ "สวดสิยา" เป็นภาษาบาลี เพื่อให้เกิดธรรมสังเวชแก่ผู้ฟัง ถึงอนิจจังแห่งชีวิต ที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย

 การสวดสิยาดั้งเดิมจะมีพระ ๔ รูป นั่งล้อมวง มีหนังสือธรรมตั้งกลาง ก่อนสวดเป็นท่วงทำนองโศกเศร้า เข้ากับบรรยากาศความสูญเสีย

 ขั้นตอนต่อมา คือ การตั้งศพบำเพ็ญกุศล ใช้เวลามากน้อย แล้วแต่ความจำเป็น ในกรณีนี้ หากศรัทธาญาติโยมยังไม่พร้อม หรือเป็นฤดูฝนกลางพรรษา ก็จะรอไว้ปลงศพในหน้าแล้ง 

 ระหว่างนั้น จะมีการเตรียมปราสาท โดยพิธีศพพระสงฆ์ผู้ใหญ่ จะมีการสร้างปราสาท หรือเมรุจำลอง บนแพล้อเลื่อน เพื่อลากไปสู่สุสาน หรือทุ่งนาที่กว้างขวาง ในการประกอบพิธีประชุมเพลิง  แต่ในปัจจุบัน นิยมสร้างเป็นเมรุจำลอง ตั้งอยู่กับที่ ไม่มีการเคลื่อนย้าย ส่วนปราสาทที่จัดสร้างจะเป็นไปตามลำดับยศของพระสงฆ์ผู้มรณภาพ หากเป็นพระสงฆ์ที่มีอาวุโสน้อย จะทำแต่พอสมควร ส่วนพระสงฆ์ที่มีสมณศักด์ หรือเป็นเจ้าอาวาส ที่มีอายุไม่มากนัก มักจะทำเป็นวิมานปราสาท แต่หากเป็นเจ้าอาวาสระดับพระเถระ หรือครูบา จะมีการจัดสร้างนกหัสดีลิงค์ประดิษฐาน บนปราสาทศพ อีกชั้นหนึ่ง

 พระครูอดุลสีลกิตติ์ ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบัน ประเพณีในพิธีศพพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ถูกความเจริญบีบบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ เช่น การตั้งเมรุปราสาท จะไม่มีการลากจากวัดไปสู่สุสาน หรือทุ่งนา แต่กลายเป็นการตั้งเมรุอยู่กับที่ เหมือนภาคกลาง เนื่องจากบ้านเมืองมีความเจริญ มีสายไฟฟ้าสายโทรศัพท์ ขณะที่ปราสาทมีความสูง จนทำให้ลากเคลื่อนย้ายลำบาก   

 "การตั้งเสาสี่ต้นครอบปราสาท สื่อถึงพุทธบริษัททั้งสี่ ที่ช่วยค้ำจุนเชิดชูพระพุทธศาสนา หากขาดพุทธบริษัททั้งสี่ ไม่ช่วยกันประคับประคอง พระพุทธศาสนาก็อยู่ไม่ได้"

เรื่อง - ภาพ... "เอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์"
สำนักข่าวเนชั่น ศูนย์เหนือ