"หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง" 1เดียวในตำนาน "ตะกรุดคู่ชีวิต" ไม่มีอั่ว-ไม่ถักเชือก
รู้จักกับ "ตะกรุดคู่ชีวิต" ปรมารจารย์แห่งตะกรุดของ หลวงพ่อพิธ แห่งวัดฆะมัง จังหวัดพิจิตร เครื่องรางของขลังประจำตัวที่หายากตอนนี้ในพุทธคุณจากยันต์ตามตำราพิชัยสงคราม เชื่อกันว่า "คงกระพันชาตรี" ดีนักแล
เรื่อง "เครื่องรางของขลัง" มีการสร้างกันมานมนาน ครั้นโบร่ำโบราณ หลายร้อยปีแล้ว ส่วนมากเป็นงานที่สร้างสรรค์จากมือแท้ๆ เกือบทั้งสิ้น(Hand made) วัสดุที่นำมาสร้างนั้น ส่วนใหญ่ก็ได้มาจากวัสดุธรรมชาติทั่วไป เช่น เขี้ยว งา กะลา เขา ไม้ ดิน ชิน ผง ทองคำ เงิน ทองเหลือง ทองแดง หรือ ตะกั่ว เป็นต้น ด้าน "พุทธคุณ" นั้นจะเน้นความเด่นชัด ของผู้สร้างเป็นสำคัญ
จังหวัดพิจิดร เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีปรมาจารย์หลายท่าน มีความเก่งกล้า สามารถด้านวิชาอาคม จนชื่อเสียงโด่งดังอยู่ระดับแถวหน้าของประเทศ เช่น หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า, หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน, หลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อ หรือ หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง เป็นต้น ท่านปรมาจารย์เหล่านี้ ท่านได้สร้างเครื่องรางไว้กันมากมายหลายอย่างจนโด่งดัง ไม่แพ้พระเครื่องเลยทีเดียว เครื่องรางที่โดดเด่นที่สุด ของปรมาจารย์เหล่านี้ คงหนีไม่พ้น "ตะกรุด" ที่ลงยันต์ "คู่ชีวิต" เอาไว้ เป็นต้น
ตะกรุด "หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง" ยุคต้น ไม่มีถัก จารนอกจารใน
"อะสิสัตติธะนุเจวะ สัพเพเตอาวุธานิจะ
ภัคคะภัคคาวิจุณณานิ โลมังมาเมนะผุสสันติ"
นี่เป็นคาถาที่ลงในแผ่นตะกรุดทั้งสี่มุม ของ "ยันต์คู่ชีวิต" คาถานี้มีการใช้กันมานาน ตั้งแต่สมัยอยุธยายุคต้นๆ นั้น และยังถือว่าเป็นยันต์ๆ หนึ่งที่ตำราพิชัยสงคราม ได้บันทึกไว้ว่าเป็น ยันต์ชั้นสูง ที่ประเมินค่ามิได้ แต่ใช่ว่าตะกรุดลงยันต์นี้ จะมีเฉพาะเกจิใน จ.พิจิตร เท่านั้น เกจิอาจารย์ในจังหวัดอื่นก็ยังพบเจออยู่หลายท่าน ที่ได้ลงยันต์ประเภทนี้ไว้
เดิมนั้นเล่ากันว่า ต้นตอที่แท้จริงนั้นมาจาก หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า ทั้งนั้น แม้แต่หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ท่านเอง ก็ได้เล่าเรียนมาจาก หลวงพ่อโพธิ์ เช่นกัน
วันนี้เราจะพูดถึงเรื่องตะกรุดของ "หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง" ซึ่งเป็นศิษย์เอกองค์หนึ่งของ "หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน" และเป็นตำนาน "ตะกรุดคู่ชีวิต"
"หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง" พระเกจิอาจารย์ซึ่งถือว่า มีวิชาแก่กล้ามากเป็นที่สุดอีกองค์หนึ่งของประเทศไทย เลยทีเดียว หลวงพ่อพิธ ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ เล่ากันว่า ท่านเป็นหลานแท้ๆ ของ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน และเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อเงินอีกองค์หนึ่งด้วย และได้ศึกษาวิชาอาคม การทำตะกรุดมาจากหลวงพ่อเงินทั้งสิ้น ตะกรุดของหลวงพ่อพิธนั้นได้รับความนิยมสูงมาก มีประสบการณ์มากมายจากผู้ใช้ จนได้รับฉายาว่า "ตะกรุดคู่ชีวิต หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง"
"หลวงพ่อพิธ" ท่านได้สร้างตะกรุดคู่ชีวิตไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๐-๒๔๘๕ ให้ทำบุญดอกละ ๑๐ บาท นำเงินที่ได้มาสร้าง พระอุโบสถ ที่วัดสามขา ซึ่งในขณะเวลานั้น รูปหล่อของ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน องค์หนึ่งยังไม่เกิน ๑๐ บาทเลย
"ตะกรุด "หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง" อั่วทองเหลือง จ.พิจิตร"
ตะกรุดของ "หลวงพ่อพิธ" วัดฆะมังนั้น ปัจจุบันเป็นเครื่องรางที่หาชมของแท้ได้ยากเอามากๆ การปลอมลอกเลียนแบบมีด้วยกันหลายฝีมือ ที่เลียนแบบได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นการนำเอาตะกรุดเกจิอาจารย์เก่าๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกันกับ ตะกรุด หลวงพ่อพิธ แล้วนำอั่วที่ทำขึ้นใหม่มาสอดแกนกลาง ของแท้ราคาค่างวดในตลาดพระสูงมาก ดอกละหลายหมื่นบาท น่าเป็นรองแค่ตะกรุดมงคลโสฬล ของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง เท่านั้นเอง
จุดสังเกตการดูตะกรุดของ "หลวงพ่อพิธ" นั้น ตะกั่วต้องเป็นตะกั่วน้ำนม ใช้อั่วทองเหลืองเป็นแกนกลาง และลงยันต์คู่ชีวิตหรือยันต์อะ หลวงพ่อพิธ ท่านยังมีศิษย์เอกอีกท่านหนึ่ง คือ หลวงพ่อเตียง วัดเขารูปช้าง ซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาทำตะกรุดคู่ชีวิต จากหลวงพ่อพิธ หมดทั้งสิ้นเช่นกัน การสร้างตะกรุดของหลวงพ่อเตียงนั้น ท่านจะสร้างเลียนแบบ หลวงพ่อพิธ แต่จะต่างกัน ที่อั่วของหลวงพ่อเตียง จะทำจากโลหะทองแดงเป็นแกนกลาง หลวงพ่อพิธ นั้นท่านมรณภาพลงเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘
"ตะกรุด "หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง" อั่วทองเหลือง จ.พิจิตร"
"ตะกรุดคู่ชีวิต" นั้น ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์องค์ไหนสร้างก็ตาม มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่น้อยลดหย่อนไปกว่ากัน เชื่อกันว่าแผ่นโลหะที่ได้ลงยันต์คู่ชีวิต มีความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ต้องปลุกเสก ก็สามารถนำมาใช้ติดตัวได้แล้ว
ตะกรุดแต่ละดอกของ "หลวงพ่อพิธ" ที่ได้สร้างขึ้นนั้นมีทั้งที่ไม่มีอั่ว ไม่ถักเชือก และที่ลงรักถักเชือก แต่จะสังเกตได้ ตะกรุดทุกๆ ดอกของหลวงพ่อพิธ จะมีความเรียบร้อย ประณีตมาก
ด้านพุทธคุณนั้น เชื่อกันว่าครบสูตรทุกประการ แต่เน้นทางด้านแคล้วคลาด และคงกระพัน ชาตรีเป็นหลัก เพราะยันต์คู่ชีวิต นั้นหมายถึง มีอยู่แล้วชีวิตอยู่คง ส่วนค่านิยมด้านราคานิยมเล่นกันค่อนข้างสูงมากอยู่ในหลักหมื่นปลายๆ จนถึงหลักหลายๆ แสนขึ้นอยู่กับความสวย ความสมบูรณ์ มีเสน่ห์ และคลาสสิคครับ
เรื่อง : นุ เพชรรัตน์