"พระคง ลำพูน" รายละเอียดที่อยู่ในตำแหน่ง ต้องเช็คข้อจำกัดทางธรรมชาติที่มี
"พระคง ลำพูน" ความแตกต่างขององค์พระอยู่ที่รายละเอียด สีที่เกิดจากระยะเวลาการผลิต มีทั้งเนื้อสีขาว สีเหลืองพิกุล สีเขียว สีแดง และสีดำ
ที่มาของพระคงลำะพูนเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) ในตำนานพงศาวดาร เมืองนี้ถูกสร้างขึ้นโดย "พระฤๅษี 4 องค์" แล้วเสร็จในราว ๆ ปี พ.ศ.1200 ซึ่งในขณะนั้นเมืองละโว้ หรือ ลพบุรี เป็นศูนย์กลางของแคว้น "ทวารวดี" ของชนเผ่ามอญ โดย "พระนางจามเทวี" ในปี พ.ศ.1205 ได้เสด็จมายังเมืองหริภุญชัย ทรงนำพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ พระไตรปิฎก รวมทั้งศิลปะวิทยาการต่างๆ และผู้คนอีกจำนวนมากขึ้นมายังเมืองหริภุญไชย และถูกอัญเชิญเป็นกษัตริย์ตั้งแต่นั้นมา พระนางทรงสร้างวัด และถาวรวัตถุในศาสนสถานที่สำคัญที่สุด คือ "จตุรพุทธปราการ" โดยการสร้างวัดไว้ทั้ง 4 ทิศ ที่ชาวเมืองเรียกว่า "วัดสี่มุมเมือง" เพื่อเป็นการคุ้มครองเมืองทั้งสี่ทิศซึ่งมีปรากฎอยู่ ดังนี้
1.วัดพระคงฤๅษี อยู่ด้านทิศเหนือ 2.วัดดอนแก้ว อยู่ด้านทิศตะวันออก 3.วัดมหาวัน อยู่ด้านทิศตะวันตก 4.วัดประตูลี้ อยู่ด้านทิศใต้
นอกจากนี้ที่พระเจดีย์ฤๅษี (วัดพระคงฤๅษี) ยังปรากฎรูปพระฤๅษีทั้งสี่องค์ ผู้ร่วมสร้างเมืองหริภุญไชยประทับยืนในซุ้มคูหาของพระเจดีย์ พร้อมทั้งมีคำจารึกไว้ที่ใต้ฐานว่า
"สุเทวะฤๅษี" ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศเหนือ "สุกกทันตฤๅษี" ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศใต้
"สุพรหมฤๅษี" ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศตะวันออก "สุมมนารทะฤๅษี" ผู้รักษาเมืองฝ่ายทิศตะวันตก
วัดทั้งสี่มุมเมืองนี้ "พระนางจามเทวี" ทรงสร้างขึ้นใน พ.ศ.1223 เป็นสถานที่สำคัญแหล่งกำเนิดกรุพระเครื่องอันมีชื่อที่สุดในลำพูน คือ พระรอด พระคง พระฤา พระบาง พระเปิม โดยองค์พระมีพุทธศิลปรูปแบบทวาราวดี และศิลปะศรีวิชัย ซึ่งเชื่อกันว่าพระกรุทั้งหลายเหล่านี้สร้างขึ้นโดยพระฤๅษี พร้อมกับการสร้างวัดในสมัย "พระนางจามเทวี" มีอายุการสร้างประมาณ 1300 ปี
พระคงลำพูน กรุเก่า เนื้อดินสีเหลือง จ.ลำพูน
พระคงลำพูน กรุเก่า จ.ลำพูน
พระคงลำพูน กรุเก่า เนื้อดินสีดำ จ.ลำพูน
พระคง ลำพูน พุทธลักษณะของพระคง เป็นองค์พระนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ภายใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา เป็นตัวแทนสัญลักษณ์การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
พระคงมีการแตกกรุมาหลายครั้ง ในวงการมีการแบ่งออกเป็นกรุเก่า และ กรุใหม่
พระคงกรุเก่า มีการขุดพบกันนานมาก ประมาณร้อยกว่าปี ขุดพบครั้งแรกที่ กรุวัดพระคงฤๅษี และอีกในหลายวัดที่พระนางจามเทวีทรงสร้าง ลักษณะเนื้อพระกรุเก่ามีความละเอียด หนึบนุ่ม
พระคง กรุใหม่ มีการเปิดกรุครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2518 โดยทางวัดได้ซ่อมพื้นพระอุโบสถ ได้พบพระคงสีต่างๆ จำนวนมากนับหมื่นองค์ และทางวัดได้นำพระคงออกให้เช่าบูชาในขณะนั้นด้วย พระคงกรุใหม่นี้ มีพิมพ์ทรง และเนื้อเหมือนกรุเก่าทุกประการ จะแตกต่างกันบ้างที่เนื้อ พระคงกรุใหม่เนื้อจะค่อนข้างแห้งกว่า กรุเก่า ซึ่งบางองค์ก็มีคราบกรุเกาะแห้งกรัง พอนำมาใช้ระยะหนึ่ง องค์พระติดเหงื่อไคล ความแตกต่างทั้งกรุเก่า และกรุใหม่ใกล้เคียงกันมากแทบจะแยกไม่ออกเลย
พระคงลำพูน กรุเก่า เนื้อดินสีเขียวคราบเหลือง จ.ลำพูน
จุดสังเกตุหลักๆ ในการพิจารณาของ "พระคง ลำพูน"
"พระคง ลำพูน" กายภาพโดยรวม "หากหน้าองค์พระติดชัด พื้นที่เป็นใบโพธิ์จะไม่ติดชัด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากใบโพธิ์ติดชัดๆ ส่วนมากหน้าตาองค์พระจะติดไม่ชัด(กลับกัน) อาจเกิดจากความลึกตื้นของแม่พิมพ์ หรือน้ำหนักการกดพิมพ์พระ
หน้าของพระคง ลำพูนจะมีลักษณะคล้ายๆ กับหัวกะโหลก พระคงเป็นพระที่เงยหน้า สังเกตุได้เวลาถ่ายรูปจะมีเงาใต้คาง พระคงจะไม่ก้มหน้า ถ้าพระคงก้มหน้ามักจะไม่แท้"
พระคงลำพูน กรุเก่า เนื้อเขียวคราบแดง จ.ลำพูน
พระคงลำพูน กรุเก่า เนื้อสีเขียวหินครก จ.ลำพูน
"พระคง ลำพูน" องค์ที่สมบูรณ์จะปรากฎว่ามีใบโพธิ์ 9 ก้าน 20 ใบ ตำหนิอีกจุดหนึ่งในใบโพธิ์ที่สำคัญ คือ ใบโพธิ์แถวที่ 2 ด้านล่างจากฝั่งซ้ายมือองค์พระ จะเป็นใบทีตื้นที่สุด หรือบางทีแทบจะไม่ติดเลย นี่คือจุดใหญ่จุดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม
พระศอ (เส้นคอ) จะปรากฎเห็นแค่เส้นครึ่งเท่านั้น เส้นบนติดเต็มเป็นครึ่งวงกลม ส่วนเส้นล่างกดพิมพ์ติดแค่ครึ่งเดียว
ส่วนมือของพระคง คนโบราณกล่าวไว้ว่า พระคงชอบยิงปืน คือแขนและมือข้างซ้ายของพระตั้งฉาก 90 องศา ปลายนิ้วมาติดชนกับแขนข้างขวาองค์พระ แขนข้างขวาองค์พระพาดลงมาที่หัวเข่า และปลายนิ้วมือทั้งมืององุ้มเข้าใต้เข่าองค์พระ แต่ถ้าปลายนิ้วมือแบทิ้งตรงๆ ไม่งอ ส่วนมากจะไม่แท้
กำไลแขน บริเวณใกล้ๆข้อมือข้างซ้ายพระคงจะมีเหมือนกำไล และจะมีเส้นแตกวิ่งใต้กำไลแขนไปทางซ้ายองค์พระ ซึ่งตำหนิจุดนี้ ถือว่าสำคัญที่สุดอีกจุดหนึ่ง ถ้าองค์พระกดติดพิมพ์แบนเยอะๆ ไม่ชัด อาจจะไม่เห็นตำหนินี้ แต่ถ้าองค์ไหนกดพิมพ์เส้นนี้ติด เท่าที่พบเห็นเป็นพระแท้ทุกองค์
ระหว่างข้อพับแขนซ้ายพระคง จะมีหลุมลึกลักษณะคล้ายขอเบ็ด
นิ้วโป้งมือข้างซ้ายองค์พระ จะมีลักษณะเล็บยาวแหลมเห็นได้ชัด
ช่องมุมที่แขนซ้าย แขนขวาชนกัน จะปรากฎก้อนเนื้อเกินคล้ายลูกภูเขาสองลูกนูนขึ้นมา ยิ่งถ้าใช้กล้องส่องจากด้านบนลงมาจะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ใต้ฐานองค์พระ สังเกตเนื้อจะเป็นสองชั้น และมีเนื้อเกินเป็นแท่งเหลี่ยมเกินขึ้นมาเห็นชัดเจน
พระคงลำพูน กรุเก่า(กรุมหาวัน) เนื้อดิน จ.ลำพูน
พระคงนั่งขัดสมาธิเพชร บนอาสนะฐานบัวเม็ดสองชั้น จุดสำคัญของบัวเม็ด คือ ลักษณะจะเหมือน "เม็ดบัวปั้นมาแปะ" เป็นจุดไข่ปลาเรียงอยู่ด้านหน้าทั้งสองชั้น
เคล็ดลับสำคัญในการส่องพระคง คือ ควรต้องส่องและหมุนให้รอบองค์พระ จะทำให้เราเห็นตำหนิต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะบางทีส่องด้านปกติ อาจทำให้ไม่เห็นทั้งหมด เพราะมิติขององค์พระจะหลบสายตาเรา
เนื้อหามวลสารพระคง เนื้อดินที่นำมาสร้างพระคง เป็นดินที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุต่างๆ อยู่มากอีกทั้งยังเป็นพระที่ผ่านอุณหภูมิความร้อนมากกว่าปกติ จึงทำให้เนื้อดิน และแร่ธาตุหลอมละลายตัวแน่นยิ่งขึ้น แต่ไม่แกร่งถึงขั้นเซรามิค จึงยังคงเห็นเม็ดแร่ละเอียดที่ยังไม่ละลาย ฝังตัวเป็นเนื้อเดียวกันกับเนื้อดินในองค์พระได้อย่างชัดเจน
สีของพระคง เกิดจากการเผา พระแต่ละองค์อยู่ในตำแหน่งต่างๆในขณะเผา ก่อให้เกิดสีแตกต่างกัน มีทั้งเนื้อสีขาว สีเหลืองพิกุล สีเขียว สีแดง และสีดำ แต่ละสีจะเกิดจากการโดนไฟมากน้อยของแต่ละองค์ บางองค์โดนไฟน้อย องค์พระอาจจะมีขนาดใหญ่กว่า และสีออกเหลือง โดนไฟมากองค์พระองค์พระจะมีขนาดเล็กลง เกิดสีเขียว ถ้ามากกว่าปกติ อาจเกิดสีเขียวหินครก ส่วนสีที่หายากคือ สีดำ แต่พระคงดำ ที่สำคัญเลยคือ จะไม่ดำทั้งองค์ เพราะการโดนเผา ถ้าด้านหนึ่งเข้ม อีกด้านด้านจะอ่อน เป็นธรรมชาติของการเผา
พระคง แตกต่างกันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น สีองค์พระ ความสวยของหน้าองค์พระ ความชัดของโพธิ์
พุทธคุณพระคง มีพุทธานุภาพในความหนักแน่น มั่นคง เปี่ยมไปด้วยความคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดจากภยันตราย และสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง แต่เมตตามหานิยมก็ไม่เป็นสองรองใคร คงความดี คงอยู่ยั้งยืนนาน
พระคงลำพูน กรุเก่า เนื้อดิน จ.ลำพูน (สภาพใช้)โบราณชอบเรียกเนื้อใผ่สีสุก
เรื่อง : นุ เพชรรัตน์