พระเครื่อง

จักรวาล ใน วัดกุฎีดาว กับเรื่องราว ความเชื่อที่ซ่อนเร้น

จักรวาล ใน วัดกุฎีดาว กับเรื่องราว ความเชื่อที่ซ่อนเร้น

09 พ.ค. 2565

ค้นหาเรื่องราว ความเชื่อ ใน วัดกุฎีดาว ข้อเท็จจริงที่สวนทางในประวัติศาสตร์ เปิดเผยเรื่องราว จักรวาล สะท้อนผ่านพุทธศิลป์


"วัดกุฏีดาว" เป็นหนึ่งในความสนใจของสังคมมาทุกยุคทุกสมัย ในแง่ประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ที่เข้าไปเชื่อมโยงและพัวพันในเรื่องเร้นลับ รวมทั้งการพยายามค้นหาข้อมูลข้อเท็จของวัดแห่งนี้ ที่ถูกนำไปผูกอยู่ในเรื่องราวความลี้ลับ


แต่นอกเหนือความเร้นลับ สิ่งที่หลายคนมองข้าม ในเรื่องความเป็นพุทธราชา การผสานศิลปะ และผนวกรวมคติเทวราชและจักรวาลวิทยา เข้าไว้ในวัดแห่งนี้ ได้อย่างลงตัวและไม่น่าเชื่อ 

จักรวาล ใน วัดกุฎีดาว กับเรื่องราว ความเชื่อที่ซ่อนเร้น
จากการหาข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างวัดกุฏีดาว ในเบื้องต้นนั้น กล่าวกันว่า ปรากฏชื่อครั้งแรกนั้น ในการบูรณะพระอาราม ของกรมพระวังบวรสถานมงคล หรือ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่ปราบดาภิเษกในเวลาต่อมา ว่าทรงบูรณะแข่งกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ที่บูรณะวัดมเหยงค์ 


แต่จากหลักฐาน ที่นักวิชาการหลายๆท่านเชื่อถือและอ้างอิงเป็นหลักฐานนั้น มีระบุไว้ในคำให้การชาวกรุงเก่า  กลับให้ข้อมูลในเรื่องของ "วัดกุฎีดาว" ไปในทิศทางที่ต่างกัน โดยระบุว่า เกี่ยวข้องอยู่ในการพระราชพิธีงานพระบรมศพสมเด็จพระนเรศ ซึ่งมีข้อมูลว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ ได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ที่นี้ขึ้น เรียกว่า “ มหาดาราเจดีย์ “ หรือในคำให้การเขียนเป็น มหาคาราเจดีย์ 

 

เพียงแต่ว่าไม่ระบุชัดเจนว่า พระเจดีย์องค์นี้ของ "วัดกุฎีดาว" สร้างขึ้นเพื่อถวายพระราชกุศล หรือ เพื่อบรรจุสิ่งใดที่เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศ ซึ่งต่างจากกรณี วัดวรเชษฐาราม ที่ชัดเจนในการสร้างเพื่อบรรจุฉลองพระองค์ หรือวัดสบสวรรค์ สร้างในจุดตั้งที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ 

 

จักรวาล ใน วัดกุฎีดาว กับเรื่องราว ความเชื่อที่ซ่อนเร้น
 

 

 

เรื่องขององค์พระเจดีย์ ในช่วงเวลาหนึ่ง ได้เคยมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและเผ็ดร้อน หากมองข้ามเรื่องต่างๆไป แล้วใส่ใจในส่วนศิลปะ จะพบว่า ตัวฐานขององค์เจดีย์นั้น มีความแตกต่างจากศิลปะของอยุธยาออกไป  โดย อ.ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโส และเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ทำการสำรวจ รวมทั้งขุดค้นโบราณสถานต่างๆในอยุธยา ได้อธิบายอย่างน่าสนใจว่า ฐานเจดีย์วัดกุฏีดาวนี้ เป็นศิลปะแบบมอญ และตั้งข้อสังเกตว่า ลักษณะของเจดีย์วัดกุฏีดาวนั้น เหมือนกับวัดจักรวรรดิ ที่อยู่ใกล้ๆกัน และในอดีตถูกเรียกว่า “วัดเจ้ามอญ” 

 

จักรวาล ใน วัดกุฎีดาว กับเรื่องราว ความเชื่อที่ซ่อนเร้น

 

 

และนอกเหนือจากชื่อมหาดาราเจดีย์แล้วนั้น การก่อสร้างก็ทำในรูปแบบของดวงดาว หากสังเกตภาพรวม ที่ไม่ได้มองที่เจดีย์หัก บนฐานโดยรอบ จะพบมีเจดีย์เล็กๆ ที่เรียกว่า เจดีย์ราย อยู่โดยรอบ 8 องค์ และทั้ง 8 องค์นี้ ถูกสร้างขึ้นในตำแหน่งดวงดาวทั้ง 8 

 

อ.ปฏิพัฒน์ ได้อธิบายต่อไปว่า การวางตำแหน่งเจดีย์ตามดวงดาวนี้ เรียกว่า ทักษา ซึ่งเป็นหลักโหราศาสตร์แขนงหนึ่ง และเป็นคติความเชื่อของมอญ  โดย ดาวอาทิตย์ อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  ดาวจันทร์ ประจำอยู่ทิศตะวันออก ดาวอังคาร ประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้


 ดาวพุธ ประจำทิศใต้ ดาวพฤหัสบดี อยู่ทิศตะวันตก ดาวศุกร์ ประจำทิศเหนือ ดาวเสาร์อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และดาวราหู ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนดาวเกตุ อยู่ในตำแหน่งวิญญาณ ก็คือเจดีย์ตรงกลาง นอกเหนือจากตำแหน่งเกตุ ยังมีความหมายที่เชื่อว่า หมายถึงเขาพระสุเมรุ มีมีดวงดาวรายรอบ เป็นจักรวาล
 

สำหรับคติความเชื่อในเรื่องจักรวาลวิทยา เป็นแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาความจริง ที่เกี่ยวข้องกับโลกและจักรวาลในมิติต่างๆ ซึ่งอยุธยารับสืบทอดมาจากพราหมณ์ของเขมร ซึ่งมีระบุไว้ในคัมภีร์ปุราณะ มีเนื้อหา 5 ส่วนใหญ่


 ได้แก่ การสร้างโลกและจักรวาล ความดับสูญหรือพินาศของโลกและถือกำเนิดใหม่  เรื่องเผ่าพันธุ์เทพเจ้าต่างๆ การเริ่มต้นของพระมนูและยุคแห่งพระมนู เรื่องดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ 

จักรวาล ใน วัดกุฎีดาว กับเรื่องราว ความเชื่อที่ซ่อนเร้น

จักรวาลในคัมภีร์ปุราณะ ประกอบด้วยสวรรค์  โลกมนุษย์  แบ่งเป็น 7 ทวีป มีมหาสมุทรแยกออกจากกัน ชมพูทวีปอยู่กึ่งกลาง  และกลางทวีปนั้น มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาล เป็นที่ตั้งของนครเทพต่างๆ และอยู่ติดกับแม่น้ำคงคา ใต้เขาพระสุเมรุ มีภูเขาค้ำยันอยู่สี่ทิศ เป็นที่ประทับของเทพชั้นรองลงมา จากเหล่ามหาเทพ  นอกจากนี้มีโลกบาดาล และนรก 

 

เมื่อรับเอาคติความเชื่อต่างๆจากพราหมณ์มานั้น ยังมีในเรื่องของเทวราชาเข้ามาด้วย ต่อมาในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความสำคัญและนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทมากขึ้น จึงมีการผนวกรวมคติความเชื่อเทวราชา เปลี่ยนมาเป็น พุทธราชา


 พระมหากษัตริย์เป็นองค์ศาสนูปถัมภก แสดงพระราชอำนาจ ผ่านการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ตามวัดต่างๆ  ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มหาดาราเจดีย์ แห่ง "วัดกุฏีดาว" คือการผนวกรวมเอาคติความเชื่อต่างๆ เข้าด้วยกัน อย่างลงตัวและผสมกลมกลืน และสะท้อนแนวคิด การเมือง การปกครองแห่งยุคสมัยไปพร้อมกัน 

จักรวาล ใน วัดกุฎีดาว กับเรื่องราว ความเชื่อที่ซ่อนเร้น

แม้บทสรุปจะไม่สามารถบอกได้ว่า "วัดกุฏีดาว" นั้น ถูกสร้างสมัยไหน แต่การใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ของโบราณสถาน ที่หลายคนเคยชม เคยเห็น เคยถ่ายรูป แต่ถูกมองข้ามไป น่าจะสามารถบอกเรื่องราว ตัวตน และความหมายที่แท้จริงได้

ไม่มากก็น้อย.