ตามรอย "พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์" ตอนที่ 1
เปิดรอยตำนาน "พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์" ลำดับเรื่องเล่าและตำนานชีวิตของเทพเจ้าแดนใต้ ปาฎิหารย์ที่ไม่รู้จบ
สถานีรถไฟจันดี ในตลาดจีนดี ตำบล จันดี อำเภอ ฉวาง นครศรีธรรมราช ณ เวลานั้น จวนเจียนที่จะต้องเคลื่อนขบวนออกสถานี เพื่อมุ่งหน้าเดินทางต่อไปโดยปลายทางอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
"รอสักครู่ ให้เด็กมันกลับไปเอาสังฆาฏิอยู่" เสียงพระภิกษุชราร่างเล็ก ได้เอ่ยขึ้นบอกกับนายสถานี แต่ในขณะนั้น เวลาใกล้ 11 โมงแล้ว นายสถานีก็ไม่อาจจะปล่อยเวลาให้ทอดออกไปมากกว่านี้ได้จึงจำต้องเตรียมการสั่งให้รถไฟเคลื่อนขบวนออกจากสถานีจันดี
และในเวลานั้นเองภิกษุชราท่านนั้นก็ได้ยกเท้าขึ้นเหยียบกับบันไดรถไฟ และส่งผลให้รถไฟขบวนนั้นไม่สามารถเคลื่อนขบวนออกจากสถานีได้แม้จะเดินเครื่องเต็มกำลังแล้วก็ตาม
และเรื่องเล่าเรื่องนี้ ก็กลายมาเป็นตำนานของคนจันดี ที่เป็นหนึ่งในปาฏิหาริย์ ที่เล่ากันปากต่อปากจนถึงปัจจุบันอย่างไม่รู้จบ ของพ่อท่านคล้าย หรือ
พระครูพิศิษฐ์อรรถการ คล้าย จนฺทสุวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนขันและวัดพระธาตุน้อย
หรืออีกนาม ที่คนทั้งประเทศ รู้จักกันในนาม
พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์
ที่คนภาคใต้ ขนานนามว่า เทพเจ้าแห่งแดนใต้ ชื่อเสียงของท่าน เป็นรองเพียง หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
เมื่อแรกเยือนดินแดนจันดี เมื่อยืนอยู่หน้า วัดธาตุน้อย ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ภิกษุรูปนี้ ภิกษุต่างจังหวัดท่านหนึ่ง ทำไมสามารถที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า ปาฎิหารย์ได้อย่างอัศจรรย์
ปาฏิหาริย์ที่ว่า นั่นก็คือ ทุกบ้านทุกร้าน ทุกชานเรือน ทางถนน ปรากฎรูปถ่าย ภาพเหมือน หุ่นหล่อปั้น ของภิกษุรูปนี้ อยู่ในทุก ๆ ระยะการเคลื่อนผ่าน ย่อมแสดงในเห็นได้ว่า คำว่า ไม่ธรรมดา และมีปาฎิหารย์ ต้องเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจน
ในตำนานเรื่องราวชีวิตของ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์มีนามเดิมว่า คล้าย สีนิล เกิดวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2417 ซึ่งเป็นปีที่ 7 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด จ.ศ.1238 ร.ศ.95 ที่บ้านโคกทือ ตำบลช้างกลาง กิ่งอำเภอช้างกลาง
บิดา มารดาชื่อ นายอินทร์ นางเหนี่ยว สีนิล มีพี่สาว 1 คน ชื่อนางเพ็ง
ตามข้อมูลช่วงต้นของชีวิตที่ได้มีการระบุไว้นั้นได้เขียนเล่าอ้างตำนานชีวิตของพ่อท่านคล้ายไว้ว่าลักษณะนิสัย เป็นคนมีมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของบิดามารดาและครูอาจารย์อย่างเคร่งครัด สุภาพ เรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย นิสัยอ่อนโยนละมุนละไม จึงเป็นที่รักของบิดามารดา ครูอาจารย์และญาติมิตรเป็นอันมาก
จากเหตุการณ์สำคัญในชีวิตเมื่ออายุได้ 15 ปีที่ไปช่วยญาติตัดต้นไม้ถางป่าทางไร่ที่จังหวัดกระบี่บังเอิญในครั้งนั้นท่านได้ถูกต้นไม้ที่ญาติของท่านตัดโค่นลงมาล้มทับสายเท้าจนทำให้กระดูกแตกละเอียดและท่านได้แสดงถึงความเด็ดเดี่ยวและใช้มีดปาดตาลตัดช่วงเท้านั้นออก
ขณะที่ข้อมูลที่เป็นเรื่องเล่าของคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับเหตุต้นไม้ทับเท้าจนกระดูกแตกของพ่อท่านคล้ายนั้น ได้เล่าไว้ว่า ในเหตุการณ์ครั้งนั้นเท้าของท่านไม่สามารถรักษาได้และท่านได้แสดงถึงความมานะอดทนได้ขี่ควายในขณะที่ได้รับบาดเจ็บอย่างสาหัสกลับมารักษาตัวที่บ้านจันดี
ถึงจะเป็นเรื่องเล่าเรื่องใดก็ตามแต่ผลสุดท้ายพ่อท่านคล้ายก็ต้องเสียเท้าข้างซ้ายไป และนั่นจึงทำให้ท่านต้องใส่ปลอกเท้ามาตลอดชีวิตของท่าน
อาจารย์ดำ ธาตุน้อย ขณะกำลังกางตำราวิชาเกี่ยวกับการรักษาโรคของพ่อท่านคล้ายให้ชม
อาจารย์ดำ ธาตุน้อย ซึ่งมีเชื้อสายโดยตรงเกี่ยวพันเป็นเครือญาติกับพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ได้เล่าให้ฟังว่าพ่อท่านคล้ายนั้น ตลอดชีวิตท่านต้องใส่ปลอกเท้า ซึ่งเป็นเสมือนเท้าปลอมมาโดยตลอด
วิธีการที่ท่านจะทำปลอกเท้าใส่นั้นท่านก็จะสั่งให้ลูกศิษย์ลูกหาของท่านไปหาไม้ไผ่ ซึ่งมีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นต้นที่หันไปลำไผ่ ไปยังทิศตะวันออกจากนั้นท่านก็จะมาทำขั้นตอนในการทำให้เป็นปลอกเท้าของท่านเอง
หม้อยารักษาโรค และ ปลอกเท้า ของพ่อท่านคล้าย
ท่านจะมีอุปสรรคเรื่องเท้าของท่านแต่พ่อท่านคล้ายก็ยังได้เดินเข้าสู่เส้นทางพระศาสนาตั้งแต่อายุ 19 ปี โดยเริ่มต้นบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2438 ที่วัดจันดี ต.หลักช้าง บรรพชาโดยอาจารย์ พระอธิการจัน เจ้าอาวาสวัดจันดี (ทุ่งปอน) และว่ากันว่าพ่อท่านคล้ายนั้นสามารถท่องจำพระปาฏิโมกข์จนได้แม่นยำ
เมื่ออายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุทกุกเขปสีมา หรือศาลาน้ำ ได้รับฉายาว่า จนฺทสุวณฺโณ ณ วัดวังม่วง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช โดยมี พระครูกราย คงคสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดหาดสูง เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วได้ไปจำพรรษา อยู่ที่วัดทุ่งปอน หรือวัดจันดี
เมื่อเป็นพระภิกษุแล้วในเรื่องราวของความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังในด้านวิชาอาคมของพ่อท่านคล้ายไม่ได้ถูกระบุอย่างชัดเจนมากนักว่าท่านได้ศึกษา มีแต่เพียงที่ระบุไว้ว่าได้เรียนกับพระครูกรายหรือพ่อท่านกรายที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง
แต่ที่แน่นอนชัดเจนนั้น นั่นก็คือ หลวงปู่หมุน แห่งวัดบ้านจาน เป็นหนึ่งในศิษย์ ที่มาเรียนร่ำเรียนวิชากับพ่อท่านคล้ายที่ วัดธาตุน้อย
ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้มีโอกาสถามนอกเหนือจากอาจารย์ดำ ที่เป็นเชื้อสายของพ่อท่านคล้ายยังมีผู้ที่เคยได้ปฏิบัติรับใช้ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่มีอายุของท่านได้บอกเล่าสิ่งหนึ่งมาว่า ในความเป็นจริงแล้วภาพที่เราเห็นว่า พ่อท่านคล้าย เป็นคนที่ดูเคร่งขรึมเงียบๆแต่ในความเป็นจริงอุปนิสัยของท่านนั้นก็ถือว่าท่านเป็นคนที่มีความสนุกสนานแต่ท่านมักจะไม่ค่อยพูดมากนัก นั่นก็เพราะส่วนหนึ่งเป็นเหตุมาจากสิ่งที่เรียกว่าวาจาสิทธิ์ของท่านเอง
จึงทำให้เกิดความสงสัยต่อไปว่า แล้วคำว่า วาจาสิทธิ์ ที่พ่อท่านคล้ายได้มา เป็นเสมือนนามประจำตัวของท่านนั้นได้มาจากที่ไหน
อาจารย์ดิว เจ้าพยัคฆ์ จันดี หนึ่งในผู้ที่มีเชื้อสายเกี่ยวข้องกับพ่อท่านคล้ายเช่นกันได้พาผมขึ้นรถแล้วขับมุ่งตรงไปในทิศทางถนนเส้นเดียวกับวัดสวนขันและมุ่งไปยังสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นจุดกำเนิดในสิ่งที่ได้มาของวาจาสิทธิ์นั่นเอง
โปรดติดตามตอนต่อไป....