เครื่องรางแต่โบราณ "แหวนพิรอด" พุทธคุณ คงกระพัน
รู้จัก "แหวนพิรอด" เครื่องรางของขลังนับแต่โบราณ พุทธคุณด้านอยู่ยงคงกระพัน แม้แต่ ขุนพันธรักษ์ราชเดช ยังใส่ติดตัว
ในโลกของไสยเวท เครื่องรางของขลัง นับแต่อดีต หนึ่งในเครื่องรางที่ได้รับความนิยม พกติดตัว หรือ ใช้เพื่อป้องกันตัว นั่นก็คือ แหวนพิรอด มีความเชื่อว่า แหวนพิรอด นั้น จะช่วยให้มีความอยู่ยงคงกระพัน ป้องกัน แคล้วคลาด จาก ศัตรู และอาวุธต่าง ๆ
แหวนพิรอดแต่เดิมนั้นหาได้ไม่ยากนักมีอยู่ถมไปตามสำนักต่างๆ แต่ละอาจารย์ท่านก็สานออกมาให้ลูกศิษย์ลกหาประชันวิชากันอยู่บ่อยๆ แต่มาในปัจจุบันเริ่มหาผู้ถักและมีวิชาอาคมปลุกเสกเลขยันต์แหวนพิรอดไม่ค่อยจะเหลือแล้วจึงถือว่าเป็นของหายากมากๆ ยิ่งอาจารย์เก่าที่ท่านไม่อยู่บนโลกนี้แล้วก็ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่ ถึงปัจจุบันจะมีคนถักเป็นแต่ก็ใช่จะขลังเช่นเดียวกับคนสมัยก่อนถักขึ้นมา
สำหรับการสร้าง แหวนพิรอด การสร้างแต่เดิมนั้นทำขึ้นจากกระดาษสาหรือผ้าตราสังศพ แล้วนำเอามาแผ่เป็นริ้วลงอักขระเลขยันต์ ตลอดจนบาทพระคาถาแล้วฝั่นให้เป็นเกลียวแล้วจึงนำเอามาถักทำเป็นแหวนเมื่อปลุกเสกดีแล้วท่านให้เอาแหวนพิรอดใส่ในเตาอั้งโล่ที่มีถ่านไฟลุกโซน วงไหนไม่ไหม้จึงจะใช้ได้นำเอามาลงรักปิดทองต่อไป แหวนพิรอดขนาดเล็กสวมใส่นิ้วเรียกว่า “พิรอดนิ้ว” ที่วงใหญ่หน่อยใช้ใส่สวมแขนเรียกว่า “พิรอดแขน” ข้อดีทางคงกระพัน มหาอุด และกันเขี้ยวงา
แหวนพิรอด มี 2 ชนิด คือ
1. พิรอดนิ้ว คือ แหวนพิรอด ที่มีขนาดเล็กใช้สวมที่นิ้วมือ เป็นเครื่องประดับและเครื่องรางของขลัง
2. พิรอดแขน คือ สนับแขนพิรอดมีขนาดใหญ่สวมไว้ที่แขนเป็นอาวุธของนักมวยโบราณ
คาถาอาคมและเลขยันต์ที่ใช้กับพิรอด
“ยันต์ตะกร้อ”
เมื่อได้ แหวนพิรอด มาแล้วจะโยนเข้ากองไฟ หากไฟไหม้แหวนพิรอดนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ต้องทำอันใหม่ที่ไฟไม่ไหม้ และการนำไปใช้เมื่อต้องไปทำศึกสงครามให้ถือแหวนพิรอดนี้แล้วบริกรรมด้วย “มะอะอุฯ” และถ้าจะให้เป็นตบะเดชะในสงคราม
ทำให้ข้าศึกครั่นคร้าม ให้บริกรรมด้วยคาถา
“โอม ยาวะ พะกาสะตรีนิสิเหฯ”
เงื่อนพิรอดนั้น จัดเป็นเงื่อนสำคัญที่ใช้ในการต่อเชือกหรือการผูกโยงเพื่อความมั่นคง แน่นหนาอย่างวิชาเชือกคาดสายหลวงปู่ขัน วัดนกกระจาบ และหลวงปู่ธูปวัดแค นางเลิ้ง กทม. ซึ่งพระเกจิอาจารย์ท่านนี้เป็นผู้ทรงคุณวิทยาสูงส่งเฉพาะด้านมหานิยมก็เข้ม ขลังขนาดอมตะ ดาราอย่าง คุณ มิตร ชัยบัญชายังนับถือเป็นลูกศิษย์ซึ่งวงการผู้นิยมเครื่องรางก็ทราบกันดี โดยเชือกคาดสายหลวงปู่ขันนั้นเวลาคาดต้องขัดเป็นเงื่อนพิรอด
มีคาถากำกับว่า "พระพิรอดขอดพระพินัย" และเวลาแก้เชือกก็มีคาถาว่า "พระพินัยคลายพระพิรอด" อันจะเห็นได้ว่าศาสตร์การใช้เงื่อนพิรอดนั้นยังสืบมาถึงเครื่องคาดอย่าง เชือกหรือการ ผูกตะกรุด พิสมรซึ่งต้องรวมถึงเครื่องรางโบราณอีกชนิดที่ปัจจุบันไม่ค่อยมีเกจิอาจารย์ สร้างก็คือ "ผ้าขอด" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องพิรอดด้วยโดยผ้าขอดนั้นจะเป็นการขัด "พิรอดเดี่ยว" เกจิอาจารย์ที่มีชื่อเรื่องผ้าขอดในยุคเก่า ๆ เช่น หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อพรหม วัดขนอนเหนือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อกวย ชุตินธโร จังหวัดชัยนาท เป็นต้น
ในส่วนเครื่องรางผ้าขอดสายวัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็มีชื่อเช่นกันแต่เป็นฆราวาส ที่ชื่อว่า เฮง ไพรวัลย์ ลอยเรืออยู่ท่าน้ำวัดสะแกบางคนเรียกว่า อาจารย์เฮงเรือลอยก็มี
แหวนพิรอดนี้แม้แต่ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช นายพลตำรวจจอมขมังเวทย์ ยังมีสวมไว้ติดกายอยู่เสมอ