รู้จักสายวิชา นะอุตตะรัง สำนักสักยันต์เลื่องชื่อแห่งบางลำพู
ทำความรู้จัก สำนักสักยันต์ นะอุตตะรัง หนึ่งในสายวิชาอักขระมนต์ขลัง เสด็จเตี่ย ยังเสด็จไปรับการสักมังกร ขุนพันธ์ก็เคยสัก
นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ความเชื่อเกี่ยวกับ อักขระเลขยันต์ อยู่คู่สังคมไทยมาโดยตลอด นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ความเชื่อถือในเรื่องของ ยันต์ ส่งทอดมาอย่างต่อเนื่อง ความศรัทธา มีต่อสำนักสักยันต์ ที่เชื่อมั่นในความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยยึดมั่นว่า มีความคงกระพัน ชาตรี เมตตามหานิยม
สายวิชาสักยันต์ มีด้วยกันหลายสาย และได้รับความนับถือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้แต่เจ้าฟ้าเชื้อพระวงศ์ ยังทรงรับการสักยันต์เพราะความเชื่อมั่น
สำนักสักยันต์ ที่กำลังพูดถึงคือ สำนักสักยันต์ สายวิชา นะอุตตะรัง
สายวิชายันต์ นะอุตตะรัง เป็นสายวิชาการสักยันต์ ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ช่วงสมัย รัชกาลที่ 5 โดยมีครูใหญ่ หรือ บรมครูต้นสายวิชา นามว่า ปู่แสง ชัยศร เป็นต้นสายวิชา แต่เดิมนั้น ปู่แสง ตั้งบ้านเรือนและสำนักสักยันต์ อยู่บริเวณคลองสามเสน ทำให้การสักยันต์จากสำนักปู่แสงในเวลานั้น จะมีคำว่า แสง สามเสน อยู่ที่ต้นคอของศิษย์ที่ได้รับการสักทุกคน
เวลาต่อมา ปู่แสง ได้ย้ายบ้านเรือน มาอยู่ที่ตรอกไก่แจ้ ย่านบางลำพู จึงทำให้การสักสัญลักษณ์การเป็นศิษย์ จึงเหลือเพียงคำว่า แสง เพียงคำเดียว
ความมีชื่อเสียงในความเข้มขลังของสำนักยันต์ปู่แสง นี้ ดังเข้าไปถึงในรั้วในวัง เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ยังทรงเสด็จมารับการสักยันต์มังกรพันพระพาหุ หรือ แขน ทั้งสองข้างของพระองค์
ปู่แสง นั้น ท่านมีศิษย์ใกล้ชิดที่ดูแล นั่นคือ ครูปลั่ง ศรีศักดา อาจารย์สักยันต์รุ่นที่สอง พื้นเพเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านเป็นอาจารย์สักอยู่ที่สุพรรณบุรี ซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกว่า อาจารย์นนท์ เรืองาม เหตุเพราะเรือที่ท่านใช้นั้นสวยงามมาก เนื่องจากครูปลั่งได้เขียนอักขระเลขยันต์ต่างๆไว้ตลอดทั้งลำเรืออย่างวิจิตรงดงาม
ครั้นเมื่อครูปลั่งเดินทางเข้าสู่พระนครเพื่อรับราชการทหารในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านได้มีโอกาสร่วมก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และในช่วงนี้เองที่อาจารย์ปลั่งท่านได้มาพบกับปู่แสง ชัยสร บรมครูผู้เป็นต้นกำเนิดสายนะอุตตะรัง ด้วยความศรัทธาจึงขอรับการสักยันต์จากปู่แสง และได้ฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์เพื่อเล่าเรียนวิชาการสักยันต์เพิ่มเติมจากวิชาความรู้ที่มีอยู่เดิม และได้กลายเป็นอาจารย์สักยันต์ที่มีอาคมขลัง แม้แต่ ขุนพันธรักษ์ราชเดช ก็เคยมาฝากตัวของสักยันต์ด้วยเช่นกัน
ครูสมใจ ศรีศักดา อาจารย์สักยันต์รุ่นที่สามของนะอุตตะรัง ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2480 เป็นชาวกทม.โดยแต่กำเนิด อยู่แถวย่านบางลำภู บิดาของท่านชื่อคุณพ่อปลั่ง ศรีศักดา มารดาชื่อคุณแม่เจิม ศรีศักดา ท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนคาถาอาคมทั้งหมด จากผู้เป็นทั้งบิดาและอาจารย์ ท่านได้เริ่มสักยันต์ตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยมีครูปลั่งเป็นผู้สอนและถ่ายทอดวิชาแขนงต่างๆทั้งหมดให้แก่ครูสมใจ แบบพ่อสอนลูก ครูสอนศิษย์แต่เพียงผู้เดียว ในปี พ.ศ.2500 ครูสมใจได้เข้าอุปสมบท ณ วัดสังเวช ในขณะที่ได้อุปสมบทอยู่ในพรรษานั้น ทางท้องสนามหลวงได้มีงานฉลองกึ่งพุทธการ ได้มีการนำพระพุทธ 25 ศรรตวรรต มาทำการพุทธาภิเษก ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วสารทิศในไทยเข้าร่วมพิธี พ่อสมใจในขณะนั้นซึ่งยังอุปสมบทอยู่ได้รับนิมนต์ให้ไปเข้าร่วมพิธีปลุกเสกพระพุทธ 25 ศรรตวรรต ณ มนฑลพิธีในครั้งนั้นด้วย