เปิดตำนานศาสตร์ "คงกระพันชาตรี " ความเชื่อแห่งไสยเวท
เปิดตำนานความรู้ "คงกระพันชาตรี" ศาสตร์ไสยเวท มนตราอาถรรพ์ เปลี่ยนคนในอยู่คงกระพัน 6 เคล็ดวิชา ที่ชายชาตรี ต้องเรียนรู้
วิชาอาคม เป็นความเชื่อที่อยู่ในสังคมไทยนับตั้งแต่อดีต เท่าที่มีหลักฐานชัดเจนคือนับตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี การใช้วิชาอาคมเป็นเรื่องปกติของชายชาวกรุงศรี
อีกหลักฐานที่อิงความเชื่อทางไสยเวท มีอยู่วรรณคดีเรื่องขุนช้าง ขุนแผน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 รวมทั้งมีตักศิลาทางวิชาที่สำคัญนับแต่อดีตได้แก่ วัดประดู่โรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา หรือ วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง
รวมทั้งมีเจ้าฟ้าพระราชบุตรแห่งรัชกาลที่ 5 นักเรียนนอก จบทหารเรือ อย่าง พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ก็ทรงมีความเลื่อมใสในวิชาไสยเวทอย่างกล้าแข็ง เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองอู่ทองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท หลวงปู่พริ้ง วัดบางปะกอก เป็นต้น
ตำรวจอย่างพล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช และฝ่ายเสือขุนโจร ต่างใช้วิชาอาคมเข้าต่อสู้กันและกัน
ซึ่งคำที่คุ้นหูกันที่สุด คือคำว่า คงกระพันชาตรี หมายถึงความทนต่ออาวุธต่างๆ ปืนยิงไม่ออก ฟันแทงไม่เข้า เป็นยอดปราถนาของชายในหลายยุคหลายสมัย
อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ผู้เชี่ยวชาญไสยเวทคนหนึ่งของไทย ได้เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า วิชาไสยศาสตร์ที่ทำให้มนุษย์พ้นอันตราย จากอาวุธนั้นแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภท คือ
วิชาคงกระพัน
เป็นวิชาที่ทำให้ร่างกายมนุษย์อยู่คงต่ออาวุธทั้งปวง ฟันแทงไม่เข้า ถ้าจะฆ่าให้ตายต้องใช้ไม้แทงทะลุทวารหนัก เท่านั้น แบ่งเป็นวิชาย่อยต่างๆ เช่น การเสกของกิน วิธีนี้เรียกว่าอาพัด เช่น อาพัดเหล้า อาพัดว่าน
เสกฝุ่นผงน้ำมันทาตัว หรือปูนแดงป้ายลูกกระเดือก การเรียกของเข้าตัว เช่นน้ำมันงา หรือประกายเหล็กเพื่อให้คงทนเยี่ยงเหล็ก เป็นต้น
ทั้งนี้ การเรียกประกายเหล็กเข้าตัวนี้มีกรรมวิธีที่พิศดารมาก คือ ให้นำเหล็ก ที่มีประกายเวลากระเทาะหินมานั่งับไว้ตรงรูทวารหนัก หลังจากนั้นจึงบริกรรม คาถาเรียกประกายเหล็กเข้าตัวทุกวัน เมื่อเวลาผ่านไปให้นำเหล็กกระเทาะหินดู หากหินนั้นมีประกายอยู่ให้บริกรรมต่อไป หากหินนั้นหมดประกายแล้วก็แสดงว่า ประกายเหล็กถูกเรียกเข้าตัวหมดแล้ว
วิชาชาตรี
เป็นวิชาที่ใช้ป้องกันอาวุธให้ฟันแทงไม่เข้าได้เช่นเดียวกับ วิชาคงกระพัน วิชานี้ทำให้ตัวเบากระโดดได้สูงและอาวุธที่มากระทบตัวนั้นนอกจากไม่ระคายผิวหนังแล้ว ยังไม่รู้สึกเจ็บอีกด้วย วิชานี้มีจุดอ่อน คือ หากถูกตีด้วยของเบา เช่น ไม้ระกำ ไม้โสนกลับเป็นอันตรายได้
วิชาแคล้วคลาด
เป็นวิชาที่ทำให้อันตรายที่จะมาถึงตัวนั้นหลีกเลี่ยงไป และแม้จะถูกทำร้ายซึ่งหน้าก็ดี อาวุธนั้นก็จะมีเหตุให้บังเอิญพลาดเป้าไป มีทั้งการใช้เครื่องราง เช่น ตะกรุด และคาถาอาคม วิชานี้รวมถึง วิชาพรหม 4 หน้า ที่นักมวยคาดเชือกใช้บริกรรมเพื่อให้คู่ต่อสู้ชกไม่ถูกเพราะเห็นเป็นหลายหน้าด้วย
วิชามหาอุด
เป็นวิชาที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง ใช้กันปืนให้เกิดอาการขัดลำกล้อง ยิงไม่ออก ดังคำว่า อุด มีทั้งที่เป็นคาถาภาวนา และเครื่องรางเช่น ตะกรุดที่อุดหัวอุดท้ายแล้ว ตลอดจนกระทั่งลูกปืนที่ด้านแล้วก็นำมาใช้ลงคาถามหาอุดเช่นเดียวกัน ด้วยถือคติว่าแม่ย่อมไม่ฆ่าลูก ผู้ใช้จะปลอดภัยไปด้วย
วิชาแต่งคน
วิชานี้แม่ทัพนายกองในสมัยโบราณใช้คุ้มกันทหารในกองทัพ มักนิยมเสกน้ำมัน ใช้ปูนป้ายลูกกระเดือก หรือเสกหมากให้กินก็ได้
วิชาล่องหนหายตัว
วิชานี้กล่าวว่าเมื่อผู้ฝึกถึงขั้นจะสามารถ กำบังตนและพาหนะไม่ให้คู่ต่อสู้มองเห็นได้