ตำนาน "พระยอดธง" สมัยอยุธยา พุทธคุณ แคล้วคลาด พระพุทธรูปลอยองค์ เพื่อชัยชนะ
พระยอดธง เป็นพระในยุคโบราณ ทั้งสมัยอยุธยา ที่สร้างขึ้นจากผู้ที่นำทัพเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ด้าน "พุทธคุณการปกป้องภยันตราย" จากข้าศึกศัตรู พิธีกรรมมีการมุ่งเน้นความมีชัย แคล้วคลาด ปัจจุบันจึงเป็นที่นิยมในการบูชาของเหล่าคนในวงการพระเครื่องมาโดยตลอด
ด้วยสถานการณ์ใน "สมัยอยุธยา" ต้องพบเจอกับภาวะสงครามอยู่ตลอดเวลา ทั้งเพื่อการขยายอาณาเขต และป้องกันการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทหารและประชาชนต้องการที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และขวัญกำลังใจในการรบ ซึ่งในปกติสังคมไทยจะใช้เครื่องรางของขลังต่างๆ เพื่อเป็นวัตถุมงคลป้องกันภัยจากการทำสงคราม และเมื่อมีการทำพิธีกรรมโดยคณาจารย์ที่มีคาถาอาคม และอิทธิฤทธิ์ที่เข้มขลัง ในการสร้างพระพิมพ์ หรือพระพุทธรูปต่างๆ โดยสร้างไว้เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา และเพิ่มเติมคือให้แจกจ่ายเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจให้ทหารที่จะออกรบ จึงทำให้พิธีกรรมนั้นเน้นอำนาจพุทธคุณในเรื่องแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี สามารถปกป้องภยันตรายจากข้าศึกศัตรู และรบชนะข้าศึกกลับสู่บ้านเมืองได้อย่างปลอดภัย
ในการส่วนของกองทัพนั้น จะมีการเสริมสิริมงคลแก่กองทัพโดยอาราธนา พระพุทธรูปลอยองค์ 1 องค์ มาเสียบไว้ที่ยอดธงประจำทัพ ในแต่ละทัพ โดยผู้นำทัพ คือ พระมหากษัตริย์ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าพระยา แม่ทัพนายกอง สันนิษฐานว่าเนื้อมวลสารของ เนื้อโลหะ พระพุทธรูปประจำธง น่าจะมาจากผู้ที่จะนำทัพ เรียงลำดับกันลงมาจาก เนื้อทองคำ เนื้อนาก เนื้อเงิน เนื้อสำริด และเนื้อชิน จากประวัติการขุดพบเจอ บางองค์จะมีครั่งติดมากับองค์พระด้วย น่าจะเป็นการใช้ยึดติดองค์พระกับยอดธงให้แน่นยิ่งขึ้น
พระยอดธง มีการขุดพบขึ้นมาด้วยกันหลายกรุ หลายภูมิภาค ของประเทศไทย ทั้งภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ แต่ที่ถูกค้นพบมากที่สุดคือ ภาคกลาง ที่กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา และกรุวัดไก่เตี้ย จ.ปทุมธานี ภาคตะวันออกที่กรุวัดพลับ บางกะจะ จ.จันทบุรี และที่ภาคใต้ ประมาณปี พ.ศ.2480 เป็นต้นมา ก็ขุดพบพระยอดธงด้วยกันหลายกรุ ซึ่งเป็นศิลปะเมืองนครศรีธรรมราช เช่น กรุวัดพระธาตุ กรุนาคาม กรุวัดท้าวโคตร และกรุวัดกลาง อ.สิชล เป็นต้น
พระยอดธง ยุคโบราณ พบมีด้วยกันหลายพิมพ์ ทั้งแบบนั่ง และแบบยืน หลายปาง เช่น ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางประทานพร ปางอุ้มบาตร ปางเปิดโลก และยังพบว่าสร้างหลายเนื้อ คือ เนื้อทองคำ เนื้อนาก เนื้อเงิน เนื้อสำริด เนื้อชินตะกั่ว และเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง
พระยอดธง สมัยอยุธยา ที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ กรุวัดไก่เตี้ย จังหวัดปทุมธานี เป็นพระที่สร้างในสมัยอยุธยา แล้วนำไปบรรจุไว้ที่วัดไก่เตี้ย ซึ่งในปี พ.ศ.2485 พระเจดีย์ใหญ่ ที่วัดไก่เตี้ย ได้ชำรุดทรุดโทรมพังทลายลงมา ได้พบพระยอดธงเป็นจำนวนมาก หลายเนื้อ หลังจากเมื่อแตกกรุออกมา ชาวบ้านในแถบนั้นต่างก็เก็บไปบูชามีประสบการณ์สูง เล่าขานสืบต่อกันมา ทำให้เป็นที่ต้องการแก่นักสะสมพระกรุ
พระยอดธงทุกองค์ จะสร้างเป็นแบบลอยองค์ทุกองค์ และไม่มีพุทธลักษณะเฉพาะขององค์พระ เหมือพระพุทธรูปอื่นๆ ซึ่งจะมีแม่พิมพ์ในการหล่อออกมาเป็นแบบเดียวกัน ลักษณะสำคัญที่เหมือนกัน คือ ที่ฐานพระยอดธงจะมีเดือยยื่นออกมา สั้น ยาว ไม่เท่ากันในแต่ละองค์ ซึ่งเดือยนี้สันนิษฐานว่าเพื่อยื่นออกมาใช้เสียบติดกับยอดธงของกองทัพเวลาออกศึก
พระยอดธง ยุคเก่าๆ ส่วนมากพุทธศิลป์เป็นแบบ "สมัยอยุธยา" ยุคต้น นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันอายุการสร้างประมาณ 500-600 กว่าปี เนื้อหามวลสารของพระยอดธง
ถ้าเป็นเนื้อทองคำ ในสมัยก่อนเป็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ เปอร์เซ็นต์ทองสูง ส่องกล้องไปจะเห็นความเก่า แห้ง หดตัว ของเนื้อพระ เหมือนโลหะหมดยาง ส่วนเนื้อนาก เนื้อจะดำ หรือออกแดงมะขามเปียก มีการแห้ง และหดตัวเช่นกัน
เนื้อเงิน สีจะออกดำ ถ้าล้างก็จะขาว แต่จะไม่เหมือนเงินใหม่ เนื้อจะแห้ง หดตัวบ่งบอกถึงความมีอายุ เนื้อโลหะเหล่านี้ ผิวเนื้อพระมักจะมีใยแมงมุมปรากฏให้เห็น
ส่วนเนื้อชิน มักพบได้จากพระยอดธง พระเจ้าตาก กรุวัดพลับ บางกะจะ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้รับความนิยมค่อนข้างสูงมากๆเช่นกัน เนื้อหาพระกรุนี้ค่อนข้างเข้ม ดำ แน่นเหนียว บางองค์ก็แห้งจัด ทำให้เกิดสนิมตีนกา และเกล็ดกระดี่ก็มีครับ
พุทธคุณของพระยอดธงนั้น เป็นที่โจษขันเรื่องคงกระพันชาตรี คุ้มครองผองภัยได้ทั้งกองทัพ แคล้วคลาดจากศัตรู ได้รับชัยชนะกลับบ้านอย่างปลอดภัย อำนาจ วาสนา บารมี เลื่อนยศ ขึ้นตำแหน่ง เป็นผู้นำเหนือคน
เรื่อง : นุ เพชรรัตน์