พระเครื่อง

ขบคิด มุมมอง "วัตถุมงคล" ในความเห็น "ท่านพ่อลี" พระวิปัสสนาจารย์รูปสำคัญ

ขบคิด มุมมอง "วัตถุมงคล" ในความเห็น "ท่านพ่อลี" พระวิปัสสนาจารย์รูปสำคัญ

08 ก.ค. 2565

อ่านประวัติ "ท่านพ่อลี" แห่ง "วัดอโศการาม" พระวิปัสสนาจารย์รูปสำคัญ แห่งสายพระป่า ศิษย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กับ มุมมอง เรื่องของ วัตถุมงคล

วัตถุมงคล เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันบ่อยครั้งว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง หรือ มีความสำคัญกับการศึกษา หรือ การปฏิบัติธรรม ตามแนวทางของพุทธศาสนาหรือไม่ เนื่องด้วยมีการติดความว่า เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือ พระธรรม ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเอาไว้ เพราะมีพระพุทธวจนะว่า หากเมื่อ พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วนั้น ให้นับถือ พระธรรม เป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า รวมทั้งยังทรงห้ามภิกษุแสดงอภินิหาร อีกทั้งยังมีพุทธบัญญัติ เกี่ยวกับการทำสิ่งต่าง ๆ ที่แสดงถึงความเป็นการอวดอุตตริ ถือว่าเป็นสิ่งที่ทรงห้าม 

แล้วความถูกต้องอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ 
 

พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ หรือ ท่านพ่อลี จากกลุ่มเฟซบุ๊ก ศิษย์ท่านพ่อลี

ครั้งหนึ่ง เคยมีพระผู้ใหญ่เรียนถาม พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ หรือ ท่านพ่อลี นามเดิม ชาลี นารีวงศ์ ฉายา ธมมฺธโร เป็นพระวิปัสสนาจารย์สายพระป่าในประเทศไทยศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และอดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม ว่า ท่านพ่อลี ก็เป็นพระผู้ใหญ่สายกรรมฐาน ทำไมท่านพ่อจึงพาญาติโยมประชาชน สร้างแต่พระ สร้างแต่เจดีย์ ท่านจึงตอบได้น่าฟังว่า เกล้ากระผมทำนา ไม่ได้เอาแต่


“ข้าว” (มรรคผล)
“เฟือง” เราก็เอา (บุญกุศล)
“แกล่บ” เราก็เอา (นิสัยเนกขัมมบารมี)

 

ผมจึงได้เข้าใจ เพราะญาติโยมทั้งหลายรวมทั้งตัวผมด้วยนั้น “บารมียังไม่พอ” ยังต้องเกิดตายอีกหลายภพหลาย ชาติ จึงยังต้อง “อาศัยบุญกุศล” ท่านพ่อลีรู้ว่า ท่านสอน “ภาวนา” จะได้ผลกับคนเพียงบางส่วนเท่านั้น ท่านจึงพาญาติโยม “สร้างพระ” เพื่อพวกนี้จะได้ “ไม่ตกนรก” 

พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ หรือ ท่านพ่อลี ภาพจาก วิกิพีเดีย
สำหรับประวัติของท่านพ่อลี เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2450 ที่ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายปาว นางพ่วย นารีวงศ์ ได้ช่วยบิดาทำงานจนอายุครบอุปสมบทจึงได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 เมื่อบวชได้ 2 พรรษา ท่านได้ฟังเทศน์จากศิษย์รูปหนึ่งของพระอาจารย์มั่น จึงเกิดเลื่อมใสออกติดตามหาพระอาจารย์มั่นจนพบท่านที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี ท่านสอนให้ภาวนาว่า "พุทฺโธ ๆ" และได้ติดตาม พระอาจารย์มั่น ออกจากจาริกไปตามที่ต่าง ๆ แล้วญัตติในธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ณ มีพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร จังหวัดพระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เพ็ง วัดใต้ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นกรรมวาจาจารย์ หลังอุปสมบทแล้ว ท่านพ่อลี คงถือธุดงค์ข้อฉันมื้อเดียวและอยู่โคนไม้เป็นวัตรอย่างเคร่งครัด

ท่านพ่อลี จาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงเขมร พม่า และอินเดีย จนมาสร้างสำนักสงฆ์แม่ชีขาว จ.สมุทรปราการ ต่อมาตั้งชื่อว่า “วัดอโศการาม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระเจ้าอโศกมหาราช และได้ก่อสร้างเสนาสนะจนวัดรุ่งเรืองเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเรื่อยมาจนทุกวันนี้

ท่านพ่อลีเริ่มอาพาธหนักตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2502 กระทั่งวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2504 ท่านจึงถึงแก่มรณภาพรวมอายุ 54 ปี 334 วัน พรรษา 33