"พระหลวงพ่อโต" กรุวัดบางกระทิง วัตถุมงคล ของ สายบู๊
รู้จัก พระกรุยอดนิยมของ สายบู๊ "พระหลวงพ่อโต" กรุวัดบางกระทิง อายุกว่า 400 ปี สร้างสมัยอยุธยา พุทธคุณเด่น มหาอุตม์ หนังเหนียว
ในสมัยก่อน ผู้ที่มีความสนใจในพระเครื่อง เครื่องราง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า จะมีผู้ที่เป็นนักเลงรุ่นเก๋า ที่ให้ความเคารพศรัทธาในวัตถุมงคล ซึ่งเรียกกันแบบคุ้นปากว่า สายบู๊ เพราะจะใช้วัตถุมงคลเพื่อความหนังเหนียว คงกระพัน หนึ่งในพระเครื่องที่นักเลงโบราณให้ความนิยมนั่นก็คือ "พระหลวงพ่อโต" กรุวัดบางกระทิง โดยวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ถนนทักษิณเสนา ตำบล เสนา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดนี้เป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สร้างในปลายรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช การสร้างขึ้นในครั้งนั้น ว่ากันว่า พระยาสีหราชเดโชชัย (ทิป) เป็นผู้นำการสร้างขึ้น ขุนนางคนนี้ เป็นขุนนางสำคัญ ที่มีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่า เคยถูกพม่าจับตัว ในศึกตีอังวะ แต่ใช้วิชาไสยเวท หายตัวหนีออกมาได้ แต่ยังไม่สำเร็จเรียบร้อยทั้งหมด ครั้งต้นแผ่นดินพระเทพราชา พระญาติราชวงศ์บ้านพลูหลวงได้มาสร้างเพิ่มเติมจน สำเร็จเรียบร้อย และตั้งชื่อว่าวัดใหม่บางกะทิง เดิมทีเดียวนั้นวัดไม่ได้อยู่ตรงปัจจุบันนี้ สถานที่ตั้งอยู่เดิมคงอยู่ตอนเหนือวัดไปราว 1 เส้น หรือ 40 เมตร เนื้อที่ที่สร้างวัดนี้ เป็นเนื้อติดกับเขตบริเวณบ้านพักของพระยาสีหราชเดโชชัย (ทิป) ปัจจุบัน มีต้นสตือเก่าแก่อยู่ 2 ต้น
"พระหลวงพ่อโต" กรุวัดบางกระทิง เป็นพระที่มีจำนวนสร้างมาก คาดว่าน่าจะเท่ากับ พระธรรมขันธ์ คือ 84,000 องค์ หรือมากกว่านั้น ทำให้พบเห็นโดยทั่วไป ในส่วนพระเนื้อดิน นับเป็นเนื้อดินที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองอยุธยาโดยเฉพาะ สำหรับพุทธศิลป์ เป็นฝีมือของช่างสมัยอยุธยา อายุกว่า 400 ปี
สำหรับการแตกกรุของ "พระหลวงพ่อโต" นั้น ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ที่ทางวัดเปิดกรุอย่างเป็นการ คือในปี 2481ขณะรื้อโบสถ์เก่าเพื่อสร้างใหม่ จึงได้พบ "พระหลวงพ่อโต" บรรจุอยู่ใต้ฐานพระประธาน ทางวัดจึงได้นำพระส่วนหนึ่งออกมาแจกสมนาคุณแก่ชาวบ้าน ที่ร่วมทำบุญสร้างโบสถ์หลังใหม่ ส่วนพระที่เหลือได้นำบรรจุที่ฐานพระประธานในโบสถ์หลังใหม่
ในการพบกรุ "พระหลวงพ่อโต" ครั้งนั้นได้พบ แม่พิมพ์ ของ "พระหลวงพ่อโต" ด้วย ต่อมาได้มีคนร้ายแอบขุด "พระหลวงพ่อโต" ที่ใต้ฐานพระประธานได้ไปจำนวนหนึ่ง พร้อมกับเอาแม่พิมพ์เก่าไปด้วย ทางวัดจึงได้เปิดกรุพระอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายแอบลักขุดขโมยพระได้อีก การขุดกรุครั้งนี้ ได้พบ "พระหลวงพ่อโต" อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่ขุดได้ในครั้งก่อน ทางวัดได้ให้กรมศิลปากร ตรวจสอบ ปรากฏว่า พระหลวงพ่อโต ในส่วนนี้เป็นการสร้างขึ้นภายหลัง ในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเนื้อหามวลสารแตกต่างกัน และอายุความเก่าไม่ถึงสมัยอยุธยา ไม่เหมือนกับ "พระหลวงพ่อโต" ที่ขุดพบก่อนหน้านี้
สำหรับ พุทธลักษณะ ของ "พระหลวงพ่อโต" มีสัณฐานเป็นรูปสามเหลี่ยม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีทั้งปางสมาธิ และ ปางมารวิชัย องค์พระคมชัดนูนเด่น พระพักตร์ใหญ่ และมักปรากฏรายละเอียดต่างๆ บนพระพักตร์อย่างครบถ้วน รวมทั้งเส้นสังฆาฏิ ด้านหลังองค์พระ ส่วนใหญ่มีรอยปาด ที่เรียกกันว่า รอยกาบหมาก
"พระหลวงพ่อโต"กรุวัดบางกระทิง เป็นพระที่ชายชาตรีสมัยก่อน หรือนักเลงโบราณ นิยมกันแขวนโชว์นอกเสื้อ ด้วยความเชื่อมั่นในพุทธคุณ ที่เลื่องลือกันมานานแล้วว่า เป็นพระคงกระพันชาตรี มหาอุด มีความเชื่อว่า ปืนผาหน้าไม้ทำอะไรขณะเดียวกัน คนสมัยใหม่ต่างยืนยันว่า ทางด้านเมตตามหานิยมก็เป็นเลิศ