รู้จักประเพณีท้องถิ่นล้านนา "ฟังเทศนาปลาช่อน" พิธีกรรมความเชื่อโบราณ
รู้จักประเพณีโบราณแห่งล้านนา "ฟังเทศนาปลาช่อน" พิธีกรรมตามความเชื่อ จากคัมภีร์ชาดก สู่เรื่องราวแฝงการอนุรักษ์ธรรมชาติ
การฟังเทศน์ฟังธรรม เป็นกิจกรรมทางศาสนา อย่างหนึ่ง ที่พุทธศาสนิกชน ต่างเคยรับฟัง และในข้อธรรมะที่นำมาเทศนาโปรดญาติโยม ส่วนหนึ่งจะมีเรื่องรราวขของ พระชาติในอดีตของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งที่เรา ๆท่าน ๆ คุ้นเคย เช่น พระชาติที่ทรงเป็นช้าง เป็นพญาลิง เป็นต้น และความเชื่อในพระชาติต่าง ๆ ของพระโพธิสัตว์ก็จะเสวยพระชาติ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ยังมีการสืบทอดเป็นประเพณีท้องถิ่นในภาคเหนือ นั่นคือ การฟังเทศนาปลาช่อน
การฟังเทศนาปลาช่อนนี้ เป็นประเพณีหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นของล้านนา ซึ่งมีการสืบทอดต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มหาดูได้ยากเต็มที มีการเผยแพร่ล่าสุด โดยการจัดพิธีดังกล่าว ของชาวบ้านแม่ตาดและชาวตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดขึ้นทุกปี ในวันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 ตามเดือนทางภาคเหนือ เพื่อ "ขอฝน" บูชาผีขุนน้ำหรือบูชาสายน้ำ ที่ได้ประทานความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์มาให้กับชุมชนตลอดทั้งปี เป็นการสืบชะตาให้กับสายน้ำ แสดงความกตัญญูต่อสายน้ำที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตให้กับชาวชุมชน ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านได้ช่วยกันสืบสานต่อๆ กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เพื่อช่วยกันอนุรักษ์สายน้ำต่างๆ ให้มีความสะอาดบริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป
ทั้งนี้ พิธีกรรม "ขอฝน" นั้น มีอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย เพียงแต่อาจจะเรียกชื่อต่างกันและมีรูปแบบพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น พิธีแห่นางแมว พิธีสวดขอฝน และประเพณีแห่บั้งไฟ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับการขอฝนหรือบูชาดินฟ้าอากาศทั้งสิ้น
ในพิธีกรรมขอฝนตามความเชื่อของชาวล้านนา สิ่งที่นิยมปฏิบัติคือ สวดพระปริตร คาถาขอฝนและคาถามหาเมฆ ตามด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง "พญาปลาช่อน" หรือชื่อเต็มคือ "มัจฉาพญาปลาช่อน" ซึ่งเป็นหัวใจของงาน พระธรรมเทศนาดังกล่าวเป็นคัมภีร์ประเภทชาดก
เนื้อเรื่องผูกขึ้นโดยมีพญาปลาช่อนเป็นตัวละครเอกบำเพ็ญธรรมจนสามารถช่วยเหลือบริวารให้รอดพ้นจากภัยแล้งได้สำเร็จ ซึ่งเนื้อหาของชากเรื่องนี้ มีเนื้อเรื่องย่อ กล่าวถึงเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ในพระชาติที่ทรงเสวยชาติเป็นราชาปลาช่อน ได้ปกครองบริวารปลาทั้งหลายในสระแห่งหนึ่ง ครั้งหนึ่งได้เกิดภาวะแห้งแล้งไปทั่ว น้ำในแหล่งน้ำแห้งขอด เหล่ามัจฉาและสัตว์น้ำน้อยใหญ่ถูกบรรดานกต่างๆ จิกกินเป็นอาหาร
ปลาและสัตว์น้ำต่างได้รับความเดือดร้อน ราชาปลาช่อนเห็นดังนั้นก็ตั้งจิตอธิษฐาน พร้อมมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ประกาศคาถาว่า แม้ตนจะเกิดมาเป็นสัตว์ที่บริโภคสัตว์ด้วยกันก็จริงอยู่ แต่ตนก็มิเคยเบียดเบียนสัตว์ใด ด้วยสัจจะดังกล่าวขอให้ฝนตกลงมา เพื่อสงเคราะห์สัตว์ที่กำลังเดือดร้อนด้วยเถิดด้วยอานุภาพแห่งสัจจาอธิษฐาน ทำให้พระอินทร์ทราบเหตุ จึงบัญชาให้วลาหกเทพบุตรบันดาลให้ฝนตกเนืองนองทั่วท้องปฐพี ทำให้น้ำในสระเต็ม เหล่ามัจฉาน้อยใหญ่และสัตว์น้ำต่างๆ พากันรอดตาย
จากเนื้อหาของเรื่อง จึงนิยมนำคัมภีร์นี้มาอ่านแสดงเป็นพระธรรมเทศนาประกอบพิธี ซึ่งพิธีจะประกอบขึ้นตามแหล่งน้ำ เช่น บริเวณต้นน้ำ ลำห้วย หนองน้ำ ลำธารใหญ่ หรือแม่น้ำ โดยชาวบ้านจะพากันนำไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า "ไม้น้ำนอง" มาทำเป็นรูปสัตว์น้ำ อาทิ ปลา เต่า กุ้ง ปู หอย เป็นต้น สำหรับใช้ในการประกอบพิธี
เมื่อถึงวันงาน ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์เทศนาคัมภีร์พญาปลาช่อน เมื่อเทศนาเสร็จแล้วพระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์แล้วปล่อยปลาช่อน และสัตว์น้ำที่ทำจากไม้ลงไปในน้ำ ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีอนึ่ง ในการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีนั้น บางหมู่บ้านอาจจะนิมนต์มาเพียงรูปเดียว
ในขณะที่บางหมู่บ้านอาจจะนิมนต์มาทำพิธีหลายรูป ขึ้นอยู่กับความสะดวกของหมู่บ้านหรือชุมชนนั้นๆ ทั้งนี้ คุณค่าของประเพณีฟังธรรมปลาช่อน ก็คือ ชาวบ้านได้ร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่นเอาไว้ สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน ได้บูชาเทวดาฟ้าดิน และอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนเอาไว้
ที่มาข้อมูลและภาพบรรยากาศพิธี เฟซบุ๊ก อักขณิช ศรีดารัตน์