ไขความลับ ไสยศาสตร์ จากหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์
เจาะลึก ปริศนา ไขความลับ ที่มาของ ไสยศาสตร์ วิชาลึกลับ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ จับประเด็นที่มาที่ไป และจุดเริ่มต้นของศาสตร์อันเร้นลับ
ภาพจำเกี่ยวกับเรื่องราวของ ไสยศาสตร์ เวทมนต์ ในบ้านเรา มีทั้งมาจากการเล่าขาน ตำนาน ปากต่อปาก ภาพลักษณ์ที่ถูกเสกสร้าง จาก นิยาย ภาพยนตร์ ละคร ที่เมื่อเอ่ยถึงคำนี้ จะเป็นเรื่องของ หมอผี มนต์ดำ ชายห้อยประคำ เครื่องราง เต็มคอ เต็มตัว และยังรวมไปถึงองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ต้องมีหัวกะโหลก และเป็นคู่ต่อสู้กับ ไสยขาว
เหล่านี้คือ ภาพจำที่ชัดเจน และเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
แต่หากในอีกแง่มุม เมื่อท่องไปในมุมของความรู้ กลับได้ข้อมูล ที่เป็นเสมือนเหรียญคนละด้าน
แล้วความจริงคืออะไร?
เราคุ้นเคยกับการที่ จะเรียกขานคำว่า ไสยศาสตร์ นั้น เป็น ศาสตร์ของการหลับใหล ซึ่งเป็นคำจำกัดความเฉพาะให้เรื่องเวทมนต์คาถา และนำมาเปรียบเทียบกับ ศาสนาพุทธ ว่า เป็น ศาสตร์แห่งการตื่นรู้
จากการค้นคว้าหลักฐานนั้น กลับพบ ความเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ ที่เป็นรูปลักษณะจับต้องได้ คือ ตำราภาพ “พระสมุทรูปพระไสยสาสตร์” ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นครั้งรัชกาลที่ 4 สมุดภาพเล่มนี้เคยได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือเรื่อง “ตำราภาพเทวรูปและเทวดานพเคราะห์” เมื่อปี พ.ศ. 2535
รูปที่เขียนในตำราภาพเล่มนี้เป็นรูปของ พระศิวะ ปางต่างๆ พระคเณศ ปางต่างๆ และอวตารของ พระวิษณุ และ เทวดานพเคราะห์ สรุปรูปทั้งหมดที่เขียนใน“พระสมุทรูปพระไสยสาสตร์” ก็ล้วนแต่เป็นรูปเทพเจ้าใน ศาสนาพราหมณ์
ทำไม ไสยศาสตร์ จึงไปเกี่ยวข้อง เกี่ยวร้อยกับ ศาสนาพราหมณ์ ได้?
มาดูกันต่อที่ คำศัพท์ ในความเป็นจริงแล้ว คำว่า ไสยศาสตร์ เป็นศัพท์จากภาษาสันสกฤต เป็นสมาสคำ ไสย จริงๆแล้ว คือคำว่า ไศวะ เป็นการกร่อนเสียงคำ จากคำว่า ศิวะ
ดังนั้น การแปล คำว่า ไสยศาสตร์ ที่ถูกต้อง ต้องแปลว่า ศาสตร์ที่เนื่องด้วยจากพระศิวะ หรือ ศาสตร์ที่มาจากพระศิวะ
ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ได้ให้ข้มูลเกี่ยวกับ ไสยศาสตร์ อย่างน่าสนใจว่า ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ไสย” คือ ลัทธิอันเนื่องด้วยเวทมนตร์ คาถาซึ่งได้จากศาสนาพราหมณ์ และ คำว่า “ไสยเวท , ไสยศาสตร์” คือ ตำราทางไสย วิชาทางไสย แต่นี่คือความหมายที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการในสมัยปัจจุบัน หากแต่ความหมายของคำว่า “ไสยศาสตร์” เมื่อครั้งอดีตกลับมีความยิ่งใหญ่และดูจะตรงข้ามกับปัจจุบัน
หลักฐานคำว่า ไสยศาสตร์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกอยู่บนจารึกฐาน พระศิวะ พบที่เมืองกำแพงเพชร ระบุมหาศักราช 1432 (พ.ศ. 2053) ตรงกับรัชกาล สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่ง กรุงศรีอยุธยา จารึกว่า “พุทสาษนและไสยสาษนา” อ่านว่า “พุทธศาสนา และ ไสยศาสนา”
และหลักฐานในอดีต และร่วมสมัย ยังบ่งชี้จำนวนไม่น้อยว่า ไสยศาสตร์ คือ หมายถึงศาสตร์พราหมณ์ นั่นเอง ขณะเดียวกัน ในเรื่องของ สายดำ กับ สายขาว เป็นอีกหนึ่งคำเรียกขาน เกี่ยวกับวิชาอาคม ที่แบ่งเป็นสองฝ่าย แต่ในข้อมูลข้อเท็จจริง เรื่องเกี่ยวกับการแบ่ง 2 ข้างนั้น ไม่มีจริง เพราะ วิชาอาคม หรือ พิธีกรรม นั้น ต่างก็มาจากรากเดียวกัน และเป็นการเรียกในภายหลัง ซึ่งมีการตีความว่า ความรู้หรือธรรมะ ของพระพุทธเจ้า นั้น ประเสริฐที่สุด ส่วน ความรู้อื่นนอกเหนือจากนี้ มีทั้งคุณและโทษ วิชาอาคม นั้นๆ มาจากตำราอาถรรพเวท การจะใช้นั้น อยู่ที่เจตนาของผู้ใช้ ถ้าจิตมีซึ่งกุศล ก็คือทางบุญ หรือ ขาว ส่วนถ้าจิตใจของคนผู้นั้น มีแต่อกุศล ก็ย่อมเป็น ดำ นั่นเอง.
อัพเดทประเด็นที่เป็นกระแส กับ คมชัดลึก เพิ่มเติม ที่นี่
Twitter - https://twitter.com/Kom_chad_luek
Instagram - https://www.instagram.com/komchadluek_online/
คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565 ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ในครั้งนี้
รู้พร้อมกันที่ คมชัดลึก ทุก Platform https://awards.komchadluek.net/#