พระเครื่อง

รู้จัก หลวงปู่ธูป แห่ง วัดแคนางเลิ้ง กรุงเทพฯ เกจิอาจารย์ ผู้ทรงพุทธาคม

รู้จัก หลวงปู่ธูป แห่ง วัดแคนางเลิ้ง กรุงเทพฯ เกจิอาจารย์ ผู้ทรงพุทธาคม

10 ก.ย. 2565

ทำความรู้จัก พระดีในอดีต เกจิอาจารย์ในเมืองกรุง หลวงปู่ธูป วัดแคนางเลิ้ง หรือ วัดสุนทรธรรมทาน อาจารย์ของพระเอก มิตร ชัยบัญชา เด่นด้าน คงกระพัน เมตตามหานิยม


หากพูดถึง เกจิอาจารย์ ที่ทรงวิทยาคุณ หลายคนมักจะนึกถึง ครูบาอาจารย์ ที่ท่านอยู่ในต่างจังหวัด เป็นหลัก ในเมืองกรุง นั้น มีจำนวนไม่มากนัก และหนึ่งในจำนวนที่ไม่มาก นอกจาก หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ยังมี เกจิอาจารย์ อีกหนึ่งรูป ที่ท่านนั้น อยู่ในโซนฝั่งพระนคร จะบอกว่าใจกลางเมืองในยุคหนึ่งก็ไม่ผิดนัก 
นั่นคือ “หลวงปู่ธูป” หรือ “พระราชธรรมวิจารณ์”  แห่ง วัดแคนางเลิ้ง 

ย่าน วัดแคนางเลิ้ง นั้น เป็นหนึ่งในย่านที่ผู้คนในยุคหนึ่ง รู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะมีบ้านพักของ พระเอกที่ดังที่สุดของยุค อย่าง มิตร ชัยบัญชา อยู่ในละแวกนั้น และตัว มิตร เอง ก็เป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่ธูป จากข้อมูลที่มีระบุไว้เกี่ยวกับ หลวงปู่ธูป ท่านเป็นพระยุคเก่าที่สมถะ มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายให้การอนุเคราะห์สาธุชนโดยเลือกชั้นวรรณะ เปี่ยมล้นด้วยความเมตตา ให้การต้อนรับขับสู้แขกผู้มาเยือนอย่างมีไมตรีจิต เป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิต และคฤหัสถ์โดยทั่วไป

หลวงปู่ธูป

สำหรับ ประวัติ ของ หลวงปู่ธูป ท่านเกิดในสกุล “วิชาเดช” เกิดวันจันทร์ที่ 11 เม.ย. 2441 ณ บ้าน ต.บางหลวงเอียง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ “เดช” มารดาชื่อ “ผ่อง” มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ท่านเป็นคนสุดท้อง อายุได้ 8 ปี ญาติผู้ใหญ่นำไปฝากให้เรียนอักษรสมัยที่วัดตะกู โดยมีพระอาจารย์เอม เจ้าอาวาสขณะนั้น เป็นครูสอนเรียนหนังสือไทยเบื้องต้น มีประถม ก.กา มูลบทบรรพกิจ หนังสือพระมาลัยและขอม เป็นพื้นฐานเบื้องต้น จากนั้นได้ย้ายมาศึกษาวิชามูลกัจจายน์ และเรียนหนังสือบาลีที่วัดศาลาปูน จ.พระนครศรีอยุธยา


เมือ่เรียนหนังสือจน มีความเชี่ยวชาญ และ แตกฉาน เป็นอย่างดีแล้วนั้น พี่ชายของ หลวงปู่ธูป จึงได้พาท่าน เข้าสู่พระนคร หรือ กรุงเทพ ฯ มาอาศัยกับพล.ต.อ.เจ้าพระยาราชศุภนิมิตร และท่านผู้หญิงแปลก ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่  และให้เข้าเรียนหนังสือต่อที่ ร.ร.วัดส้มเกลี้ยง (วัดราชผาติการาม) จนจบชั้นประถม 4 ในขณะที่เล่าเรียนได้มีโอกาสติดตาม พล.ต.อ.เจ้าพระยาราชศุภนิมิตรเข้าเฝ้า และติดตามเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีต่างๆ และการเสด็จแปรพระราชฐานในต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง

หลวงปู่ธูป
เมื่ออายุครบเกณฑ์ทหารได้สมัครเข้ารับราชการเป็นทหารรักษาวังอยู่ 2 ปี หลังปลดประจำการ ท่านเจ้าพระยาและท่านผู้หญิง ได้อุปถัมภ์ให้ หลวงปู่ธูป เข้ารับการอุปสมบท ณ วัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง) เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2463 สมเด็จพระวันรัต (จ่าย) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอริยมุนี (หว่าง) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูพุทธบาล (เนตร) เจ้าอาวาสวัดสุนทรธรรมทาน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “เขมสิริ”


ได้อยู่จำพรรษาที่ วัดแคนางเลิ้ง ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระครูพุทธบาลมาโดยลำดับ และยังได้ศึกษานักธรรมชั้นตรีในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร เมื่อถึงกำหนดสอบธรรมสนามหลวง เกิดอาพาธกะทันหัน จึงล้มเลิกการศึกษาทางด้านคันถธุระตั้งแต่นับนั้น และหันมาเอาดีทางสมถกรรมฐานและพุทธาคมคาถา


ประมาณพรรษาที่ 3 ได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชากรรมฐานชั้นสูงกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จนบรรลุฌานชั้นสูง สามารถแสดงอิทธิคุณต่างๆ ได้ ยิ่งกว่านั้น ยังได้ศึกษาเวทมนต์คาถา ซึ่งเป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่พระเถระยุคเก่าต้องใฝ่หาเรียนรู้ไว้เพื่อประโยชน์ในงานพระศาสนาต่างๆ อาทิ การปลุกเสกวัตถุมงคลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยพระผู้ทรงวิทยาคุณเป็นผู้ภาวนาปลุกเสก โดยได้รับการประสิทธิ์ประสาทจากหลวงพ่อปานมาเต็มเปี่ยม จากนั้นจึงไปเรียนวิชากับหลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ ได้วิชาทำเชือกคาดเอวที่มีประสบการณ์ไม่ไหม้ไฟ รวมทั้ง ท่านยังมีวิชาในด้านอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งในช่วงสงครามอินโดจีน วัดแคนางเลิ้งได้รับความนิยมอย่างมาก 


หลวงปู่ธูป ใช้เวลาศึกษาอยู่กับหลวงพ่อปานประมาณหนึ่งพรรษา จึงกลับสู่ วัดแคนางเลิ้ง และได้รับการแต่งตั้งเป็น รักษาการเจ้าอาวาส สืบแทนพระครูพุทธบาล ที่ขอลาสิกขาบทในปี พ.ศ. 2470 และผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งจนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2471 ขณะมีอายุได้ 30 ปี พรรษา 8 นับเป็นพระหนุ่มที่มีพรรษาน้อยสุดที่ได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดในเขต  จ.พระนครสมัยนั้น

วัตถุมงคล ของหลวงปู่ธูป
หลังจากรับตำแหน่ง หลวงปู่ธูป เริ่มปฏิสังขรณ์และพัฒนาก่อสร้างอาคาร เสนาสนะต่างๆ เรื่อยมา โดยเริ่มลงมือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472-2500 ซึ่งเป็นปีที่ก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ ด้านวัตถุมงคล ตลอดเวลาที่ท่านครองเพศพรหมจรรย์ ได้สร้างวัตถุมงคลในรูปแบบต่างๆมากมายหลายรุ่น จากการบันทึกของหนังสือวัดทราบว่าสร้างครั้งแรกในปีพ.ศ.2482

วัตถุมงคล ของ หลวงปู่ธูป

และจัดสร้างติดต่อกันมาจนถึงพ.ศ.2529 วัตถุมงคลที่ท่านสร้างเมื่อปีพ.ศ.2482 ได้สร้างร่วมกับหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง เป็นพระสมเด็จฐานสามชั้น พระรอด พระนางพญา และพิมพ์นางกวัก พระที่สร้างครั้งนี้เป็นพระเนื้อผง ผสมกับดินปูชนียสถาน และผงใบลาน ลงรักฉาบเนื้อ เนื้อในสีดอกเทา ด้านหลังจะเป็นรอยจารลึกลงไปในเนื้อทุกองค์

หลวงปู่ธูป มรณภาพ ในวันอาทิตย์ที่ 29 ก.ค. 2533 เวลา 02.26 น. ที่โรงพยาบาลพญาไท รวมสิริอายุ 92 ปี 3 เดือน 28 วัน พรรษา 70

 

 

อัพเดทประเด็นที่เป็นกระแส กับ คมชัดลึก เพิ่มเติม ที่นี่
Twitter - https://twitter.com/Kom_chad_luek
Instagram - https://www.instagram.com/komchadluek_online/

คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565 ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote
รู้พร้อมกันที่ คมชัดลึก ทุก Platform https://awards.komchadluek.net/#