พระเครื่อง

ชั่วโมงเซียน-พระเครื่องเมือง..."สระบุรี"

ชั่วโมงเซียน-พระเครื่องเมือง..."สระบุรี"

22 มี.ค. 2553

"สระบุรี" เป็นจังหวัดสำคัญในด้านโบราณสถานทางพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ และประเพณี โดยมีวัดอันเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ คือ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาท ศูนย์รวมแห่งพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่

 ด้วยเหตุที่ จ.สระบุรี เป็นหัวเมืองสำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีการขุดพบพระกรุในจังหวัดอยู่ไม่น้อย และที่สำคัญ พระในแต่ละกรุล้วนมีศิลปะเชิงช่างที่คลาสสิก งดงามตามสมัย รวมทั้งสูงด้วยพุทธคุณ และมากด้วยประสบการณ์ พระกรุสำคัญๆ ของสระบุรี มีดังนี้

 กรุวัดดาวเสด็จ เป็นกรุพระใหญ่ที่สุดของ จ.สระบุรี พบทั้งเนื้อดินและเนื้อชินบรรจุอยู่ในกรุ ทั้งนี้ กรุวัดดาวเสด็จตั้งอยู่บริเวณตัวเมือง จ.สระบุรี (ริมแม่น้ำป่าสัก) ใกล้ๆ กับ ร.ร.อนุบาลสระบุรี มีตำนานเล่าถึงพระกรุนี้ไว้ว่า

 แต่ก่อนนั้น บริเวณวัดมีเจดีย์ใหญ่ ก่อสร้างจากศิลาแลง เมื่อถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนา ผู้คนที่อยู่ย่านนั้นจะเห็นแสงไฟสว่างเป็นดวงๆ  สว่างพุ่งลงมาจากฟ้า ลงสู่เจดีย์ ซึ่งเป็นที่กล่าวขานถึงความอัศจรรย์นี้กันทั่ว จึงเป็นที่มาของชื่อวัดที่ว่า “วัดดาวเสด็จ”

 อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ได้มีการขุดพระเครื่องได้จากเจดีย์องค์ดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีใครพบความมหัศจรรย์แห่งแสงนั้นอีกเลย

 พระกรุวัดดาวเสด็จนี้ ที่เป็นพระเนื้อดิน และนิยมมาก คือ พระนางพญา วัดดาวเสด็จ เป็นพระเครื่องที่มีรูปทรงสามเหลี่ยม เช่นเดียวกับพระนางพญาจังหวัดอื่นๆ มีขนาดประมาณ ๒.๕ ซม.

 พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งทรงมารวิชัย ลอยเด่นอยู่กึ่งกลางพระทรงสามเหลี่ยม แสดงถึงศิลปะช่างอยุธยายุคต้น อย่างโดดเด่น และงดงาม มีพุทธคุณสูงทั้งด้านค้าขายและคงกระพัน เป็นที่กล่าวขวัญและหวงแหนของคนสระบุรีเป็นอย่างยิ่ง

 ขณะเดียวกัน ยังพบพระเนื้อดินพิมพ์อื่นๆ ปนอยู่ด้วย เช่น พระนารายณ์ทรงปืน พระแผงนาคปรก ส่วนพระเนื้อชินที่พบนั้น มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้กรุอื่นๆ เลย

 พระที่พบส่วนใหญ่ เป็นพระปางปรกโพธิ์ มีหลายขนาด ที่สำคัญคือ  ลักษณะขององค์พระไม่ว่าจะเป็นแบบใด จะมีพุทธลักษณะทรวดทรงเป็นมารวิชัย แบบทรงเครื่องเดียวกันทั้งหมด

 นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการฝากไว้ในกรุและวัดอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย เช่น วัดชุ้ง และวัดเพชร ซึ่งมีพุทธลักษณะแตกต่างออกไปเล็กน้อย

 กรุวัดต้นตาล พระที่พบในกรุนี้ เป็นพระเครื่องเนื้อชิน ที่มีพิมพ์ทรงใกล้เคียงกับพระกรุยอดขุนพลของ จ.กาญจนบุรี นั่นคือ “พระท่ากระดาน” แต่มีขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย

 พระกรุวัดต้นตาล เป็นพระที่แตกกรุมาประมาณ พ.ศ.๒๕๐๔ แต่ด้วยอายุการสร้างสมัยอยุธยา พระที่พบจะเป็นเนื้อตะกั่วสนิมไขขาว ไม่ปรากฏสนิมแดงจัด เหมือนกับพระท่ากระดาน จ.กาญจนบุรี

 พระกรุของ จ.สระบุรี นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายกรุ เช่น กรุวัดเพชร กรุวัดมะกรูด กรุวัดสมุหะ กรุวัดบ้านกล้วย กรุวัดม่วงงาม กรุวัดขอนชะโงก และกรุวัดหนองแซงใหญ่ เป็นต้น

 ส่วนพระเกจิอาจารย์ของ จ.สระบุรีนั้น ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น พระครูประสุตสังฆกิจ หรือหลวงยอด อินทโชติ แห่งวัดหนอปลาหมอ ต.หนองปลาหมอ อ.หนองแค จ.สระบุรี

 ตามประวัติ ท่านเกิดประมาณ พ.ศ.๒๓๙๙ มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ วัตถุมงคลที่นิยมสร้างระหว่างท่านมีชีวิตอยู่ คือ ตะกรุด ส่วนวัตถุมงคลอันเป็นที่นิยมสูงสุด คือ รูปเหมือน ซึ่งสร้างหลังจากท่านมรณภาพแล้ว โดยได้มีการนำอัฐิของท่านบรรจุไว้ในองค์พระด้วย ประมาณการว่า น่าจะสร้างไม่เกิน ๕๐๐ องค์

 ส่วนพุทธคุณเป็นที่ร่ำลือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่ามีพุทธคุณโด่ดเด่น ด้านคงกระพันชาตรี ชนิดที่เรียกว่า “แมลงวันไม่ได้กินเลือดเลยทีเดียว”

 นอกจากนี้แล้วยังมีพระเกจิอาจารย์อีกรูป คือ หลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง หลวงพ่อผัน วัดราษฎร์เจริญ หลวงพ่อเฮ็น วัดดอนทอง เป็นต้น

 แต่พระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่โด่งดังไม่แพ้กัน คือ หลวงพ่อลา อดีตเจ้าอาวาสวัดแก่งคอย ระหว่าง พ.ศ.๒๔๗๐-๒๔๙๘ ปรากฏเกียรติคุณของท่านโด่งดัง ทั้งด้านพัฒนาและรักษาโรค โดยเฉพาะน้ำมนต์ของท่าน โด่งดังมาก ถึงขนาดมีบุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา และนายควง อภัยวงศ์ เป็นต้น วัตถุมงคลของท่าน อันเป็นที่นิยมของวงการพระเครื่อง คือ เหรียญรูปไข่ สร้าง พ.ศ.๒๔๗๙

   พระพุทธรูปสี่มุมเมือง

 “พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “พระสี่มุมเมือง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและปกป้องคุ้มภัยให้ประชาชนทุกทิศ ตามความเชื่อแต่โบราณ โดยได้นำต้นแบบมาจาก "พระพุทธนิรโรคันตราย" พระพุทธรูปประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นพระผู้ทรงมีพระราชทานก่อตั้งกรมการรักษาดินแดน อีกทั้งเมื่อพิจารณาความหมายของพระนามของพระพุทธรูป อันหมายถึง "การปราศจากซึ่งภยันตรายทั้งปวง"  นับว่าเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะสถาปนาให้เป็นพระสี่มุมเมืองของไทย

 พุทธลักษณะของพระสี่มุมเมือง มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิราบ หน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว ทำด้วยสัมฤทธิ์ สร้างขึ้นตามแบบพระพุทธรูปเนื่องในศิลปะสุโขทัย ทั้งนี้ พลโทยุทธ สมบูรณ์ เจ้ากรมรักษาดินแดน กระทรวงกลาโหม  ขณะนั้นสร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๑ จำนวน ๔ องค์ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เพื่อพระราชทานแก่ ๔ จังหวัด เมื่อวันที่ ๒๗  ธันวาคม ๒๕๑๑ ประกอบด้วย จ.ราชบุรี จ.ลำปาง จ.พัทลุง และ จ.สระบุรี  

 สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาและสะสมพระเครื่องเมืองสระบุรี ระหว่างวันที่ ๒๗ มีนาคม ถึงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๓ นี้ จังหวัดได้จัดให้มีเทศกาลฉลองพระพุทธรูปสี่มุมเมืองขึ้น พุทธศาสนิกชนร่วมบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัวได้ ณ บริเวณ วัดศาลาแดง ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับศาลากลางจังหวัดสระบุรี

 โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ที่ ๔ เมษายน ชมรมพระเครื่อง จ.สระบุรี ได้รวมกันจัดนิทรรศการ พระเครื่องจังหวัดสระบุรี และการประกวดพระเครื่อง จ.สระบุรี ขึ้น ณ บริเวณศาลาอเนกประสงค์ ศาลากลางจังหวัด  

 ในงานนี้มีการจัดแสดงพระเครื่อง และประวัติพระเครื่องชั้นนำ ผู้ที่ส่งพระเข้าประกวดในงานดังกล่าว และชนะเลิศพระแต่ละรายการ จะได้รับมอบ หนังสือรวมเล่มพระเครื่องจังหวัดสระบุรี ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการจัดพิมพ์ครั้งแรก สอบถามรายละเอียดได้ที่คณะกรรมการจัดงาน โทร.๐๘-๕๙๕๕-๖๐๓๓

เต้ สระบุรี