พระเครื่อง

พระกรุเมืองกรุง พระกรุวัดเงิน คลองเตย

พระกรุเมืองกรุง พระกรุวัดเงิน คลองเตย

06 ต.ค. 2565

ตีกล้อง ศึกษา พระกรุในเมืองกรุง พระกรุวัดเงิน คลองเตย พระเครื่องบรรจุกรุ วัดโบราณตั้งแต่ต้น กรุงรัตนโกสินทร์

วัดเงิน นั้น เคยเป็นอาราม ที่ตั้งอยู่ ในพื้นที่ ที่ปัจจุบัน คือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งในสมัยโบราณ เคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณ คือ เมืองพระประแดง ในบริเวณนี้ มีวัดเก่า ถึง 3 วัด ด้วยกัน คือ 

1.วัดหน้าพระธาตุ วัดเก่าแก่ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในวัดมีพระเจดีย์องค์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
2.วัดเงิน หรือวัดหิรัญสีวลี สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยชาวรามัญ ชื่อนายมะซอน และภรรยา
3.วัดทองล่าง หรือวัดโพธิ์ทอง สร้างหลังวัดเงินประมาณ 75 - 80 ปี โดยนายทองและพระภิกษุรามัญ


ในยุคสมัยปี 2480 รัฐบาลขณะนั้น เวนคืนที่ดิน เพื่อสร้าง การท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงมีการทำผาติกรรม ย้ายวัดทั้ง 3 อาราม มีการรวมวัดหน้าพระธาต กับ วัดโพธิ์ทอง เป็น วัดธาตุทอง ส่วน วัดเงิน หายไปจากความรับรู้
 

สำหรับการค้นพบ พระกรุวัดเงิน นั้น หลังจากมีการเวนคืนที่ดินแล้ว จึงรื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในวัดทั้งสาม พอเข้ารื้อถอนที่วัดเงินปรากฏว่าพบพระเนื้อผงบรรจุอยู่ในพระเจดีย์หลายๆ องค์ และมีมากมายหลายแบบหลายพิมพ์ทรง อาทิ พระกรุวัดเงินคลองเตย พิมพ์สังกัจจายน์ ไม่มีหู พระกรุวัดเงิน คลองเตย พิมพ์วัดตะไกร พิมพ์ป่าเลไลยก์ พิมพ์พระคง พิมพ์พระสังกัจจายน์มีหู-ไม่มีหู พิมพ์พระประธาน พิมพ์เล็บมือสมาธิ-มารวิชัย พิมพ์หน้าฤๅษี และพิมพ์ซุ้มกอฐานสูง-ฐานเตี้ย พระปิดตากรุวัดเงินคลองเตย และพระเครื่องทรงคุณค่าอีกหลายต่อหลายองค์ บรรดาเซียนพระและนักสะสมจึงเรียกขานกันว่ากลุ่มพระชุดนี้ว่า พระกรุวัดเงิน

พระกรุวัดเงิน คลองเตย
แรกเริ่มเดิมทีพระกรุวัดเงินที่ค้นพบมีสนนราคาเช่าซื้อถูกเอามากๆ เรียกว่าซื้อกันทีละปี๊บทีละกำเลยทีเดียว จนมาถึงช่วงสงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยามศึกสงครามผู้คนก็ต่างอาศัยพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและสร้างขวัญกำลังใจ ปรากฏว่าผู้ที่แขวนหรือสักการะ พระกรุวัดเงิน คลองเตย ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ทรงใดก็ได้ประจักษ์ในพุทธคุณเป็นที่ปรากฏทั้งสิ้น ความนิยมสะสมจึงกว้างขวางขึ้น สนนราคากระเถิบสูงขึ้นมาจน ณ ปัจจุบันบางพิมพ์ถึงหลักหมื่น และหลายๆหมื่นก็มี โดยเฉพาะพิมพ์ที่สมบูรณ์และพิมพ์ที่ค่อนข้างหายาก

ลักษณะขององค์ พระกรุวัดเงิน จากการพิจารณาเนื้อหามวลสารแล้วสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระที่สร้างขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ 4 หรือรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ พระเนื้อแกร่ง และพระเนื้อแก่ปูน

โดยพระเนื้อแกร่ง จะมีเนื้อมวลสารที่ภาษาวงการพระเรียกเนื้อจัด พิจารณาได้ง่าย มีความแกร่งแน่น และมีความหนึกนุ่ม 

ผิวนุ่มขององค์พระจะคล้ายกันมากกับผิวของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมกรุเก่า สังเกตที่ผิวขององค์พระจะปรากฏรอยลานตัวหนอนซึ่งมีขนาดใหญ่เล็กสลับกัน

พระกรุวัดเงิน คลองเตย

ส่วนพระเนื้อแก่ปูน เนื้อในขององค์พระจะค่อนข้างขาวจัด การเกาะตัวของเนื้อมวลสารไม่แน่นเหมือนแบบแรกเนื่องจากมีตัวประสานน้อย ลักษณะเนื้อขององค์พระจะร่วนและแห้ง น้ำหนักเบา หลุดร่อนได้ง่าย จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการจับต้องหรือสัมผัส และเนื่องจากเป็นพระที่ถูกบรรจุในกรุพระเจดีย์ จึงเป็นพระที่จะมีคราบกรุเกาะตามพื้นผิวขององค์พระ คราบกรุขององค์พระที่อยู่ตอนบนจะมีลักษณะคล้ายฟองเต้าหู้ สีเหลืองอมน้ำตาลจับอยู่บนผิว บางองค์มากทั่วทั้งองค์พระ บางองค์จับเป็นบางส่วน และฟองเต้าหู้บางจุดจะปะทุฟูตัว ส่วนองค์พระที่อยู่ใต้ๆลงไปจะมีคราบกรุจับน้อยมากบางองค์แทบไม่มีเลย อาจมีคราบดินกรุสีน้ำตาลเป็นขุยจับเป็นหย่อมๆ เท่านั้น หรือมีลักษณะปะทุเป็นเม็ดเล็กๆ ประปรายถือได้ว่าเป็นพระที่มีผิวสะอาดสะอ้านทีเดียว

 


เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek