ศึกษาความรู้ข้อธรรมะ ความหมาย ปริศนาธรรม ของ ธงกฐิน
ศึกษาความรู้เกี่ยวกับธรรมะ ผ่านงานทอดกฐินสามัคคี อ่านข้อคิด ปริศนาธรรม ผ่าน ธงกฐิน เรื่องราวตำนาน ที่ควรรู้ของ ชาวพุทธ
เมื่อออกพรรษา เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น กิจกรรมสำคัญของชาวพุทธ ที่จะดำเนินต่อเนื่องจากนี้ นับก็คือ การทอดกฐิน ซึ่งมีระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่ออกพรรษา จนไปจบที่วันลอยกระทง เป็นประเพณีสำคัญ ที่สืบทอดมาช้านาน และยาวนาน
สำหรับ กฐิน นั้น เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยคำว่าการทอดกฐินหรือการกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์
ธงจระเข้ หมายถึง ความโลภ (ปากใหญ่ กินไม่อิ่ม) ใช้ประดับในการแห่ มีตำนานว่า เศรษฐีเกิดเป็นจระเข้ว่ายน้ำตามขบวนกฐินจนขาดใจตาย
ธงนางมัจฉา หมายถึง ความหลง (เสน่ห์แห่งความงามที่ชวนหลงใหล) ใช้ประดับงานพิธีถวายผ้ากฐิน เป็นตัวแทนหญิงสาว ตามความเชื่อว่า อานิสงส์จากการถวายผ้าแก่ภิกษุสงฆ์จะมีรูปงาม
ธงตะขาบ หมายถึงความโกรธ (พิษที่เผ็ดร้อนเหมือนความโกรธที่แผดเผาจิต) ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้มีคนมาจองกฐินแล้ว ให้ผู้จะมาปวารณาทอดกฐินผ่านไปวัดอื่นเลย ไม่ต้องเสียเวลามาถาม
ธงเต่า หมายถึง สติ (การระวังรักษาอายตนะทั้ง 6 ดุจเต่าที่หดอวัยวะซ่อนในกระดอง) ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว จะปลดลงในวันเพ็ญเดือน 12 โดยในปัจจุบันจะเห็นเพียงธงจระเข้ และธงนางมัจฉา ที่จะปรากฏในงานกฐิน ส่วนธงตะขาบและธงเต่าพบเห็นได้น้อย จะมีเป็นบางวัดที่ยังคงรักษาธรรมเนียมเก่าอยู่เท่านั้น
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek