วันพระ แม่ลักษมี ทำพิธีบูชาได้ที่บ้านคุณตามขั้นตอนที่ถูกต้อง พิธีดีปาวลี
เปิดขั้นตอน การทำ พิธีบูชา ที่บ้าน สำหรับ สักการะ พระแม่ลักษมี เทพแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย ในเทศกาลสำคัญ พิธีดีปาวลี
จากความเดิมตอนที่แล้ว ได้พาคุณผู้อ่าน ทำความรู้จัก พิธีสำคัญ เทศกาล ดีปาวลี หรือ เทศกาลแห่งการบูชา พระแม่ลักษมี เทพแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย ซึ่งจะมีการจัดงาน หรือ พิธี ในวันที่ 24 ต.ค. ที่จะถึงนี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมกับสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย (IAT) เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการชาวไทยเชื้อสายอินเดีย กลุ่มชาวอินเดียในประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 23 ตุลาคม 2565 เวลา 11.00-22.00 น. ณ บริเวณย่านลิตเติ้ลอินเดีย ตั้งแต่บริเวณถนนพาหุรัด คลองโอ่งอ่าง สะพานเหล็ก และพื้นที่เชื่อมโยงที่เกี่ยวข้อง
ส่วนผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ร่วมงาน หรือ มีโอกาสไปยังสถานที่จัดการสักการะบูชา หรือ อยากจะทำการสักการะบูชาที่บ้าน ทีมข่าว พระเครื่อง และ รอยความเชื่อ คมชัดลึก นำข้อมูลเกี่ยวกับการบูชาอย่างละเอียดมาให้คุณผู้อ่านได้ทำพิธีได้อย่างถูกต้อง ซึ่ง คุณปกรณ์ ทีรคานนท์ หรือ คุณมิ๊ก ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ จ.เชียงใหม่ ได้เผยแพร่ข้อมูลสำคัญในครั้งนี้
มหาลักษมีบูชา (ฉบับทำบูชาเองที่บ้าน)
เริ่ม ประกอบพิธี
ในวันดีวาลี ให้จุดประทีป ที่หน้าประตูบ้าน และหิ้งพระ (ถ้าเป็นการทำบูชาพระแม่ในวันปกติทั่วไป ข้ามไปทำขั้นตอนที่ 1 ได้เลย)
1.พิธี อาวหนะ กล่าวอัญเชิญ กล่าวมนต์เชิญพระแม่ศรีมหาลักษมี
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอเชิญพระองค์ ประทับยังแท่นที่เตรียมไว้
2.พิธี อาสนะ อัญเชิญเทวรูปขึ้นประทับยังแท่น หรืออาสนะที่เตรียมไว้
นำข้าวสาร หรือดอกไม้ โปรยที่แท่น แล้วนำเทวรูปวาง
3.พิธี ปัธยะ (ถวายน้ำล้างพระบาท)
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระบาทต่อพระองค์ นำช้อนตักน้ำ วน ที่บริเวณพระบาทของเทวรูป 3 ครั้ง แล้ว เทลงที่พระบาท หรือเบื้องหน้าเทวรูป
4.พิธี อะระฆะยะ (ถวายน้ำล้างพระหัตถ์)
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระหัตถ์ต่อพระองค์นำช้อนตักน้ำ วน ที่บริเวณพระหัตถ์ของเทวรูป 3 ครั้ง แล้ว เทลงที่พระหัตถ์ ข้างใดข้างหนึ่ง หรือเบื้องหน้าเทวรูป
5.พิธี อาจะมันยะ (ถวายน้ำชำระพระโอษฐ์)
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำชำระพระโอษฐ์ต่อพระองค์ นำช้อนตักน้ำ วน ที่บริเวณพระโอษฐ์ของเทวรูป 3 ครั้ง แล้ว เทลงที่พระโอษฐ์ หรือเบื้องหน้าเทวรูป
6.พิธี สะนานิยัม อภิเษกกัม (ถวายน้ำสรงสนาน)
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำสรงสนานต่อพระองค์
นำช้อนตักน้ำ วน ที่บริเวณรอบเทวรูป 3 ครั้ง แล้ว เทลงที่ไหล่ หรือเบื้องหน้าเทวรูป
ในขั้นตอนนี้ยังสามารถ สรงสนานเพิ่มด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำนม หรือ ถวายน้ำปัญจะมรัตน์สรงเทวรูป หลังสรงแล้ว ล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดองค์ทำความสะอาด เชิญองค์เทวรูปกลับแท่นพิธี (หากไม่สรง ที่องค์ สามารถนำน้ำสะอาด วน รอบเทวรูป แล้วเทลงเบื้อหน้าได้เช่นกัน)
7.พิธี วัตระ (ถวายผ้าทรง)
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายผ้าสำหรับนุ่งห่ม ต่อพระองค์
นำผ้า คลุม หรือผ้านุ่ง ที่เตรียมไว้ ถวายต่อเทวรูป อาจจะนุ่ง หรือคลุม หรือวางไว้เบื้องหน้า
8.พิธี กันธะ (การถวายเครื่องหอม แป้งและผงเจิม)
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย เครื่องหอม และผงจุ่มเจิมต่อพระองค์
นำผงเจิม เช่น ผงจันทร์ ผงกุมกุม ผงซินดู เจิมที่เทวรูป
นำน้ำหอม ประพรม ที่เทวรูป
9.พิธี อาภะระนะ (การถวายเครื่องประดับ)
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย เครื่องประดับต่างๆต่อพระองค์
นำเครื่องประดับที่จัดเตรียมไว้ อาทิเช่น สร้อย กำไล สวมคล้องต่อเทวรูป หรือวางไว้เบื้องหน้า
10.พิธี ปุษปะมาลา (การถวายดอกไม้ และมาลัย)
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวาย มาลัยดอกไม้นี้แด่พระองค์
นำดอกไม้ มาลัยที่เตรียมไว้ คล้องถวายต่อเทวรูป (หากหาดอกบัวมาถวายได้จะดีมาก พระแม่โปรดดอกบัวเป็นพิเศษ
11.พิธี ธูปะ (การถวายธูปหอม และกำยาน)
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายธูปหอม และกำยานนี้ต่อพระองค์
นำธูป หรือกำยาน จุด วนถวาย ต่อเทวรูป
12.พิธี ดีปัม (การถวายดวงประทีป)
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายดวงประทีปต่อพระองค์
นำประทีป หรือเทียน จุดถวายต่อเทวรูป
13.พิธี ไนเวดยัม (การถวายเครื่องบริโภค ผลไม้ ขนมหวาน)
“โอม ศรี มหาลักษมีนะมะหะ” ข้าพเจ้าจอน้อมถวาย ผลไม้ตามฤดูกาลนี้ พร้อมขนมหวานต่างๆ ต่อพระองค์
นำผลไม้ต่างๆที่จัดเตรียมไว้ถวายต่อเทวรูป ถ้ามีเยอะมากหลายถาด สามารถนำน้ำตักใส่ช้อนวน ที่ ผลไม้ ขนมหวานต่างๆ แล้วเทน้ำลงเบื้องหน้าเทวรูป ได้
14.พิธี ตัมปูรัม (การถวาย หมาก พลู)
“โอม ศรี มหาลักษมี นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย หมากพลู ต่อพระองค์
นำหมากพลู เตรียมไว้ ถวายต่อเทวรูป
.
15.พิธี สโตรตรัมปูชา (ถวายบทบูชาสรรเสริญ)
สวดบูชาสรรเสริญ ด้วยบทสวด หรือมนต์ต่างๆ หรือสวด มนต์ 108 จบเป็นต้น
.
16.พิธี อารตี
สวดบูชาพร้อมวนไฟถวายต่อเทวรูป หากสวดไม่ได้ อาจเปิด youtube
https://www.youtube.com/watch?v=SyqgAt-T0iQ
ในเทศกาลดีวาลี ควรจุดประทีปให้ทั่วบริเวณบ้าน จุดในที่ปลอดภัยระวังเรื่องไฟไหม้ด้วย
หลังจบการบูชา ให้จุดพลุ หรือประทัด ให้ดังๆ เพื่อขับไล่พระแม่อลักษมี เทวีแห่งความอับโชค ให้ออกไปจากบ้าน และตัวเรา
อย่างไรก็ดี คุณปกรณ์ ได้ทิ้งท้าย ในการให้ข้อมูลอย่างน่าสนใจว่า ในการทำพิธีที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ทำเท่าที่เราทำได้ เท่าที่เราสามารถจัดหาสิ่งของต่างๆได้ ขั้นตอนต่างๆ สามารถลด หรือเพิ่มเติมได้ แล้วแต่ผู้ทำบูชา จะเห็นควร ข้อไหนทำไม่ได้ ข้ามไป จุดประสงค์ คือ อยากให้เริ่มลงมือทำด้วยตนเอง ก่อนสักครั้ง ครั้งแรก อาจทำได้ แค่ 20 จาก 100 ก็ทำไปเพราะ ถ้าไม่ทำเลย นั้น คือ เราอยู่ที่ 0 เมื่อทำแล้ว ครั้งต่อๆ ไป อาจไม่ใช่ 20 แล้ว เพราะ เคยทำแล้วรู้แล้วว่า ต้องจัด ต้องหา ต้องเตรียมอะไรเพิ่มเติมจากที่ ขาดไป ก็ค่อยๆ ขยับไป จาก 20 เป็น 50 70 100 รู้เท่าไหร่ ทำได้เท่าไหร่ ทำเท่านั้นก่อน ดีกว่า ไม่เริ่มทำอะไรเลย อย่างน้อยๆ แค่ทำความสะอาดหิ้ง จุดธูปไหว้ ก็ยังดี
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek