"ต้นรัก ต้นพุดซ้อน" รูปหนุมาน หลวงพ่อสุ่น ต้นไม้ใช้นำมนต์รดแทนน้ำตอนปลูก
เปิดตำรา ส่องความรู้ ความหมาย และ ที่มา ที่ไป ของ ต้นรัก และ ต้นพุดซ้อน ก่อนจะมาเป็น เครื่อง หนุมาน ของ หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน
หลวงพ่อสุ่น วัดศาลกุน ปากเกร็ด นนทบุรี หนึ่งในผู้สร้างตำนาน หนุมาน ไม้แกะ ที่เป็นที่นิยมอย่างสูง ท่านได้ปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณกุฏิ 2 ชนิด คือ ต้นรัก และ ต้นพุดซ้อน ท่านได้หมั่นดูแลรดน้ำ โดยนำน้ำสะอาดมาทำเป็นน้ำมนต์ เพื่อรดต้นไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้ จนเจริญเติบโตต่อมา เมื่อท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้ดูฤกษ์ยามเพื่อทำพิธีพลีและสังเวยก่อน จึงได้ลงมือขุดต้นรักและต้นพุดซ้อน แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง
จากนั้นได้ให้ช่างแกะเป็นรูป หนุมาน แล้วรวบรวมห่อด้วยผ้าขาวใส่บาตร เพื่อปลุกเสกในกุฏิในวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันแรง หลังจากนั้น ท่านได้แจกจ่าย หนุมาน แก่ลูกศิษย์และชาวบ้านผู้ถวายปัจจัยในการบูรณปฏิสังขรณ์วัด เป็นการตอบแทนน้ำใจ
นอกจาก หนุมาน ที่แกะจาก ต้นรัก และ ต้นพุดซ้อน แล้ว ก็ยังมี หนุมาน ที่แกะจาก งาช้าง อีกด้วย
หนุมาน หลวงพ่อสุ่น มี 2 พิมพ์ คือ1.พิมพ์หน้าโขน 2.พิมพ์หน้ากระบี่
ทำไมการสร้างเครื่องราง ของท่าน จึงต้องใช้ ต้นไม้ 2 ชนิด และทำไม จึง ต้องเจาะจง เป็น ต้นรัก กับ ต้นพุดซ้อน ซึ่งเป็นความสงสัยที่เกิดขึ้น จึงได้ทำการค้นคว้า หาข้อมูลถึงที่มาที่ไป อย่างไรก็ดี แม้จะไม่สามารถตามรอย ค้นหา ที่มาที่ไปจากการของ หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน ได้อย่างชัดเจนนัก แต่ก็ยังมีร่องรอย ความเชื่อ ถึงการจัดสร้าง วัตถุมงคล รวมทั้ง เครื่องราง จากต้นไม้ทั้งสองชนิดดังกล่าว ที่น่าสนใจ
สำหรับ ต้นรัก มีชื่อวิทยาศาสตร์: Calotropis gigantea (Linn.) R.Br.ex Ait.) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กในวงศ์ Apocynaceae วงศ์ย่อย Asclepiadoideae ลำต้นสูง 1.5–3 เมตร ดอกมีสีขาวหรือม่วง มีรยางค์เป็นคล้ายมงกุฎ
ต้นรัก เป็นพืชพื้นเมืองของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย ศรีลังกา อินเดีย และจีน ดอกของพืชชนิดนี้เรียกว่า ดอกรัก ตามประเพณีในประเทศไทยนิยมนำดอกรักมาร้อยเป็นมาลัยร่วมกับดอกมะลิ ดาวเรือง จำปา หรือกุหลาบ ใช้ในงานมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับความรัก เพราะดอกรักสื่อความหมายถึงความรัก เช่น งานหมั้น และงานแต่งงาน โดยใช้ในขันหมากหมั้น ขันหมากแต่ง จัดพานรองรับน้ำสังข์ ร้อยเป็นมาลัยบ่าวสาว และโปรยบนที่นอนในพิธีปูที่นอน เป็นต้น ส่วนชาวฮาวายถือว่ามาลัยดอกรักที่ทำเป็นสร้อยคอ คือสัญลักษณ์ของความเป็นกษัตริย์ แต่ในอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิมถือว่าเป็นวัชพืชไม่มีประโยชน์
แต่อย่างไรก็ดี ว่ากันว่าในอดีตนั้น คนเล่นของมักจะนำใบจาก ต้นรัก สีขาวมาทำเสน่ห์ คุณไสยให้คนรักคนหลง หรือใช้เรียกสามีที่ไปมีหญิงอื่นให้กลับมาหาตน บางคนก็นำรากมาแกะสลักเป็นรูปพระปิดตา รูป นางกวัก หรือรูป รักยม ด้วยเหตุนี้ ต้นรักจึงถูกนำไปใช้ในทาง ไสยศาสตร์ เป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้คนสมัยก่อนบางส่วนจะเชื่ออีกทางหนึ่งว่า ต้นรัก นั้นเป็นต้นไม้อัปมงคล ไม่ควรนำมาปลูกไว้ในบ้าน เพราะกลัวว่าจะนำความเดือดร้อนมาให้ เกิดเรื่องวุ่นวายภายในครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องของชู้สาว สามี ภรรยาจะนอกใจกัน
ส่วน ต้นพุดซ้อน เป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับเข็มพวงขาว กระทุ่ม และกาแฟ ถิ่นกำเนิดเดิมของพุดซ้อนเข้าใจว่าอยู่ทางตอนใต้ของจีน โดยยังสามารถพบกระจายพันธุ์ในธรรมชาติอย่างแพร่หลายในบังกลาเทศ, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี, พม่า, และเวียดนาม มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ คือ พุดจีน, พุดใหญ่, เก็ดถะหวา (ภาคเหนือ), และอินถะหวา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ต้นพุดซ้อน นิยมนำไปร้อยพวงมาลัยบูชาพระ เมล็ดสีเหลืองทอง ใช้แต่งสีอาหารและทำสีย้อม ส่วนดอกใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย ใช้ทำน้ำหอมและแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ทั้งนี้ ต้นพุดซ้อน เป็นต้นไม้ที่มีความเป็นมงคลเหมือนกันกับพุด ว่ากันว่าถ้าหากปลูกติดไว้ที่บ้าน จะช่วยให้มีความเจริญ มั่นคง เนื่องจากคำว่า พุด หมายถึง ความสมบูรณ์ แข็งแรง ยิ่งไปกว่านั้นยังสื่อถึงความบริสุทธิ์ เนื่องจากดอกพุดซ้อนมีสีขาวสะอาดและบานใหญ่ โดยเคล็ดมงคลเกี่ยวกับต้นพุดหรือพุดซ้อน แนะนำให้ปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่สำคัญควรปลูกในวันเสาร์และให้ผู้ชายเป็นคนปลูก
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek