พระคง กรุวัดพระคงฤาษี จ.ลำพูน ของดี ที่เกือบจะ เป็นหนึ่งใน เบญจภาคี
พระคง เมือง ลำพูน กรุวัดพระคงฤาษี หนึ่งใน พระกรุ ที่มีพุทธคุณ ศักดิ์สิทธิ์ ครั้งหนึ่ง เคยเกือบเบียดแซง พระรอด ขึ้นเป็น พระ หนึ่ีง ในเบญจภาคี
ถือเป็นพระที่เป็นที่นิยม ของนักสะสมพระเครื่องโดยแท้จริง มีความนิยมเล่นหากันทั่วทั้งประเทศ สมัยก่อนนั้นไม่ได้เรียกพระคง แต่จะเรียกว่า พระลำพูน เช่น ลำพูนดำ ลำพูนแดง ลำพูนเขียว ซึ่งราคามีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงสภาพดี คมสวย มีราคาถึงหลักล้าน ตามสภาพพระและความพอใจขอผู้ซื้อขายกัน ทั้งมีศิลปะที่สุดยอดในการใส่รายละเอียดลงไปในองค์พระ แม้แต่ อ.ตรียัมปวาย ยังยอมรับว่า หาก พระคง ไม่มีจำนวนที่มากขนาดนี้แล้วนั้น พระคง จะถูกบรรจุลงในพระชุดเบญจภาคีแทน พระรอด
ความนิยมและเป็นที่รู้จักของพระคงมีมานานมาก สมัยอยุธยามีการล้อพิมพ์โดยนำไปเทเป็นเนื้อชินแล้วบรรจุที่กรุ วัดราชบูรณะ แม้แต่ พระกริ่งคลองตะเคียน ก็ล้อพิมพ์มาจากพระคงเช่นกัน หรือ พระหลวงพ่อเนียม ก็ล้วนนำต้นแบบมาจากพระคง ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่พระคงจะเป็นที่นิยมของคนทั้งประเทศ
พระคง ไม่ว่าจะกรุเก่าหรือกรุใหม่ ก็ล้วนมีอายุการสร้างพร้อมกัน เพียงแต่ถูกขุดพบขึ้นมาในเวลาที่ต่างกัน พระกรุเก่าคือพระที่ถูกขุดพบมานานมาก แล้วผ่านการแขวน ใช้ จนเนื้อจัด
ซึ่งบางองค์ลงรักปิดทอง มีคราบน้ำหมาก ส่วนพระกรุใหม่คือพระที่ขุดพบในภายหลังซึ่งมีกรอบพระเลี่ยมแล้ว ทำให้ยังคงรักษาสภาพพระให้เป็นผิวเดิมได้ดี ราคาค่านิยมไม่ได้แบ่งกรุ อยู่ที่ความสวยขององค์พระและความชอบส่วนบุคคลเป็นหลัก
สมัยก่อนนั้นพระจะโด่งดังขึ้นมาได้ก็ด้วยพุทธคุณ โดยเฉพาะเรื่อง แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เพราะของดีมักจะเป็นที่เสาะแสวงหาของนักเลงหัวไม้ จะนิมนต์ติวตัว ขอบารมีคุ้มครอง คุ้มกัน ป้องกันภัยอันตราย
สำหรับ วัดพระคงฤาษี หรือ วัดอนันทราม ตั้งอยู่ ต.ในเมือง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัย พระนางจามเทวี ครองเมืองหริภุญชัย ในวัดนี้มี พระคง ซึ่งเป็นพระเครื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่นับถืออีกองค์หนึ่งของเมืองลำพูน เป็น 4 วัด 4 มุมเมือง ที่มีการจุดพบพระเครื่องของเมืองลำพูน เชื่อว่าพระเครื่องที่ขุดได้นี้เป็นเป็นพระคง ที่ วาสุเทพฤาษี และ สุกกทันตฤาษี สร้างวัด จึงเรียกว่า วัดพระคงฤาษี แต่นั้นเป็นต้นมา
วัดพระคงฤาษี เดิมชื่อ "วัดอาพัทธาราม" พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อ ถวายพระภิกษุที่มาจากลังกา ใช้เป็นที่พำนักและบำเพ็ญสมณะธรรมเป็นที่บรรจุ "พระคง" ตามตำนานกล่าวว่า วาสุเทพฤาษี ได้ใช้ไม้เท้ากรีดพื้นเพื่อเขียนแผนผังเมืองลำพูนตรงพระเจดีย์นี้
พระนางจามเทวี จึงทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม แล้วให้นายช่างแกะสลักเป็นรูปพระฤาษีทั้ง 4 ตนไว้ แต่ละตนถือไม้เท้าในมือ รูปปั้นแกะสลักฤาษีสร้างด้วยศิลาแดงเมื่อทำเสร็จแล้ว ได้นำไป บรรจุไว้ภายในซุ้มประตูทั้ง 4 ด้านของพระเจดีย์ โดยทางทิศเหนือเป็นรูปวาสุเทพฤาษี ทิศตะวันออกเป็นรูปพระพรหมฤาษี ทิศตะวันตกเป็นรูปของพระสมณนารคฤาษี ทิศใต้เป็นรูปของสุกกทันตฤาษี ซึ่งชาวลำพูนจะจัดประเพณีนมัสการและสรงน้ำ พระเจดีย์องค์นี้ภายหลังวันสงกรานต์
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek