ศาสตร์ โหงวเฮ้ง - นรลักษณ์ศาสตร์ ความเหมือนที่แตกต่าง
ทำความเข้าใจในพื้นฐาน ศาสตร์พิเคราะห์ลักษณะมนุษย์ โหงวเฮ้ง - นรลักษณ์ศาสตร์ ที่มีความคล้ายคลึง เหมือนกัน และความต่างในบางแง่มุม
การให้ความสำคัญ เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตานั้น เป็นหนึ่งในสิ่งที่คนยุคใหม่ ให้ความสนใจ ใส่ใจ เป็นอย่างมาก ส่วนไหนดี ก็พัฒนาให้ดีขึ้น ส่วนไหนด้อย ก็เร่งแก้ไข ให้สวยงาม เหมาะสม อย่างไรก็ดี ในส่วนของทางความเชื่อ การให้ความสำคัญ เกี่ยวกับ รูปร่าง หน้าตา มีมาแต่สมัยโบราณ ผ่าน รูปแบบของ วิชาความรู้ ที่เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งมีทั้ง ไทย และ จีน ที่คนให้ความสนใจ
มีตำรา เกี่ยวกับ รูปร่างหน้าตา ที่หลาย ๆ คนรู้จัก หรือ อย่างน้อยที่สุด ก็เคยได้ยินชื่อ แต่ด้วยความที่มีชื่อเรียกต่างกัน คือ โหงวเฮ้ง กับ นรลักษณ์ศาสตร์ จึงทำให้บางครั้งเกิดความสับสนกันว่า ทั้ง 2 ตำรา คือเรื่องเดียวกันหรือไม่
ซึ่งในความเป็นจริง ทั้ง 2 ศาสตร์นั้น มีจุดหมาย เป้าหมาย หรือ เรื่องที่ใช้งาน ไปในทิศทางเดียวกัน มีเพียงจุดต่างกันเล็กน้อย
สำหรับ ตำรานรลักษณ์ เป็นตำรา โหราศาสตร์ไทย ประเภทหนึ่ง ว่าด้วยการทำนายลักษณะดีและร้ายของชายหญิงจากอวัยวะต่าง ๆ บนร่างกาย โดยเฉพาะอวัยะเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ อันได้แก่ อวัยวะเพศ เต้านม ขนในที่ลับ น้ำกาม กลิ่นกาย และพฤติกรรมของบุคคล เช่น การเดิน การนั่ง การขับถ่ายปัสสาวะ การแสดงออกเรื่องเพศ เป็นต้น เพื่อพยากรณ์เจ้าของลักษณ์นั้น ๆ ในด้านต่าง ๆ เช่น อายุ โชคลาภ ฐานะทางสังคม คู่ครอง บุตร โรคภัย และอาการผิดปกติต่าง ๆ เป็นต้น การดูลายมือการถือเป็นหนึ่งใน นรลักษณ์ศาสตร์ แต่เน้นที่สัณฐานของมือและลายเส้นต่าง ๆ ที่อยู่บนฝ่ามือเท่านั้น
สันนิษฐานว่า ในสมัยโบราณ น่าจะใช้ดูลักษณะผู้น้อย หรือบุคคลใต้บังคับบัญชาเพื่อรายงานให้ผู้เป็นใหญ่ ได้ทราบว่า คนเช่นนั้น มีลักษณะที่เป็นคุณหรือเป็นโทษควรคบหาไว้วางใจหรือใช้งานหรือไม่ วรรณกรรมในกลุ่มตำรานรลักษณ์หลายฉบับ หลายสำนวนทั้งที่เป็นใบลาน สมุดไทยดำ สมุดไทยขาว สมุดถือเฝ้า และที่พิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้ว ต้นฉบับที่พบมีทั้งที่เป็นตำราดูลักษณะดีร้ายของบุคคลโดยเฉพาะและที่แทรกปะปนอยู่กับตำราอื่น ๆ อาทิ ตําราพรหมชาติและตำราแพทย์แผนไทย
ส่วน โหงวเฮ้ง หมายถึง ลักษณะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ที่ สามารถบ่งบอกถึงสิ่งที่ดีและไม่ดี ที่เกิดขึ้นจากธาตุทั้ง 5 คือ ธาตุทอง (หูซ้าย) ธาตุไม้ (หูขวา) ธาตุไฟ (หน้าผาก) ธาตุดิน (จมูก) และธาตุนํ้า (ปาก) ที่สะสมและทําปฏิกิริยากัน จากพลังงานหยาง และหยินภายในร่างกาย กําหนดความสมบูรณ์ทางร่างกายจาก
บุคลิกลักษณะเด่นภายนอก ในอดีตชาวจีนเมื่อหลายพันปีก่อนได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่มี ผลต่อการดํารงชีวิตของมนุษย์ อาจเรียกได้ว่าเป็นวิชาการทาง วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ของชาวจีน ที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จากการเดินทางไปในแต่ละทิศของประเทศอันกว้างใหญ่ เพื่อศึกษาเรียนรู้ผู้คนในถิ่นต่างๆ บันทึกวิเคราะห์เป็นหลักวิชาการ และถ่ายทอดประสบการณ์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจากมนุษย์ หรือจากธรรมชาติที่ได้พบเห็นในขณะเดินทางได้แลกเปลี่ยนข้อมูล หาสิ่งสมมติเพื่อเปรียบเทียบกับบันทึกเป็นหลักวิชาให้ผู้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น การกําหนดสัญลักษณ์ต่างๆ ในตําราศาสตร์แห่ง โหงวเฮ้ง ในร่างกายมนุษย์นั้น ตามหลักแพทย์แผนจีนกําหนดให้หัวใจ คือ พลังหยาง (เอี้ยง)
ส่วนกระเพาะ ลําไส้ ไต และตับ คือ พลังหยิน (อิม) เมื่อพลังหยางและหยินภายในไม่สมดุล ก็เท่ากับแร่ธาตุและอุณหภูมิในร่างกายผิดปกติ ก็คือการเกิดโรคของมนุษย์ ซึ่งสามารถแสดงออกได้หลายอย่าง เช่น อาการเจ็บปวดตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย หรือการแสดงออกทางอารมณ์ หงุดหงิด โมโหง่าย เจ้าอารมณ์ เป็นโรคเครียด
สิ่งเหล่านี้ที่นักปราชญ์และแพทย์ชาวจีน จึงได้เริ่มศึกษาโครงสร้างลักษณะรูปร่างใบหน้าเป็นสถิติการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้คนตามบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกันไป และสรุปออกมาเป็นวิชาสถิติศาสตร์แห่ง โหงวเฮ้ง เป็นวิชาหลักในการอ่านใจ ความคิด ตามบุคลิกลักษณะ เพื่อการคัดคนให้เหมาะสมกับตําแหน่งหน้าที่ในราชสํานัก และใช้ในการวิเคราะห์คู่ต่อสู้ในการทําศึกสงครามมาทุกยุคสมัย
ต่อมามีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการบริหารคนในสังคมชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิเคราะห์คนเพื่อหาวิธีสร้างความเข้าใจ เอาชนะใจผู้คนเพื่ออํานาจทางการเมืองหรือทางธุรกิจ แม้กระทั่งการสร้างความเข้าใจและลดปัญหาในครอบครัวก็ตาม จึงกล่าวได้ว่าศาสตร์แห่ง โหงวเฮ้ง คือต้นกําเนิดวิชาการทางสถิติศาสตร์และจิตวิทยาการบริหารคนที่ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของแนวทางการบริหารคนที่แท้จริง
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek