สุเทวฤาษี หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของดอยสุเทพ ตำนานฤาษีผู้ร่วมสร้าง ลำพูน
หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของ ดอยสุเทพ ตำนาน สุเทวฤาษี นักบวชโบราณ ผู้ร่วมสร้าง นครลำพูน กับ พระจามเทวี และ พระกรุขึ้นชื่อ
ดอยสุเทพ เป็นหนึ่งในหมุดของการท่องเที่ยว และการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ที่เมื่อมาเชียงใหม่นั้น จะต้องขึ้นไปไหว้พระธาตุ ซึ่งทางขึ้นพระธาตุนั้น ด้านซ้ายของทางขึ้น ไม่วาจะเดินขึ้นบันไดนาค หรือ ขึ้นรถรางไฟฟ้า จะมีรูปปั้นพระฤาษีอยู่ หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่า เป็นฤาษีองค์ใด มีความสำคัญเช่นไร
สำหรับชื่อของฤาษีที่มีรูปปั้นนั้น นามว่า สุเทวฤาษี หรือ วาสุเทพฤาษี อันเป็นชื่อเดียวกับ ดอยสุเทพ เพราะภูเขาลูกนี้เป็นที่พำนักของท่าน ตามความเชื่อและตำนาน เชื่อกันว่าท่านผู้บำเพ็ญสมาบัติ และเป็นวิญญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวเหนือ โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่
ตำนานมูลศาสนากล่าวถึงสุเทวฤาษีด้านชื่อและทีมาว่าชื่อ “วาสุเทวะ” ออกบวชในพระพุทธศาสนาพร้อมกับกุลบุตรอีกสี่คนได้แก่ สุกกทันตะ อานุสิสสะ พุทธชฎิละและสุพรหมะ ต่อมาเห็นว่าวินัยสิกขาบทของพระพุทธองค์ประกอบกิจอันละเอียดเกินกว่าจะปฏิบัติตามได้ทั้งหมด จึงขอลาสิกขาไปบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ บำเพ็ญพรตจนสำเร็จปัญจอภิญญาและสมาบัติ อยู่มาวันหนึ่งฤาษีทั้งห้า มีความปรารถนาจะบริโภคอาหารที่มีรสเปรี้ยวและเค็มอันเป็นอาหารของมนุษย์ จึงชวนกันเหาะออกจากป่าหิมพานต์ไปอาศัยอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ โดยสุกกทันตฤาษีไปอยู่เมืองละโว้ อนุสิสสฤาษีไปอยู่หลิทวัลลีนคร พุทธชฎิลฤาษีอยู่ดอยชุหบรรพต และสุพรหมฤาษีอยู่ดอยเขางามเมืองนคร ส่วนวาสุเทวฤาษีลงมาอยู่ดอยอุจฉุบรรพตหรือดอยสุเทพในปัจจุบัน
ในตำนานการเกิดเมืองหริภุญชัย กล่าวว่า สุเทวฤาษี เป็นผู้สร้างเมืองนี้ แต่เนื่องจากท่านเป็นผู้บำเพ็ญสมาบัติ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับทางโลก จึงไปเชิญพระนางจามเทวีซึ่งเป็นพระธิดาของพระยาจักวัติแห่งเมืองละโว้มาปกครองแทน และยังได้ช่วยเหลือพระนางจามเทวีประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนาในนครหริภุญชัยอย่างมั่นคงอีกด้วย
พระนางจามเทวีได้เสด็จขึ้นมายังนครหริภุญชัย โดยทางเรือ ขึ้นมาตามลำน้ำปิง ใช้เวลากว่า 4 เดือน เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงยังเมืองหริภุญไชย ชาวเมืองได้จัดงานเฉลิมฉลองต้อนรับเป็นเวลาหลายวัน
นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่า วาสุเทพฤๅษี หรือสุเทวฤาษี มีอาศรมที่พำนักอยู่ที่ “ม่อนฤๅษี” อยู่บริเวณหลังวัดดอยติ ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตำนานยังกล่าวอีกว่าที่ม่อนฤๅษี เป็นสถานที่บรรจุพระเครื่องของขลัง วัดดอยติ ได้แก่ พระเลี่ยม พระสิบสอง เป็นต้น ในระยะหลังมีนักขุดสมบัติลักลอบมาขุดเอาของขลังเหล่านี้ไปจนหมดสิ้น
ที่สำคัญ ในยุคสมัยของพระนางจามเทวี การมาของพระนางจากละโว้นั้น ยังได้นำพระพุทธศาสนามาประดิษฐานที่ลำพูน มีการสร้างวัดสี่มุมเมือง เชื่อกันว่าเป็นการคุ้มครองเมืองไว้ทั้ง 4 ทิศ คือ 1.วัดพระคงฤาษี อยู่ทางด้านเหนือ 2.วัดประตูลี้ อยู่ด้านทิศใต้ 3.วัดดอนแก้ว อยู่ด้านทิศตะวันออก 4.วัดมหาวัน อยู่ด้านทิศตะวันตก
และในยุคสมัยนี้ มีการสร้างพระเครื่องบรรจุกรุ พระที่สำคัญคือ พระรอด หนึ่งในพระชุดเบญจภาคี รวมทั้งพระคง พระฤา พระเปิม และพระบาง ฯลฯ ซึ่งจะมีรูปแบบของศิลปะทวารวดีและศิลปะศรีวิชัย พระกรุเหล่านี้จึงน่าจะมีอายุอยู่ในราว 1,300 ปี วัดพระคงฤาษี หรือ วัด อนันทราม ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ทางทิศเหนือ มี สุเทวฤาษี เป็นผู้รักษาเมือง พระสกุลลำพูนที่พบ ณ กรุแห่งนี้ก็คือ "พระคงหรือพระลำพูน" หนึ่งในพระชื่อดังของลำพูน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระสมัยเดียวกันกับพระรอดและสร้างโดย สุเทวฤาษี ตามความหมายแล้ว "คง" หมายถึง การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าภายใต้ซุ้มโพธิ์ที่พุทธคยา ดังนั้น จึงมีพุทธศิลปะที่งดงามสง่า