ไหว้ขอพร พระเจ้าตาก ที่วัดประจำรัชกาลกรุงธนบุรี วัดอินทารามวรวิหาร
ไหว้พระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่อารามหลวงประจำรัชกาล สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กราบพระแท่นวิปัสสนา ขอพรด้านความสำเร็จ
นับแต่การสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสุมทร เป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ของราชอาณาจักร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพยายามฟื้นฟูบริบทต่าง ๆ ทั้ง การเมือง การทหาร การค้า การปกครอง รวมทั้ง การพระศาสนา พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธา ในพระราชพงศาวดารจะพบการที่ทรงศึกษาวิปัสสนา และทรงปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ หนึ่งในวัดที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ และทรงมีพระราชศรัทธา นั่นคือ วัดบางยี่เรือนอก หรือ นามที่คนปัจจุบันรู้จักว่า วัดอินทารามวรวิหาร
วัดอินทารามวรวิหาร เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดบางยี่เรือนอก” คู่กับวัดราชคฤห์ซึ่งเรียกว่า “วัดบางยี่เรือใน” วัดนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้างและสร้างมาแต่ครั้งใด เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเมืองธนบุรีเป็นเมืองหลวง ทรงพอพระราชหฤทัยวัดนี้ และทรงบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอกพิเศษ ใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศลอย่างใหญ่ ๆ หลายครั้ง
ภาพสะท้อนความสำคัญของวัดอินทาราม มีระบุให้เห็นใน พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เนื้อหาใจความระบุถึงไว้ว่า
“ณ วันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนอ้าย เสด็จไปบำเพ็ญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถวัดบางยี่เรือ, แล้วทรงพระประสาทเลื่อมใสศรัทธาอุทิศถวายเรือขมวดยาปิดทองคำทึบหลังคาสีสักหลาดเหลืองลำหนึ่ง คนพาย 10 คน, พระราชทานเงินตราคนละ 2 ตำลึง และพาเข้าให้บวชเป็นปะขาว.”
อีกส่วนเนื้อหาในพระราชพงศาวดาร ได้ระบุถึงเหตุการณ์ คราว กรมพระเทพามาตย์ พระราชนนีของพระองค์ สวรรคต เกี่ยวกับ วัดอินทารามวรวิหาร ว่า
“ณ วันจันทร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย เชิญพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวงลงเรือแห่แต่ฉนวนน้ำเข้าไปพระเมรุวัดบางยี่เรือใน นิมนต์พระสงฆ์ สบสังวาสหมื่นหนึ่ง ถวายพระมหาทานเป็นอันมาก. สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงศีล บำเพ็ญพระธรรมแรมอยู่พระตำหนักวัดบางยี่เรือนอก 5 เวน, แล้วให้ทำกุฏิถึง 120 กุฏิ แล้วให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปและพระเจดีย์ วิหาร. คูริมพระอุโบสถนั้นให้ขุดลงแล้วปลูกบัวหลวง, ชำระแผ้วถางให้กว้างออกไปกว่าแต่ก่อน แล้วอาราธนาพระสงฆ์ฝ่ายคณะวิปัสสนามาอยู่ ณ กุฏิซึ่งทำถวาย.”
จึงเห็นได้ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระราชศรัทธาต่อ วัดอินทารามวรวิหาร มากน้อยขนาดไหน
วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่หลังแผ่นดินธนบุรีอีกครั้ง โดยพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ต้นตระกูลศรีเพ็ญ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 โดยมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น บูรณะของเดิม และสร้างถาวรวัตถุมากมาย รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามใหม่ว่า "วัดอินทาราม" สืบมาจนปัจจุบัน
ภายในวัดหลังการปฏิสังขรณ์ครั้งหลัง มีการปรับปรุงมากมาย พระอุโบสถหลังใหม่ เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธชินวร" พระประธานของวัด ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ซึ่งพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเมื่อครั้นบูรณปฏิสังขรณ์วัดใหม่
พระอุโบสถหลังเดิม สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบธนบุรี แต่เดิมไม่มีหน้าต่างภายใน
พระพุทธรูปฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถหลังเดิม ปางตรัสรู้ ภายในองค์พระประดิษฐานพระบรมราชสรีรังคารของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระอัครมเหสีของพระองค์ มีจุดสังเกตคือ เจดีย์ที่มียอดเป็นลักษณะบัวกลุ่มเถา 7 ชั้น เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ส่วนเจดีย์องค์ถัดไปที่มียอดลักษณะเป็นปล้องไฉน 13 ปล้อง เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จกรมหลวงบาทบริจา (พระนางสอน) ผู้เป็นพระอัครมเหสีของพระองค์
สำหรับการสักการะบูชา หลายคน ในความเคารพศรัทธา ในองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และมักมาขอพร ในด้านความสำเร็จ ความเจริญในหน้าที่การงาน ใครอยากเป็นทหาร ก็มาขอพร โดยจะมีพระบรมรูป สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงม้าศึก ชูพระแสงดาบ ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ชัยชนะ