พระเครื่อง

ประวัติ วัดชนะสงคราม อารามประกาศชัย ที่มีความเชื่อ ขอพร ความสำเร็จ

ประวัติ วัดชนะสงคราม อารามประกาศชัย ที่มีความเชื่อ ขอพร ความสำเร็จ

11 ธ.ค. 2565

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และ ความเชื่อ ความศรัทธา ไหว้พระขอพร ที่ วัดชนะสงคราม อารามหลวงรามัญ ประกาศชัยแห่งสงคราม

แผ่นดินรัตนโกสินทร์ ในยุคต้นแรกเริ่มนั้น ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยังมีศึกสงคราม ในการรักษาและดำรงอยู่ของอาณาจักร หนึ่งในศึกครั้งสำคัญ นั่นคือ สงคราม 9 ทัพ ที่ยกมา 5 เส้นทาง ตลอดแนวเทือกเขาตะนาวศรี ตามเป้าหมายความหวัง ของ โบดอพญา หรือที่เราคุ้นเคยในนาม พระเจ้าปดุง ที่ต้องกรจะเดินรอยตามพระเจ้าบุเรงนอง และ พระเชษฐา มังระ แต่ความฝันนั้น ก็สลายลงจากการต้านศึกของจอมทัพคู่พระทัยของ รัชกาลที่ 1 นั่นก็คือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท และการชนะศึกต่อเนื่องนับตั้งแต่สมรภูมิท่าดินแดง จนถึงยุทธการนครลำปาง ป่าซาง 


กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท จึงทรงสถาปนาวัดที่ใกล้ พระบวรราชวัง ขึ้นเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

วัดชนะสงคราม
สำหรับ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เดิมเรียกว่าวัดกลางนา ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุด วัดที่ตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่

ตลอดจนเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมาะสม โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดกลางนาเป็นวัดตองปุ และให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เช่นเดียวกับวัดตองปุที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อเทิดเกียรติทหารชาวรามัญในกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่าในสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 สงครามที่ท่าดินแดงและสามสบ เมื่อ พ.ศ. 2329 และสงครามที่นครลำปางป่าซาง เมื่อ พ.ศ. 2330

วัดชนะสงคราม
วัดชนะสงคราม ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงเริ่มดำเนินการก่อสร้างที่บรรจุพระอัฐิเจ้านายฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่เฉลียงพระอุโบสถด้านหลังตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระราชอุทิศพระราชทรัพย์ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ดำเนินการ

แต่การก่อสร้างมาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ราชบัณฑิตยสภาก่อสร้าง ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นนายกราชบัณฑิตยสภาและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงก่อสร้างจนเสร็จสิ้น ได้มีพิธีอัญเชิญพระอัฐิจากพระราชวังบวรสถานมงคลไปประดิษฐานใน พ.ศ. 2470
 

ย้อนกลับมาที่ความสำคัญ ของอารามฝ่ายรามัญ หรือ วัดของพระสงฆ์มอญ นั้น โบราณประเพณีเก่าแก่ของไทยประการหนึ่ง ที่มีความสำคัญ และมีความหมายยิ่ง ต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง หากแต่ไม่ค่อยได้มีผู้ใดรู้จักเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นพิธีที่ปฏิบัติกัน เฉพาะในหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง และเป็นพิธีที่จัดทำขึ้นเฉพาะส่วนพระองค์เท่านั้น พิธีนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อพระราชกิจวัตรประจำวัน เนื่องจากเป็นพิธีที่สวดเพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์ทูลเกล้าฯ ถวาย ส่วนหนึ่งสำหรับจัดเป็นน้ำสรงพระพักตร์ และน้ำโสรจสรง อีกส่วนหนึ่ง เพื่อประพรมพระที่นั่งองค์สำคัญ ในเขตพระราชฐานชั้นใน นอกจากนี้ พิธีดังกล่าว ยังมีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ จะนิมนต์เฉพาะพระสงฆ์มอญเข้ามาสวดบทสวดพระปริตรมอญเท่านั้น

วัดชนะสงคราม
แต่เดิมนั้น การนิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายรามัญทำพิธีนี้ จะนิมนต์พระสงฆ์มอญวัดต่าง ๆ ในการเจริญพระพุทธมนต์ จนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ทำให้เหลือเพียงพระสงฆ์ วัดชนะสงคราม เท่านั้นที่รับหน้าที่ในการเจริญพระพุทธมนต์ในหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง เนื่องจากในเวลานั้น พระสงฆ์ย้ายไปจำพรรษาต่างจังหวัดให้พ้นเหตุสงคราม จนไม่มีพระสงฆืที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ 
เชื่อกันว่า การมาสักการะที่วัดแห่งนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลขอพรเพื่อชัยชนะทุกสิ่ง และสำเร็จดังหวังทุกประการ เพราะมีความเชื่อว่าจะได้รับชัยชนะเหนืออุปสรรคทั้งปวงเหมือนกับชื่อของวัดชนะสงครามนั่นเอง

พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์

ในพระอุโบสถ มีพระประธาน นามว่า พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแล้วบุด้วยดีบุกลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 3.50 เมตร ประดิษฐานบนฐานสูง 1.30 เมตรมีพระอัครสาวกซ้ายขวานั่งประนมมือ 2 องค์ เป็นพระปูนปั้นเช่นกัน

พระบรมรูป กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท
ส่วนด้านหน้าพระอุโบสถ มีพระบรมรูป กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท ที่ผู้มีความศรัทธาจะมากราบสักการะ เพื่อขอพรในด้านความสำเร็จ และชัยชนะ